Seashore Library คือห้องสมุดที่ตั้งอยู่ริมหาด Bohai ภายในพื้นที่ของคอมเพล็กซ์รีสอร์ต ห่างจากตัวเมืองปักกิ่งประมาณ 3 ชั่วโมง ในขณะที่เมืองปักกิ่งมีการเจริญเติบโตอย่างมากในแง่ของเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง แต่ก็ยังแทรกไว้ด้วยพื้นที่อยู่อาศัยที่เสื่อมโทรม
รีสอร์ตแห่งนี้จึงมุ่งหวังสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ภายในโครงการจึงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและพื้นที่นันทนาการ และหนึ่งในนั้นคือห้องสมุด Seashore Library แบบแสตนด์อโลนแห่งนี้
ในแง่ของการออกแบบเน้นไปที่การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างขอบแขตพื้นที่ การเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของแสงโดยรอบ การระบายนอากาศ และวิวทะเล ซึ่งแน่นอนว่าอาคารฝั่งตะวันตกหันหน้าเข้าหาทะเล ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เพียงรองรับแขกที่มาพักที่รีสอร์ตจากทางทิศตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย
มหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจรดค่ำไปจนถึงฤดูกาลที่ผันแปร จึงนำความเป็นไปของธรรมชาติเหล่านี้มาแปลงเป็นรูปธรรมในงานสถาปัตยกรรม ส่วนของที่นั่งอ่านหนังสือแบบอัฐจันทร์เอื้อให้ทุกคนสามารถมองวิวทะเลได้อย่างเท่าเทียม ผนังฝั่งที่ติดกับทะเลกรุด้วยกระจกเต็มบาน เมื่อวันใดที่อากาศดีก็สามารถเปิดกระจกเพื่อเชื่อมพื้นที่ภายนอกและภายในเข้าด้วยกันได้
ผนังกระจกแบบเต็มบานที่เกิดขึ้นกลายเป็นพื้นที่ชมวิวแบบพานอรามา ที่มีเบื้องหน้าเป็นวิวทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ก่อนที่จะได้มาซึ่งผนังกระจกเต็มผืนนี้ ต้องผ่านการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมมาเป็นอย่างดี โดยออกแบบโครงสร้างทรัสเหล็กเป็นเฟรมเหนือบานกระจกเพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคา และทั้งสองด้านของทรัสเหล็กเติมเต็มด้วยบล็อกแก้ว ซึ่งเป็นวัสดุโปร่งแสงที่ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามายังพื้นที่ด้านใน ทั้งยังเกิดเอฟเฟ็กต์ของแสงที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาในแต่ละวัน ประกอบกับไฟประดิษฐ์ภายในอาคาร ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เหมาะแก่การอ่านหนังสือได้ตลอดทั้งวัน
อีกหนึ่งจุดเด่นคือหลังคาทรงโค้งที่เปิดมุมมองสู่ทะเล และยังเอื้อให้ความกว้างของช่วงเสาทั้งฝั่งทิศตะวันออกไปตะวันตก และทิศเหนือไปทิศใต้ ผู้ออกแบบได้ทำการเจาะหนังคาคอนกรีตนี้ให้เป็นรูวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้เพื่อทำการระบายอากาศภายในออกไป ในแต่ละช่วงฤดูกาล ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น. ของทุกวัน แสงธรรมชาติจะส่องเข้าสู่ภายในผ่านช่องเล็ก ๆ นี้เกิดเป็นมิติใหม่ให้กับสเปซ
สุดท้ายคือส่วนของห้องกิจกรรม ที่วางห่างออกจากพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถใช้เสียงได้อย่างเต็มที่ โดยออกแบบลานเอ๊าต์ดอร์ ให้สามารถรับแสงธรรมชาติได้จากทุกทิศทุกทางเวลาทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถพิสูจน์ได้จากการดูรูปตัดของอาคารที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างห้องแต่ละห้องกับทะเล การเคลื่อนไหวของผู้คนอย่างลื่นไหล