โปรเจ็กต์ รีโนเวตบ้านชั้นเดียว หลังนี้ตั้งอยู่ในเทือกเขา Taihang ฝั่งตะวันตกของกรุงปักกิ่ง โดยไซต์งานมีลักษณะเป็นสนามหญ้าที่รายล้อมไปด้วยบ้านหูต่ง บ้านโบราณแบบจีนที่มีหน้าแคบไม่เกิน 2 เมตร บนผืนที่ดินขนาด 9×20 เมตร อาคารเดิมและโครงสร้างยังเหลือให้เห็นอยู่ในพื้นที่
โดยอาคารทางทิศตะวันตกมีความกว้างเพียง 2.40 เมตร ระยะห่างระหว่างอาคารเป็นทางเดินที่มีความกว้างไม่ถึง 1 เมตร ด้วยซ้ำ บรรยากาศบ้านเดิมจึงเรียกได้ว่าห่างไกลความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยไปมาก พื้นที่ลานกลางบ้านใช้เป็นแปลงผักที่ถูกดูแลโดยญาติของเจ้าของบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ตัวอาคารถูกปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์และไม้เลื้อยดูรกร้าง หากแต่ภายใต้ความทรุดโทรมนี้ กลับซ่อนไว้ด้วยแรงดึงดูดบางอย่าง นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างอาคารขนาดชั้นเดียวกับพรรณไม้ต่าง ๆ นั่นเอง
เดิมทีที่นี่ประกอบไปด้วยอาคารชั้นเดียว 3 หลัง และห้องใต้ดิน ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ถึงแม้ตัวอาคารเดิมที่มีอยู่จะไม่ได้เอื้อต่อสภาวะน่าสบายมากนัก หากแต่เพื่อรักษาร่องรอยในอดีตไว้ การรีโนเวตครั้งนี้จึงเลือกที่จะเก็บรูปทรงอาคาร สี และวัสดุแบบเดิมให้ได้มากที่สุด ภายใต้บริบทแวดล้อมที่ดูทันสมัย ผ่านแนวคิดการหวนคืนที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษ รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการปรับปรุงสวนที่เคยสะพรั่งไปด้วยพรรณไม้ที่เคยขึ้นอยู่ในบริเวณคอร์ตกลางนี้ ซึ่งมีความสวยงามและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละฤดูกาล
ในส่วนของการออกแบบ สถาปนิกเลือกเก็บโครงสร้างของอาคารเดิมไว้ทั้งหมด แล้วทำการเชื่อมอาคารทั้งสามหลังเข้าด้วยกัน ส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมต่ออาคารได้กลายเป็นพื้นที่พับลิก แล้วผลักส่วนของห้องนอนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวไปไว้ด้านในสุด ส่วนห้องใต้ดินเดิมที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ที่นั่งในห้องครัวมากว่า 30 ปี ก็ถูกเปลี่ยนเป็นห้องเก็บไวน์ เก็บอาหาร และที่เล่นซ่อนแอบของเด็ก ๆ
ห้องรับประทานอาหารที่เคยตั้งอยู่ในอาคารเก่าทางตะวันตก ซึ่งยังคงมีความกว้างเพียง 2.4 เมตร ได้ถูกเปลี่ยนผนังที่เคยทึบตันฝั่งที่ติดกับสวน ให้กลายเป็นผนังกระจกเต็มบาน แล้วออกแบบที่นั่งแบบบิลท์อินตามแนวความกว้าง ก่อนจะเสริมด้วยชั้นวางของเหนือศีรษะ ช่วยให้ภายในกับภายนอกดูเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน รู้สึกกว้างขึ้น และลดความอึดอัดของพื้นที่ได้อย่างดี
ส่วนของคอร์ตตรงกลางได้รับการปรับปรุงใหม่ รังสรรค์ให้เป็นเหมือนกับหุบเขากลางบ้านขนาบไว้ด้วยอาคารที่มีความสูงกว่า และเป็นพื้นที่ต่ำตรงบริเวณคอร์ตที่สามารถมองออกจากได้จากรอบทิศ เนื่องจากเปลี่ยนเป็นผนักระจกทั้งหมด โครงสร้างอาคารที่ถูกเก็บไว้เสริมด้วยโครงเหล็กที่ทำจากท่อเหล็กขนาด 3×3 เซนติเมตร ถูกใช้เป็นระแนงไม้เลื้อยรอการปกคลุมของใบไม้สีเขียวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่บริเวณจะถูกเบลนเป็นหนึ่งเดียวกันกับสนามหญ้า
พื้นที่เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ทำหน้าที่เป็นตัวแจกจ่ายเส้นทางไปยังอาคารแต่ละก้อน เพื่อการเข้าถึงที่ง่ายและเป็นระเบียบมากขึ้น ผนังและเพดานถูกทะลายออกในหลาย ๆ จุด เปิดเปลือยโครงสร้างและวัสดุโบราณ เกิดเป็นความคอนทราสต์ระหว่างพื้นผิวเก่าที่ดูมืดและพร่ามัว ปรากฏขึ้นเคียงข้างกับพื้นผิวใหม่ที่สว่างและชัดเจน ช่วยขับเสน่ห์เฉพาะตัวของพื้นที่ที่ถูกละเลยมานานให้กลับมาเปล่งประกายอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่อาคารทางทิศเหนือเดิมนั้น เคยทำหน้าที่เป็นห้องนอนของปู่ย่า สถาปนิกตั้งใจจะพยายามคงรูปแบบและบรรยากาศเช่นเดิมเอาไว้ แล้วมุ่งไปที่การปรับปรุงระบบต่าง ๆ ใหม่แทนอย่าง ประตู และหน้าต่าง โดยใช้ระบบม่านอัตโนมัติช่วยปรับแสงสว่าง และเปลี่ยนประตูเก่าให้เป็นองค์ประกอบโครงสร้างสำหรับรับแสงบนเพดานทั้งหมด
อาคารด้านตะวันออกที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งเดิมเคยใช้เป็นห้องเก็บของ ตัวโครงสร้างถูกปรับปรุงด้วยโครงสร้างเหล็กใหม่ที่ยกความสูงขึ้นไป เพื่อทำเป็นห้องนอนใต้หลังคา กลายเป็นจุดสังเกตของผู้ที่เดินผ่านไปมาจะได้เห็นแสงไฟยามค่ำคืนที่ลอดผ่านออกมาจากห้องใต้หลังคา เป็นแหล่งกำเนิดแสงเพิ่มเติมสำหรับอาคารด้านล่าง
การออกแบบปรับปรุงทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากความพยายามที่จะเก็บบรรยากาศแบบเดิม ๆ ไว้ ภายใต้บริบทใหม่ที่สอดคล้องกับรูปแบบการอยู่อาศัยมากขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อพื้นที่โดยอาศัย “Passage” หรือทางเดินที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าไว้ด้วยกัน
ออกแบบ: Chaoffice
ภาพ: Yumeng Zhu, Zhi Cheng
เรียบเรียง: BRL