บ้านเหล็ก ยื่นล้ำเหนือผืนน้ำสามสิบเมตร โดยไม่มีเสาเข็มเป็นโครงสร้างค้ำแม้สักต้น
บ้านเหล็ก

บ้านกลางบึงของวิศวกรที่ห้องนอนยื่นล้ำเหนือผืนน้ำกว่า 30 เมตร

บนที่ดินผืนใหญ่กว่า 10 ไร่ พร้อมบึงน้ำธรรมชาติ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านแจ้งวัฒนะ คือที่ตั้งของบ้านสองชั้นที่โดดเด่นด้วยลักษณะอาคารที่ยื่นลอยออกไปเหนือผิวน้ำแบบไร้โครงสร้างค้ำยัน  บ้านเหล็ก หลังนี้ได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อให้เป็นบ้านพักสำหรับผู้อยู่อาศัยวัยเกษียณ  ภายใต้แนวคิดเพื่อการพักผ่อนและได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

“เจ้าของบ้านมีบ้านเก่าอยู่แล้ว อยู่ในที่ดินเดียวกันนี้” ผศ.พิรัส พัชรเศวต  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกจากสำนักงาน East Architects ร่วมกับ ผศ.สยาณี วิโรจน์รัตน์ ผู้ออกแบบ บ้านเหล็ก หลังนี้ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป

“ที่ดินมีขนาดประมาณ 10 ไร่ แล้วก็มีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เข้าใจว่าเมื่อก่อนคงขุดเพื่อนำดินไปไปทำประโยชน์อย่างอื่น เพราะฉะนั้นในที่ดินนี้รอบ ๆ จึงมีบ้านหลังเล็ก ๆ รายล้อมร่วมอยู่ด้วย” 

“สำหรับที่ดินซึ่งมีข้อได้เปรียบอย่าง บึงน้ำนี้ เจ้าของบ้านได้ขีดเส้นให้ผมว่า ขอพื้นที่ริมน้ำตรงนี้ทำเป็นบ้าน”

บ้านเหล็ก East Architects 

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือบ้านขนาด 1,000 ตารางเมตร ซึ่งมีพื้นใช้สอยจริง ๆ เพียงแค่ 2 ชั้น พร้อมกับ 1 ชั้นลอย โดยออกแบบให้ชั้น 1 มีลักษณะวางตัวขนานไปตามแนวยาวของบึงน้ำ มีชั้น 2 เกาะเกี่ยวเหนือชั้น 1 อยู่ที่ฟากหนึ่ง แล้วยื่นโครงสร้างล้ำออกไปเหนือผืนน้ำ เมื่อประกอบกันแล้วจะได้เป็นบ้านรูปตัวแอล (L) แทรกตัวไปบนผืนน้ำดูโดดเด่น 

บ้านเหล็ก East Architects 

ชั้น 1 ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น พร้อมครัวแพนทรี่ เป็นโถงยาวในทิศที่หันหน้าเข้าสู่บึงน้ำ และสูงจากระดับผิวน้ำราว 2 เมตร มีห้องนอน และห้องทำงานอยู่ที่ปลายสุดของโถงแต่ละด้าน ประกอบกับมีสระว่ายน้ำยาวขนานกับตัวบ้านอยู่ทางด้านหลังบ้านที่ติดกับแนวรั้ว

ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องนอนเล็ก 1 ห้อง และห้องที่สำคัญที่สุดคือ ห้องนอนหลักของเจ้าของบ้าน กินพื้นที่ทั้งหมดของโครงสร้างชั้น 2 ที่ล้ำออกไปเหนือผืนน้ำ เพื่อสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ส่วนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างแท้จริง

บ้านเหล็ก East Architects บ้านเหล็ก

เป็นเรื่องจริงที่บรรยากาศและธรรมชาติโดยรอบของสถานที่ตั้งเป็นทุนเดิมที่ดี  ฉะนั้นสิ่งที่ท้าทายที่สุดจึงอยู่ที่การออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้บ้านหลังใหม่บนที่ดินที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ มีความสอดคล้อง และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต้องเปี่ยมไปด้วยสุนทรียภาพไม่เหมือนที่ใด อันเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้

“เขาบอกว่าอยากให้เป็นหลังเดียวในโลกเลยนะอาจารย์” คุณพิรัสเล่าปนยิ้มถึงความตั้งใจของเจ้าของบ้าน

“ผมจึงลองเสนอไปว่า ถ้าเราลองสร้างบนดินส่วนหนึ่ง ทีนี้บึงน้ำมันสวยมาก เราก็จะลองเลือกวิธีสร้างบ้านให้ยื่นออกไปในน้ำบ้างละจะทำได้ไหม”

“จากที่ผมเสนอไป สิ่งที่ยากเป็นเรื่องของการคิดว่าถ้าต้องออกแบบโครงสร้างลงไปในน้ำ เราจะต้องตอกเข็ม ซึ่งต้องไปขุดและตอกเข็มในน้ำ ผมจึงเสนอว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราออกแบบโครงสร้างให้ยื่นออกไปเลย โดยไม่มีเสาเข็ม ปรากฏว่าเขาก็เลือกอันที่ไม่ยุ่งอะไรกับน้ำ”

บ้านเหล็ก East Architects 

จากกระบวนการคิดดังกล่าว ทำให้ตัวบ้านชั้น 2 ที่ยื่นล้ำออกไปเหนือผืนน้ำ กลายเป็นจุดเด่นของบ้านที่เห็นได้ชัดเจน หากนับรวมระยะทางตั้งแต่จุดถ่วงไปจนถึงส่วนที่ยื่นไปเหนือน้ำนั้นไกลมากถึงเกือบ 30 เมตร อันเป็นระยะที่ท้าทายอย่างยิ่งในการออกแบบ และการคำนวณ เพื่อให้สามารถสร้างและใช้งานได้จริงอย่างปลอดภัย โครงสร้างทั้งหมดของบ้านจึงเป็นโครงสร้างเหล็ก ที่เอื้อให้การออกแบบโครงสร้างแบบไร้โครงสร้างค้ำ หรือ Cantilever ทำได้ง่ายขึ้น

บ้านเหล็ก East Architects 
ที่ปลายสุดของตัวบ้านชั้น 2 เป็นห้องนอนหลัก ผนังและพื้นในส่วนที่ยื่นไกลที่สุดกรุด้วยกระจก ราวกับต้องการให้ห้องทั้งห้องถูกกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับอากาศและผืนน้ำเบื้องล่าง
ผนังเหนือสระว่ายน้ำ ออกแบบให้เป็นบานเปิดแบบระแนงไม้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างความปลอดโปร่งในภาพรวม
ผนังเหนือสระว่ายน้ำ ออกแบบให้เป็นบานเปิดแบบระแนงไม้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างความปลอดโปร่งในภาพรวม

อย่างไรก็ตามแนวทางการออกแบบทั้งหมดนี้ ย่อมไม่ใช่เพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่น่าทึ่ง หรือดูแตกต่าง หากแต่เป็นความพยายามในการสร้างสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นรอบด้าน อันเป็นความเชื่อเดิมในแนวทางการออกแบบของคุณพิรัส 

“เจ้าของบ้านเป็นวิศวกร เพราะฉะนั้นเขาจะนึกเรื่องโครงสร้างออก เราเองต่างหากกลับเป็นคนที่ไม่แน่ใจ เราก็รู้ว่าตามหลักการนั้นทำได้ แน่นอนว่ามันก็ต้องมีทั้งความยากและความง่าย” คุณพิรัสกล่าว

“เขาบอกว่าอย่างนี้สบายมาก ซึ่งอาจจะท้าทายฝีมือเขาด้วยก็ได้ และด้วยความเป็นวิศวกรรุ่นเก๋า เขาก็จะมีความปราณีตในการคำนวณมากเป็นพิเศษ ในเรื่องลักษณะของบ้าน ผมไม่ได้คิดถึงเลย ผมต้องยืนยันว่า “รูป” ในสถาปัตยกรรม ไม่ใช่ไม่สำคัญ มันสำคัญ แต่มาที่หลังสิ่งที่มองไม่เห็นอย่าง ธรรมชาติ” 

“เวลาผมทำสถาปัตยกรรมจะใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมดเลย เพราะผมเชื่อว่าวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรกับมนุษย์ โดยเฉพาะบ้านที่เราใช้อาศัยอยู่ทุกวัน ฝนเราเยอะ มีความร้อน มีการรั่ว ผมคิดว่านี่เป็นหลักการสำคัญ ที่สถาปัตยกรรมในบ้านเราต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ”

บ้านเหล็ก East Architects บ้านเหล็ก East Architects สระว่ายน้ำยาวกว่า 26 เมตร ที่ซ่อนอยู่ภายใน ได้รับการออกแบบให้ยาวขนานไปกับตัวบ้าน โดยปล่อยให้เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เอื้อในการเป็นพื้นที่ระบายอากาศและสร้างความโปร่งโล่ง

บ้านเหล็ก East Architects 

ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบหลายส่วนที่พบจากตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลังคาแบบลาดเอียง และมีชายคากว้าง เพื่อรับกับสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกและแสงแดดจัด การทำเพดานสูงแบบพิเศษรวมถึงการยื่นระเบียงขนาดกว้างที่สอดคล้องกับชายคา ได้กลายเป็นพื้นที่ช่วยกรองแสง ก่อนจะส่องกระทบเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านโดยตรง รวมถึงยังใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและใช้งานอเนกประสงค์ สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบตะวันออก ดังที่คุณพิรัสกล่าวว่า

“บ้านเราจริง ๆ ไม่ต้องการความแพงอะไรนะ  เราต้องเหมือนนั่งอยู่ในศาลา แล้วคนไทยจะนั่งได้ ถ้าร้อนหน่อยก็เปิดพัดลมนิดหนึ่ง ถ้าร้อนมากจริง ๆ ก็เปิดแอร์ ถ้าสถาปัตยกรรมมีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ  เครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะทำงานน้อยลง

“ดังนั้นเพดานที่สูงโปร่ง ย่อมไม่ใช่เฉพาะเพื่อให้มองแล้วสวย ผมคิดว่าเรื่องความสวยงามทุกคนคงทำได้หมด แต่ว่าสถาปัตยกรรมในนัยยะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างมาก”

ตัวบ้านใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นส่วนรับน้ำหนักโครงสร้างเหล็กรูปแบบโครงถัก (Truss) บนชั้น 2 ที่ยื่นออกไป คล้ายเป็น “ตุ้มถ่วง” อีกด้านของระยะยื่น โดยในส่วนโครงสร้างนี้ได้ออกแบบให้ใช้ประโยชน์เป็นโถงบันได รวมถึงห้องน้ำ 
ตัวบ้านใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นส่วนรับน้ำหนักโครงสร้างเหล็กรูปแบบโครงถัก (Truss) บนชั้น 2 ที่ยื่นออกไป คล้ายเป็น “ตุ้มถ่วง” อีกด้านของระยะยื่น โดยในส่วนโครงสร้างนี้ได้ออกแบบให้ใช้ประโยชน์เป็นโถงบันได รวมถึงห้องน้ำ 
บ้านเหล็ก East Architects 
ใต้ชายคาและระยะยื่นยาวของตัวบ้านชั้น 2 เป็นระเบียงบ้านขนาดใหญ่ที่ยื่นออกไปไกลถึง 6 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สถาปนิกกล่าวว่า กว้างมากพอที่ผู้อาศัยจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องใส่ราวกันตก ช่วยให้พื้นที่ดูราบเรียบและรับกับธรรมชาติโดยรอบได้ดียิ่งขึ้น

ท้ายที่สุดแม้บ้านหลังนี้จะดูใหญ่โต และมีรูปลักษณ์พิเศษมากกว่าที่อื่น ทว่ายังซ่อนแนวคิดการออกแบบที่สำคัญและลึกซึ้งยิ่งกว่า นั่นคือการออกแบบให้สอดคล้องและโอนอ่อนตามสภาพแวดล้อมของที่ตั้งอย่างเรียบง่าย เพื่อเป็นดังตัวแทนเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้เป็นเจ้าของ และเป็นที่พักผ่อนที่เงียบสงบเรียบง่ายอย่างเป็นธรรมชาติโดยแท้จริง 

บ้านเหล็ก East Architects 

ออกแบบ : East Architects
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: คุณวศิน ภุมรินทร์ 

บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ room ฉบับใหม่ล่าสุด #DesignForOurFuture

#DesignForOurFuture

#roomฉบับใหม่มีอะไร

Design for our Future
เมื่อโลกเต็มไปด้วยความท้าทาย ได้เวลาให้ ‘ดีไซน์’ สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะเราออกแบบอนาคตของเราเองได้!!

ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2021 ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ปัญหาใหญ่ที่เราเคยคิดว่าห่างไกลกลับใกล้ตัวเข้ามาทุกที แล้วเราจะวางแผนรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไร

ฉบับนี้ room รวบรวมผลงานการออกแบบของนักออกแบบไทยภายใต้ 3 ประเด็นที่เราสนใจ ได้แก่ ‘สิ่งแวดล้อม’ ‘สังคม-วัฒนธรรม’ และ ‘การศึกษา’ งานออกแบบที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดประกายมุมมองใหม่ให้กับทุกคน เพราะเราเชื่อว่านี่คือเรื่องราวใกล้ตัวทุกคน และถึงเวลาแล้วที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง

It’s time for action! ถ้าไม่ใช่คุณ แล้วใคร และถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่

room ฉบับ 193 พ.ย.-ธ.ค. 2563 ราคาเล่มละ 165 บาท
+ พัสดุไปรษณีย์ธรรมดา ค่าจัดส่ง 50 บาท รวม 215.00 บาท
+ พัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ค่าจัดส่ง 70.00 บาท รวม 235.00 บาท

สั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์ได้ที่ The BOOK HOUSE โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน m.me/Baanlaesuanbooks หรืออินบ็อกซ์มาที่เพจ room magazine m.me/roomfan ได้เลย