wepark แพลทฟอร์มที่ชวนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสวนในเมือง - room
we!park

we!park แพลทฟอร์มที่ชวนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสวนในเมือง

we!park องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เชิญชวนทุกคนมามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวด้วยการหยิบพื้นที่ว่าง หรือยกพื้นที่รกร้างในเมืองกรุงมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเชื่อว่าพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า เมืองนั้นมีคุณภาพที่ดีหรือไม่?  แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก หรือ Pocket Garden ได้ในทุก ๆ 400 เมตร

โดยแพลตฟอร์มนี้เกิดจาก คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ตั้งข้อสงสัยว่า หากเรามีองค์ความรู้เรื่องการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม และความรู้สึกอยากช่วยเหลือหน่วยงานรัฐในการสร้างสวน หรือพื้นที่สาธารณะ จะต้องมีขั้นตอน และกระบวนการอย่างไร หรือหากองค์กรไหนมีเงินทุนที่สนใจจะสร้างสวนสาธารณะ เขาต้องเดินเข้าไปติดต่อหน่วยงานไหน  นำมาสู่การสร้างสรรค์แพลตฟอร์มเพื่อทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการเชื่อม “หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน” เข้าหากัน โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหลัก wepark

“เราทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการเชื่อม เช่น ใครมีที่ดินว่างเอามา เดี๋ยวเราเชื่อมกับหน่วยงานรัฐให้ หานักออกแบบมาให้ หรือใครมีเงินอยากบริจาคเพื่อทำสวน เราก็ดูว่าทางกทม.กำลังมีโครงการแบบนี้อยู่ไหม กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการช่วยดึงทรัพยากร โดยเราใช้วิธีการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานคือคุยกับชุมชน คุยกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อนำความรู้กลางมาสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมจริง ๆ”

we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket gardenwe!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden สวนเอกมัย

เริ่มต้นจากสวนขนาดเล็ก

“ตอนนี้เราเน้นขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สวนขนาดเล็ก หรือ Pocket Park เป็นหลัก เพราะที่ดินขนาดเล็กในเมืองยังมีอยู่เยอะ ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่ได้พัฒนาไปหมดแล้ว เมื่อพื้นที่ขนาดเล็กเหล่านี้ได้รับการพัฒนาเป็น Pocket Park ก็ช่วยให้คนเมืองสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ทุก ๆ 400 เมตร หรือเดิน 5-10 นาที ก็ถึง สเต็ปต่อไปคือการเชื่อมโครงข่ายของสวนเหล่านี้ผ่านทางจักรยาน แล้วเสต็ปต่อไปจะขยายผลไปในระดับย่าน และเมืองในลำดับถัดไป”

หลากมิติในหนึ่งโปรเจ็กต์

“ผมว่าในหนึ่งโครงการมีหลายมิติซ้อนกันอยู่ อันแรกก็คือการทำให้เกิดพื้นที่สวนอย่างเป็นรูปธรรม อันที่สองคือการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม คือการที่คุณอยากมาร่วมกิจกรรม ระดมความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งมาร่วมบริจาคเงิน อันที่สามคือการสร้างองค์ความรู้หลังจากทำกระบวนการทั้งหมดแล้ว ตกตะกอนเป็นชุดองค์ความรู้ว่า สวนสาธารณะที่ดีนั้นเป็นอย่างไร มีวิธีการทำอย่างไร และกระบวนการที่ดีควรทำอะไร ฯลฯ โดยออกมาในรูปแบบของคู่มือสำหรับเผยแพร่ สุดท้ายคือฐานข้อมูลที่รวบรวมว่าพื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ นั้นมีตรงไหน หรืออย่างไรบ้าง ในอนาคตเราหวังว่าจะเกิดการนำข้อมูลจากบุคคล เอกชน หรือภาคส่วนอื่น ๆ มารวมกัน เพื่อให้การแมชชิ่งโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ต่อไป สามารถทำได้ง่ายขึ้น”

we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden

 “โมเดล” ในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมทั้งประเทศอย่างยั่งยืน

“คงเป็นไปไม่ได้ที่ we!park จะไปทำงานทั่วประเทศ แต่ถ้าคุณมีโมเดลนี้ และในจังหวัดของคุณที่มีพื้นที่ว่างแบบนี้ ลองนำโมเดลนี้ไปลองใช้สิ เดี๋ยวเราชี้แหล่งทุนให้ คุณแมชชิ่งแล้วไปขอการสนับสนุนจากกองทุนนี้ หรือหน่วยงานเอกชนถ้าอยาก ใช้วิธีการแบบนี้ หรือใช้องค์ความรู้แบบนี้ไปประยุกต์ต่อในสเต็ปถัดไป เราอยากช่วยเซอร์วิสด้วยการไปช่วยเป็นโค้ช สร้างคอร์สอบรมให้กับบุคลากรคนรุ่นใหม่อย่าง เด็กมัธยม และเด็กมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจ ได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบการ และมีส่วนร่วม เพื่อจุดประกายความคิดหากพวกเขาอยากจะมาสานต่อในอนาคต”

 

มากกว่าการมีสวนคือทุกคนได้เจอกัน

“ผมรู้สึกว่าการที่ให้คนมาเจอกัน มาใช้สวนสาธารณะในการสร้างสังคม อันนี้เป็นเป้าที่เราอยากเห็นมาก เพราะว่ามันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเมืองที่ดีมีความน่าอยู่ เป็นคุณค่าร่วมที่ทุกคนอยากทำให้เกิด แล้วทำอย่างไรเราถึงจะใช้คุณค่านี้ชวนให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน สร้างความเป็นสังคมร่วมกัน อันนี้คือเป้าที่เราอยากเห็น เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นที่มาว่า ทำไมเราถึงต้องทำกระบวนการเยอะแยะขนาดนี้ เราเลยยอมใช้เวลากับทุก ๆ ขั้นตอน กับคนหลาย ๆ วง”

เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นโอกาส

“เนื่องจากปัญหาด้านนโยบายของหน่วยงานรัฐ ทำให้การนำที่ดินว่างเปล่าต่าง ๆ ในเมืองมาทำพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่องยาก รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จำกัด ได้กลายเป็นช่องโหว่ในเชิงนโยบาย แต่ช่องโหว่นี้กลับเป็นข้อดีทำให้เกิด we!park ชวนผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และสร้างสรรค์พื้นที่ที่ผู้คนในชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างในต่างประเทศถ้าคุณมีสวน เจ้าของที่ดินอาจจะได้รับการลดหย่อนภาษี หรือคุณเปิดพื้นที่หน้าอาคารเป็นพาร์ค คุณจะได้คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการพัฒนาเมืองตอนนี้ หรือยุคถัดไป ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่คิดแบบ Top down อย่างเดียว แต่ควรทำควบคู่กับการคิดแบบ Bottom up ด้วย”

we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden

บทบาทของภูมิสถาปนิกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น

“บางทีเวลาพูดถึงนักออกแบบ มักจะพูดถึงในมิติเชิงกายภาพ เหมือนเราไปสร้างพื้นที่สีเขียว ไปปลูกต้นไม้ ซึ่งเรามองว่าเราสามารถทำได้มากกว่านั้น อย่างอันนี้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงมิติทางสังคม คือการมีส่วนร่วม การปลุกภาวะ Active Citizen ขึ้นมา สร้างภาวะพลเมือง ไปคุยกับชุมชนทำให้คนในชุมชนอยากจะลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น และบอกว่าตัวเองอยากได้อะไรกับรัฐ หรือปลุกหน่วยงานเอกชนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์กับเมือง

“อันที่สองผมมองว่าคือการดึงองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวนักออกแบบ หรือในวิชาชีพ ที่คนภายนอกเขาไม่รู้ตกลงว่าเราทำอะไร เราใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ พร้อมกับแทรกความรู้เรื่องประโยชน์ของพื้นที่สีเขียว ผมว่าอันนี้เป็นมิติที่มากกว่ากายภาพ

“และสุดท้ายคือการสร้างความยั่งยืนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม และการใช้องค์ความรู้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้สวนที่ออกแบบมา สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานของคนในชุมชนอย่างแท้จริง พอพื้นที่ตอบโจทย์ ผู้คนก็จะช่วยกันดูแลรักษา เพราะเขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ แล้วสิ่งสำคัญมากกว่าเรื่องกายภาพคือ การกลายมาเป็นเครื่องมือให้ชุมชนได้ใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคมของเขาต่อไป เช่น เขาจะใช้ส่วนนี้ไว้ทำอะไร จัดงานวันเด็กไหม จัดกิจกรรมในชุมชนไหม ให้คนมาเจอกันไหม เป็นพื้นที่ที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ได้จริง ๆ”

we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden we!park shma พื้นที่รกร้าง pocket garden

สุดท้ายแล้ว “สวน” ที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากนโยบาย หรือเป้าหมายของรัฐที่เข้มแข็ง และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อน เพราะ “สวน” ไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

หวังว่าในเร็ววันนี้ เราคงได้พบกับกลุ่มคนที่ทำงานแบบ we!park เกิดขึ้นเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนวงการ ได้เห็นหน่วยงานรัฐเลือกที่จะลงทุนกับพื้นที่สีเขียว  และวันนั้นประชาชนทุกคนจะได้เป็นเจ้าของ “สวน” อย่างภาคภูมิ


เรื่อง: BRL
ภาพ: we!park

กระตุ้นเศรษฐกิจ (ความคิด) เมือง และผู้คน ด้วยทางเดินสีเขียวจากพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ในกทม.

กระตุ้นเศรษฐกิจ(ความคิด) เมือง และผู้คน ด้วยทางเดินสีเขียวจากพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ในกทม.

10 พื้นที่ใต้ทางด่วนแปลงโฉมให้เป็น พื้นที่สาธารณะ

เกร็ดจากเวทีเสวนาในงาน TSX กับประเด็น ออกแบบอย่างไรให้ยั่งยืน ยั่งยืนอย่างไรให้เป็นจริง