Athita The Hidden Court Chiang Saen โรงแรมดีไซน์ร่วมสมัยผสานกลิ่นอายล้านนาในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นจากแนวคิดที่เน้นความกลมกลืนไปกับชุมชน และวัดวาอารามเก่าแก่ที่ตั้งอยู่โดยรอบ คล้ายกับกำลังซ่อนตัวอยู่ในย่านเมืองเก่าอย่างเงียบเชียบ เพื่อรอให้คุณเดินทางมาพักผ่อนและเยี่ยมเยือน
ด้านหลังแนวกำแพงอิฐมอญที่ดูคล้ายกำแพงเมืองโบราณนี้ ซ่อนไว้ด้วยตัวอาคารไม้สักสูงขนาดสองชั้นที่ดูไม่ต่างจากบ้านไม้ในชนบท และคอร์ตสนามหญ้าผืนใหญ่สำหรับเป็นลานกิจกรรม เปิดมุมมองให้เห็นยอดเจดีย์และพระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 500 ปี ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดอาทิต้นแก้ว ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่บอกเล่าความเป็นเมืองเก่าของเชียงแสน ก่อนถูกนำมาตีความหมายใหม่ผ่านสายตาของคุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ แห่ง Studiomiti จน Athita The Hidden Court Chiang Saen ออกมาเป็นโรงแรมสไตล์โมเดิร์นล้านนา เจือกลิ่นอายท้องถิ่นเมืองเหนือ น่าเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน
“ภาพของเมืองเชียงแสนที่ได้สัมผัสในตอนแรก ที่นี่มีความคล้ายคลึงกับเชียงใหม่ คือมีกำแพงเมืองเก่า วัดส่วนใหญ่ก็อยู่ติด ๆ กันคล้ายกับเชียงใหม่ เลยคิดว่าที่นี่เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ สภาพบ้านเรือนก็เป็นบ้านไม้ธรรมดาสองชั้นยกใต้ถุนสูง
“เลยคิดว่าน่าจะทำสถาปัตยกรรมให้ซ่อนหรือหายไปกับเมือง ผสมผสานและมีน้ำหนักของความแตกต่างที่ไม่มากเกินไป ในความแตกต่างเราคุมไม่ให้กระโดดไปไกลเสียจนจับต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นน้ำหนักของการใช้แมททีเรียลก็เลยให้ความรู้สึกทั้งกลมกลืนและมีเอกลักษณ์ในเวลาเดียวกัน” คุณเติ้ลเล่าที่มาของแนวคิดการนำความเป็นพื้นถิ่นที่ได้พบเห็นมาคลี่คลายสู่งานออกแบบ
ด้วยพื้นที่ตั้งของโรงแรมซึ่งอยู่ในทำเลที่หันเข้าหาด้านหน้าของวัดอาทิต้นแก้ว วัดโบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ มังราย จากบริบทและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ประกอบกับข้อสันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนพื้นที่ตั้งของโรงแรมนี้เคยเป็น ข่วง (คำในภาษาล้านนา) หมายถึง ลานกิจกรรม หรือ Court ในภาษาอังกฤษ นั่นจึงกลายเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบที่ใช้คอร์ต หรือพื้นที่ว่าง มาช่วยในการจัดการพื้นที่ และเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ตัวอาคารของโรงแรมถูกออกแบบเป็นรูปตัวแอล (L) เพื่อส่งเสริมพื้นที่ตรงกลางให้เป็นคอร์ต แล้วทำกำแพงอิฐมอญที่สั่งมาจากเชียงใหม่ ก่อขึ้นรูปเป็นแพตเทิร์นให้มองทะลุได้ รู้สึกไม่หนาหนักเกินไป โดยล้อมทุกมุมเอาไว้เพื่อให้ความเป็นคอร์ตชัดเจนขึ้น พร้อม ๆ กับสร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัวให้แก่แขกผู้เข้าพัก
“เราไม่ได้ปล่อยเป็นที่ว่างโล่ง ๆ เหมือนว่าหลังกำแพงนี้ คุณจะมาเจอกับส่วนพักผ่อนต่าง ๆ ย้อนไปที่คำว่า คอร์ต เราอิงมาจากพื้นที่ตั้ง ซึ่งเดิมตรงนี้เคยเป็นข่วงวัดมาก่อน ผมพยายามดีไซน์ให้โรงแรมมีคอร์ตเล็ก ๆ หรือ Pocket Garden ซ่อนอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ที่ว่างตรงทางเดินก็จะมีคอร์ตเล็ก ๆ ในห้องนอนก็จะมีคอร์ตที่เป็นน้ำและสวน หรือแม้กระทั่งการใช้คอร์ตเพื่อนำไปสู่สระว่ายน้ำ เราจึงเรียกมันว่า Hidden Court คือคอร์ตที่ถูกซ่อนอยู่ เหมือนอย่างที่เรามาเจอข่วงที่ซ่อนอยู่ ในตอนที่เราลงสำรวจพื้นที่ก่อนก่อสร้าง เลยนำมาพัฒนาจนได้คีย์เวิร์ดเป็น Hidden Court”
สิ่งที่โดดเด่นเห็นจะเป็นคอร์ตขนาดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างอาคารกับพื้นที่วัดอาทิต้นแก้วด้านนอก มองเห็นได้จากส่วนของคาเฟ่ โดยคอร์ตนี้ใช้เป็นพื้นที่กิจกรรม แต่งงาน จัดงานเลี้ยง หรือไหว้พระ ขณะที่ห้องพักเน้นจำนวนน้อย ๆ แต่เป็นความน้อยที่ได้คุณภาพ พร้อมกับพื้นที่ล็อบบี้ คาเฟ่ และร้านอาหาร ถูกกำหนดให้อยู่ที่ชั้นหนึ่ง สำหรับรองรับทั้งผู้แขกผู้เข้าพัก และนักท่องเที่ยวท่านอื่น ๆ ให้สามารถมานั่งเล่นได้ เปรียบเป็นเหมือน Destination ที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาดื่มกาแฟและรับประทานอาหารชิล ๆ ก่อนเดินไปไหว้พระ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของเจ้าของที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้วัดอาทิต้นแก้วกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
ห้องพักของที่นี่มีเพียง 9 ห้อง แบ่งเป็นห้องพักชั้นล่างจำนวน 4 ห้อง 2 รูปแบบ คือ Lotus Garden Suite จำนวน 2 ห้อง เปิดออกสู่คอร์ตสระน้ำ เละ Deluxe Private Garden จำนวน 2 ห้อง เปิดออกสู่คอร์ตสวนขนาดเล็กด้านหลัง ส่วนห้องพัก Superior Pagoda View ที่ชั้นสอง มีจำนวน 5 ห้อง เป็นห้องแบบไม่มีระเบียง แต่ให้บรรยากาศเหมือนนอนอยู่ในบ้านไม้แท้ ๆ
“คนมาที่นี่เขาควรได้ใช้เวลา หมายความว่ามาตั้งไกลไม่ควรจะรีบเร่ง ด้วยความที่เรามีวัตถุดิบ ผมเลยอยากใช้ไม้ โดยส่งเสริมให้ตัวอาคารชั้นสองเป็นไม้ ที่เป็นไม้เพราะผมอยากให้แขกเดินช้า ๆ ให้เขาระวังการเดิน ให้เขาใช้เวลาให้ช้าลง ให้เขานั่งนานขึ้น นอนนานขึ้น ใช้ไม้ก็ให้เดินระวัง จริง ๆ แล้วมันก็สัมพันธ์กับประเพณีที่เราต้องสำรวมเวลาอยู่หน้าวัด
“เทคนิคการปูพื้นไม้ก็เป็นแบบบ้านไม้ตามต่างจังหวัดทั่วไป เพื่อให้แขกสัมผัสกับกลิ่นอายที่คุ้นเคย หรือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับคนที่ไม่เคยมีบ้านไม้มาก่อนได้มาสัมผัส พอใช้ไม้ก็มีประโยชน์ด้านความเย็น อย่างพื้นเพของผมเป็นคนเหนือ บ้านปู่ผมอยู่ที่แพร่ จำได้ว่าเวลาไปบ้านปู่ขึ้นชั้นสองหน้าหนาวจะเย็น ผมจึงอยากให้เขาได้รับรู้ถึงฟีลนี้”
นอกจากการเลือกใช้ไม้สักวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น และอิฐมอญเพื่อเชื่อมโยงกับโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียง คุณเติ้ลยังใช้เทคนิคแบบฝาไหลที่มีลักษณะเป็นบานเลื่อน เพื่อนำแสงเข้าสู่พื้นที่ภายในห้องพัก อีกทั้งด้านบนยังออกแบบหลังคาสกายไลท์ซึ่งเป็นเทคนิคแบบโมเดิร์นเข้ามาเสริม เพื่อดึงแสงธรรมชาติให้ส่งผ่านลงมายังพื้นที่ด้านล่าง อีกทั้งอิฐมอญยังช่วยให้อาคารเย็นสบายไม่ร้อน โดยเป็นงานที่ Studio Miti ชำนาญ
“จริง ๆ เรามีเทคนิคการก่ออิฐมาหลาย ๆ โปรเจ็กต์แล้ว จึงมีความกล้าในระดับหนึ่ง เลยทดลองกับผู้รับเหมาและช่างด้วย เราอยากทำอิฐให้เป็นช่องมองทะลุได้โดยมีความบางไม่หนัก โดยเฉพาะในส่วนของกำแพงด้านนอก จนถึงอิฐที่อยู่ในส่วนห้องพักชั้นล่าง และก็มีวิธีเล่นกับเทคนิคอะไรแบบนี้ครับ”
“นักท่องเที่ยวที่มาเชียงแสน เพราะเขาอยากเห็นความเป็นเชียงแสน ถ้าเราไปทำของที่มันโมเดิร์นมาก ๆ หรือว่าที่ไม่ใช่เชียงแสนเลย ก็จะผิดวัตถุประสงค์ที่เขาอุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกล ก็เลยคิดว่าเราน่าจะส่งเสริมไปในทิศทางนี้ ให้โรงแรมมีกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น แต่เราก็ให้อยู่สบาย มีกลิ่นของความเป็นเมืองผสมผสานอยู่ด้วย”
นับเป็นที่พักสไตล์โมเดิร์นล้านนาเปิดใหม่ที่อยากชวนไปสัมผัส ซึ่งเจือไปด้วยกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น โดยใช้วัสดุและงานตกแต่งเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความงดงามของเมืองเชียงแสน เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ดั้นด้นมาจากที่ไกล ๆได้สัมผัสประสบการณ์การพักผ่อน ไปพร้อม ๆ กับได้ใช้เวลาค่อย ๆ ชื่นชมกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยศิลปะแบบล้านนาในเมืองริมโขงอันเงียบสงบแห่งนี้
ที่ตั้ง
984 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (บ้านเวียงเหนือ ซอยร่องหนองกลางเวียง)
โทร.06-3426-9464
เจ้าของ : คุณนันทกาญจ์ ลิ้มเจริญ และคุณอภิรักษ์ บวบทอง
ออกแบบสถาปัตยกรรม : คุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์ และคุณศานติ อร่ามวิบูลย์ Studio Miti Co.,Ltd.
ตกแต่งภายใน : คุณชไมพร ละม้ายพันธุ์ และคุณอัชพร ชำนาญจักร์ Studio Miti Co.,Ltd.
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : คุณโชคชนะ ไชยฮ้อย
ผู้รับเหมา : คุณเผ่าพันธ์ ชำนาญศรี บริษัท อริย คอนสตรั๊กชั่น ซัพพลาย จำกัด
เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : aroundme 360 , เผดิมเกียรติ สุขกันต์
อ่านต่อหุ่น | ไร่ | กา ท้องนาบ้านย่า รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งแห่งใหม่ที่พิษณุโลก