ชินภานุ อธิชาธนบดี, ภิรดา และภารดี เสนีย์วงษ์ ณ อยุธยา ตัดสินใจย้ายสำนักงานของ Trimode Studio ออกจากบ้านพักอาศัยในซอยลึกมาอยู่บนตึกริมถนนเจริญกรุง ช่วงบรรจบระหว่างถนนตก และถนนพระรามที่ 3 ซึ่งไม่ไกลนักจากละแวกของบ้านและย่านที่พวกเขารู้สึกผูกพันด้วยหลายปัจจัย
ความต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้สามารถรองรับจำนวนพนักงานกว่า 20 ชีวิต ได้อย่างคล่องตัว คือปัจจัยแรกที่กระตุ้นให้ 3 ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอที่อยู่เบื้องหลังและเป็นแรงขับเคลื่อนแวดวงสร้างสรรค์ของไทยมานานกว่า 15 ปี เลือกผละจากพื้นที่แนวราบมาสู่การเค้นศักยภาพพื้นที่แนวตั้งในตึกคลังยาเก่าความสูง 5 ชั้นแห่งนี้
ในขณะเดียวกันก็พ่วงมาด้วยปัจจัยความต้องการที่จะเผยแพร่แนวคิด มุมมอง และตัวตนอันเป็นแก่นแท้ของพวกเขา ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้เห็นมาก่อน ผ่านการแทรกฟังก์ชันอันหลายหลากที่สามารถ ‘ใช้ประโยชน์ร่วมกัน” มากกว่าหนึ่งทางเลือกรวมอยู่ในตึกหนึ่งตึก ควบไปถึงการทดลองใช้งานวัสดุในมุมมองใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อตัวผู้พบเห็นหรือสนใจ
ปัจจัยสุดท้าย (ที่อาจไม่ท้ายที่สุด) ก็คือพวกเขาอยากเชื่อมประวัติศาสตร์ของย่านกับความคิดสร้างสรรค์เข้าหากันตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อย่างที่ นิ-ชินภานุ ให้เหตุผลว่า “จุดเริ่มต้นของการขนส่งสินค้าเข้าพระนครมาจากถนนตก ในแง่ประวัติศาสตร์มันมีเรื่องราว ในแง่การสร้างสรรค์มันก็ควรเติมสิ่งใหม่เพื่อทำให้ย่านมีความน่าสนใจ”
เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการบรรจุรีเทล, คาเฟ่ และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการรวมอยู่ในสำนักงานใหม่ของ Trimode ที่ซึ่งพวกเขานิยามว่าเป็น ‘Creative Flow Spaces’ ที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งจับต้องได้ทั้งสิ้น หรือบางทีที่นี่อาจเป็นอะไรได้มากกว่านั้นอีกในอนาคต
กระบวนการค้นหาคุณค่าจากสรรพสิ่งธรรมดาสามัญ
Tangible คาเฟ่และรีเทลภายในชั้น 1 และ 2 ของตึกเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองบนสนามจริงของ Trimode Studio เพราะนอกจากการได้เรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการออกแบบของพวกเขาแล้ว ก็เป็นพวกเขาเองที่เป็นฝ่ายออกแบบพื้นที่เพื่อกำหนดพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าด้วยเช่นกัน
แม้กระทั่งการพลิกแพลงการใช้งานวัสดุในมุมมองใหม่ เช่น อะลูมิเนียมโปรไฟล์ ที่เรามักใช้กับประตูหรือหน้าต่าง ก็ถูกนำมาทดลองใช้กับการตกแต่งเคาน์เตอร์และผนังอาคาร เพื่อให้ความมันวาวของวัสดุช่วยสร้าง Energetic หรือความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่าให้กับผู้ใช้งานอย่างที่ตั้งใจ
ชินภานุ: “เรามองการออกแบบเป็นกระบวนการค้นหาคุณค่าจากสรรพสิ่งธรรมดาหรือสามัญ ทั้งวัสดุหรือสินค้าอะไรก็ตาม เราแค่มองมันมุมใหม่ว่าเป็นอะไรได้มากการที่มันถูกกำหนดมาให้เป็นบ้าง เราใช้กระบวนการคิดนี้กับอะลูมิเนียมโปรไฟล์ที่ใช้ทำกรอบประตูหน้าต่างมาใช้กรุผนัง ชั้นวาง หรือเป็นอะไรได้อีกมากมายที่เราต้องพยายามพัฒนาต่อไป แม้กระทั่งอะลูมิเนียมคอมโพสิตที่ใช้ในการ cladding ผนังอาคาร เราก็ลดกระบวนการ finished ผิว 100% ที่มันจะถูก powder coating ให้เหลือแค่กระบวนการชุบผิว ก็เป็นการลดกระบวนการก่อสารเคมี หรือสร้างมลพิษได้อีกเยอะ แค่ลดทอนกระบวนการก็ได้วัสดุในมุมมองใหม่กลับมา”
เชื่อมดีไซน์เข้าหาย่านและผู้คนผ่านกลไกที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์”
ชินภานุ: “ตอนเราอยู่ข้างใน (ออฟฟิศเดิม) คนที่จะได้เห็นสภาพแวดล้อมของเราก็จะมีแค่ลูกค้าของเราเท่านั้น เมื่อจำเป็นที่จะต้องย้ายพื้นที่ออกมา เราจึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ดีไซน์ที่เคยถูกมองเห็นอย่างจำกัด ถูกมองอย่างแพร่หลายและเข้าถึงง่ายขึ้น เรามองว่าไลฟ์สไตล์นี่แหละเป็นคำตอบ เรามีความถนัดในการทำรีเทล เราจึงใช้ดีไซน์เป็นตัวตั้ง แล้วใช้สินค้า แฟชั่น รีเทล เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์เป็นตัวเชื่อมเข้าหาผู้คนในละแวกพื้นที่หรือคนที่สนใจ”
ภิรดา: “ความที่เราเป็นสตูดิโอออกแบบ คอนเซ็ปต์ในการคิดเมนูอาหารและเครื่องดื่มมันจึงมาจากสิ่งที่เราสัมผัสอยู่ทุกวัน แปลงสิ่งธรรมดาให้เป็นพิเศษ เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง หรือวัสดุตกแต่ง หรือการเลือกสินค้าเข้ามาขายก็จะอยู่ภายใต้คีย์เวิร์ดว่า Functional และ Durable คือตอบโจทย์การใช้งาน เรียบง่าย แต่คงทน”
ออกแบบสำนักงานให้ทุกคนสามารถนั่งทำงานได้ทุกที่
หลังบ้านของ Trimode จะเริ่มจากชั้น 3 ขึ้นไปจนถึงชั้น 5 ของตึก นิ-ชินภานุ อธิบายว่าโปรแกรมการใช้งานทั้งหมดถูกคิดผ่านการสังเกตพฤติกรรมของน้องในทีมตอนอยู่ที่ออฟฟิศเก่า ทุกคนไม่ชอบนั่งทำงานในที่ประจำของตัวเอง บางคนชอบนั่งทำงานให้ห้องนั่งเล่น บางคนย้ายไปนั่งทำงานในสวน บางคนทำงานในห้องประชุม
ชินภานุ: “จุดนั้นจึงทำให้เราออกแบบพื้นที่ให้ทุกคนสามารถนั่งทำงานได้ทุกที่ นั่งทำงานตรงไหนก็ได้ แต่ยังคงมีพื้นที่ส่วนตัวอยู่ เมื่อเรานั่งดูโปรแกรมการใช้อาคารแล้วมองว่ามันตอบโจทย์ อีกเหตุผลหนึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอย ก็คือเรื่องสภาพแวดล้อมข้างเคียง เราชอบอาคารนี้เพราะมันอยู่ริมถนน แล้วติดกับสวนเล็ก ๆ เราจึงตกลงปลงใจมาที่นี่”
การรีโนเวตอาคารพาณิชย์เก่าให้มีฟังก์ชันหลากหลาย เป็นทางแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่กลางเมืองได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ?
ชินภานุ: “การสร้างพื้นที่ให้ตอบโจทย์นั้นทำได้หลายอย่าง เราเองมีความต้องการเพิ่มจำนวนคน และพื้นที่ใช้สอยในการทำงานออกแบบ จึงจำต้องหาพื้นที่จากแนวราบ เปลี่ยนกระบวนการมาเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในแนวดิ่ง การที่เราจะเข้าไปในสเปซที่เป็นอาคารเก่า เราต้องทำความเข้าใจกับสเปซหรือโครงสร้างเดิมให้ได้ก่อน แล้วค่อยบูรณาการจัดสรรพื้นที่ขึ้นมาใหม่ภายใต้ขอบเขต หรือข้อจำกัดของพื้นที่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนาเมือง (อย่างยั่งยืน) นั้นต้องอาศัยทั้งแกนราบและแกนดิ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจด้วย ซึ่งบางอย่างในการที่เราจะเข้าไปใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เราต้องจัดการกับสภาพตัวอาคารใหม่เพื่อสร้างสมดุลให้กับธุรกิจของเรา มันอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์ก็ได้”
ภารดี: “สิ่งสำคัญคือต้องรู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่าจะใช้พื้นที่ทำอะไร ถ้าวิธีการมันสามารถเป็นไปได้ สามารถนำสิ่งใหม่กับสิ่งเก่ามาทำให้เกิดประโยชน์ การพัฒนาของเมืองมันจะเกิดการหมุนเวียน สืบต่อความเก่าไปใหม่อย่างต่อเนื่อง การที่เราเลือกย่านถนนตก เพราะย่านนี้มันยังมีบริบทหรือวิถีของชุมชนเดิม ไม่ทำให้เรารู้สึกเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ทั้งหมด โดยไม่เหลือความรู้สึกเดิมไว้เลย การรักษาสิ่งเก่าคู่ไปกับสิ่งใหม่ทำให้จิตวิญญาณเดิมมันยังคงอยู่”
ชินภานุ: “ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเป้าหมายของธุรกิจนั้น ๆ ในการตั้งต้นหรือออกแบบพื้นที่ให้สอดรับกับความต้องการ สำหรับเรา จากโจทย์ที่เราวางไว้ให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อถึงเวลาจัดอีเว้นต์ โควิดมันก็เหมือนอีเว้นต์หนึ่งที่เกิดขึ้นมา ซึ่งเราออกแบบพื้นที่ไว้เป็นแบบนี้พอดี มันก็เลยเอื้อให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ในฐานะคนทำงานดีไซน์เซอร์วิส การได้ทำร้านของตัวเองขึ้นมาก็เหมือนทำให้เราได้เข้าใจกระบวนการออกแบบมากขึ้นด้วย เราสามารถทดลอง หาผลได้เร็ว นำเสนอลูกค้าที่ว่าจ้างเราออกแบบ หรือให้คำปรึกษาพวกเขาได้คมชัดและตรงจุดขึ้นมากกว่าตอนที่เรายังไม่ได้ทำร้าน ในโลกอนาคต ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราก็ควรจะทำพื้นที่ให้ยืดหยุ่น คำว่า Flexible นี่แหละสำคัญที่สุด เพราะเราไม่รู้สถานการณ์ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลกของเราอีกต่อไป”
เจ้าของ-ออกแบบ | Trimode Studio
โทร. 08-1376-0402
https://www.facebook.com/trimodestudio, http://trimodestudio.com
ที่อยู่ | ถนนเจริญกรุง ซอย 82 บางคอแหลม กรุงเทพฯ 10120
โซนคาเฟ่และรีเทล Tangible
เปิดบริการวันพุธ-จันทร์ 9.00-18.00 น. (หยุดวันอังคาร)
https://www.facebook.com/Tangiblebkk
เรื่อง | นวภัทร
ภาพ | อภิรักษ์, ศุภกร