SACICT Craft Trend Talk โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ปีนี้พาทุกคนไปเปิดโลกหัตถกรรมร่วมสมัยแบบออนไลน์ ผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนักคิด นักสร้างสรรค์ และนักออกแบบ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับแวดวงหัตถกรรมไทยในแง่มุมที่แตกต่างกันไป โดยประเด็นการเสวนาทั้ง 3 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีนั้น เชื่อมโยงกับแนวโน้มงานหัตถกรรมประจำปี 2021 ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้รวบรวมเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมยุคใหม่ ที่ต้องการพัฒนางานหัตถกรรมให้ร่วมสมัยและตอบโจทย์ความเป็นไปของกระแสโลก
CRAFT CIRCULARITY
หัตถกรรมจากทรัพยากรหมุนเวียน
เมื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นระดับโลก ที่เราทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง การสร้างสรรค์งานหัตถกรรมร่วมสมัยให้ตอบโจทย์กระแสโลกจึงไม่อาจมองข้ามประเด็นนี้ คุณมาร์คัส โรเซลีบ (Markus Roselieb) ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ และผู้ก่อตั้ง บริษัท เชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (CLC) ชวนพูดคุยถึงงานสถาปัตยกรรมยั่งยืนจากวัสดุดินและไม้ไผ่ รวมถึงการสอดแทรกแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในงานหัตถกรรม พร้อมพาเราไปชมบรรยากาศโรงเรียนนานาชาติปัญญาเด่น อาคารเรียนจากสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด เพราะพวกเขาคืออนาคตของโลกเรา และคือทูตสิ่งแวดล้อมที่ทรงพลังที่สุด
CRAFT CITIZENS
หัตถกรรมไร้ขอบเขต
ในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีพาเราก้าวข้ามเส้นพรมแดนทางกายภาพ การผสมผสานภูมิปัญญาระหว่างวัฒนธรรมต่างถิ่นจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้อย่างไร พบกับนักออกแบบต่างรุ่นที่จะมาสะท้อนแนวคิดหัตถกรรมต่างมุมมอง
คุณสุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบ “รุ่นใหญ่สุดเก๋า” ผู้ก่อตั้งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัย YOTHAKA ที่บุกเบิกสร้างชื่อให้เฟอร์นิเจอร์ไทยในระดับสากลมาแล้ว ชี้ชวนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของนักออกแบบในการนำพาหัตถกรรมไทยให้เติบโตต่อไปในอนาคต
คุณธีรพจน์ ธีโรภาส นักออกแบบ “รุ่นใหม่ไฟแรง” ผู้อำนวยการแบรนด์ฆิตตาโขน (Kitt-ta-khon) และนักวิจัยของ Soa+D Social Cultural Innovation Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บอกเล่าประสบการณ์ทำงานร่วมกับ ผศ. นันทนา บุญลออ ลงพื้นที่ชุมชนหัตถกรรมชาวกะเหรี่ยง พร้อมตั้งคำถามว่าเราจะการสอดประสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นเข้ากับโลกที่กำลังหมุนไปข้างหน้าได้อย่างไรบ้าง
CRAFT CLOUD
องค์ความรู้เชิงหัตถกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้
เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบมหาศาล โลกแห่งการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มออนไลน์จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด จูเลี่ยน ฮวง (Julian Huang) อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้ง Weave Artisan Society พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชุมชนชาวคราฟต์ใจกลางเชียงใหม่ ชวนนึกถึงความเป็นไปได้ใหม่สำหรับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านหัตถกรรม และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการซื้อขายงานหัตถกรรมในยุคดิจิทัล
สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาแนวโน้มงานหัตถกรรมฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ SACICT Craft Trend Book 2021 ได้ที่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ โทร. 0-3536-7054-9 ต่อ 1385 หรืออ่านในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://www.sacict.or.th/th/detail/2020-09-09-11-30-23
#SACICTCraftTrend2021 #SACICTคุณค่าความเป็นไทย