ความทรงจำในวัยเยาว์ มักเป็นภาพที่คุณจดจำได้ไม่มีวันลืม เพราะเป็นเครื่องหล่อหลอมให้ทุกคนเติบโตมาในแบบที่เป็นคุณทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ คุณจ๊าบ-พรพงศ์ รัตนะรัต เจ้าของ บ้านปูนเปลือย ในซอยสุขุมวิท 47 ที่มีความทรงจำวัยเด็กแสนสนุกสนาน ก่อนเกิดเหตุการณ์จำเป็นทำให้เขาต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกเพียงลำพัง
“บ้านผมเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่รวมกันทั้งพ่อแม่พี่น้อง แต่เมื่อโตขึ้นมา พวกเราพี่น้องก็อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงสร้างบ้านอีกหลังในบริเวณเดียวกัน แล้วย้ายออกมาจากบ้านพ่อกับแม่”
/ ผมเคยอยู่บ้านแล้วออกไปอยู่ตัวคนเดียว
จึงรู้ว่าการได้อยู่บ้านกับครอบครัวดีมากแค่ไหน /
“เมื่อพี่ผมแต่งงานมีครอบครัว ผมจึงต้องออกจากบ้านหลังที่สอง ไปใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดมิเนียม คิดในแง่ดีเสมอว่าพื้นที่เดียวทำได้ทุกอย่าง เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวก แต่สุดท้ายแล้ว ในใจลึก ๆ ผมโหยหาความเป็นบ้าน ความเป็นครอบครัวที่ผมเคยได้รับมาสมัยยังเป็นเด็ก”
โชคดีว่าบริเวณบ้านของครอบครัวคุณจ๊าบนั้น มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง แม้จะมีบ้านคุณพ่อคุณแม่ และบ้านของพี่ชายแล้ว แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้อีก
“แต่เดิมตรงนี้เป็นร้านขายเบเกอรี่มาตั้งแต่สมัยคุณยายครับ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นร้านขายอะไหล่รถยนต์บังคับ เมื่อผมอยากจะกลับมาอยู่บ้าน จึงคิดว่าตรงนี้ละที่จะเป็นพื้นที่สร้างบ้านของผมเอง”
คุณจ๊าบหลงรักการเดินทางท่องเที่ยว เช่นเดียวกับที่ถูกปลูกฝังมาให้หลงใหลงานดีไซน์ แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง แต่เมื่อใดที่มีโอกาสไปต่างถิ่น เขามักแวะชมพิพิธภัณฑ์ อาคารบ้านเรือน เละสถานที่สำคัญต่าง ๆ พร้อมทั้งเก็บภาพประทับใจเอาไว้เสมอ ต่อมาภาพเหล่านั้นได้กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญ ใช้บ่งบอกสไตล์ และฟังก์ชันของบ้านที่กำลังลงมือปลูกสร้าง
คุณเบิร์ด- คุณวรพงศ์ ทีรฆวงศ์สกุล Director/Founder จาก M.O.L. studio เขาคือ สถาปนิกผู้รับหน้าที่ดูแลการออกแบบบ้านกล่องขนาดเกือบ 160 ตารางเมตรหลังนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น ความสัมพันธ์ของพวกเขา แปรเปลี่ยนจากผู้จ้างวานและสถาปนิกมาเป็นเพื่อนสนิทอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งคู่มีความชอบเหมือนกันหลายอย่าง เช่น ชอบดูแอนิเมชั่นสนุก ๆ ชอบสะสมตัวต่อ และของเล่นต่าง ๆ ที่สำคัญพวกเขายังเป็นคนตรงไปตรงมา พูดจาชัดเจน ช่วยให้กระบวนการออกแบบและสร้างบ้านหลังนี้เป็นไปด้วยความสนุก
“เริ่มต้นมาจากฟังก์ชันก่อนครับ เขาบอกผมได้ละเอียดมากว่าเขาใช้ชีวิตแบบไหน เช่น เขาเคยอยู่คอนโด ฯ มาก่อน จึงคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่เดียว แต่สามารถทำกิจกรรมครอบคลุมได้ทุกอย่าง เมื่อเขาอยากกลับมาอยู่บ้าน ก็ยังคงติดความเคยชินนั้น แม้จะมีบ้านเป็นหลัง แต่คุณจะเห็นว่าสเปซทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมด เวลาใช้งานส่วนใดก็สามารถเปิด-ปิดเพื่อสร้างพื้นที่เล็ก ๆ หรือพื้นที่ส่วนตัวให้เกิดขึ้นได้ ผมเรียกว่า Box in Box เหมือนกล่องซ้อนกล่อง หรือพื้นที่ซ้อนพื้นที่นั่นเองครับ”
เริ่มจากพื้นที่ด้านล่างออกแบบให้เป็นทั้งครัว ห้องนั่งเล่น และห้องรับแขก เปิดโล่งเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด โดยดึงสภาพแวดล้อมภายนอกรอบ ๆ บ้านให้เข้ามาสู่ภายใน ด้วยผนังกระจกใสรอบทิศทาง หากต้องการความเป็นส่วนตัว แค่ปิดม่านแบล็กเอ๊าต์ลงมา ก็สามารถกั้นสายตาจากภายนอกได้แล้ว
ขยับขึ้นไปที่ชั้นสอง อันเป็นส่วนพักผ่อน และห้องนอนของคุณจ๊าบ สถาปนิกยังคงเน้นการเชื่อมโยงสเปซ ด้วยการทำผนังบานเฟี้ยมไม้ไว้ด้านหลังห้องนอน เปิดออกไปมองเห็นพื้นที่โถงด้านล่างได้ เช่นเดียวกับผนังอีกด้านแม้จะเป็นกระจก แต่พอปิดม่านลงเจ้าของบ้านก็จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมารบกวน
“มีเหตุการณ์ไม่ได้ตั้งใจหลายสิ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วกลายเป็นเรื่องโชคดี อย่างลักษณะเหลี่ยมมุมของตัวบ้าน มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้บ้านมีดีเทล โชว์ศักยภาพของช่าง และวัสดุที่เลือกใช้ แต่กลายเป็นว่าเหลี่ยมมุมเหล่านั้นได้ช่วยบดบังสายตาจากคนภายนอก ให้มองไม่เห็นภายในตัวบ้าน ส่วนคนในบ้านก็ยังสามารถมองเห็นความเป็นไปนอกบ้านได้ ถือเป็นดีไซน์ที่ทำออกมาได้ถูกใจผมมาก”
“ต้องขอบคุณเจ้าของบ้านที่เปิดโอกาส แล้วก็กล้าที่จะสนุกไปกับผมด้วย” คุณเบิร์ดเล่าเสริม “รวมถึงทีมงาน ช่าง ผู้รับเหมา ทุกคนมีส่วนในกระบวนการร่วมกันทั้งหมด และช่วยให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ”
ถ้าอยากให้สมบูรณ์กว่านี้ เราแนะนำว่าคุณไม่ควรพลาดดีเทลการออกแบบที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ แล้วจะรู้ว่าบ้านหลังนี้มีดีมากกว่าแค่ดีไซน์หรือฟังก์ชัน…
ออกแบบ : M.O.L. studio
เรื่อง : มนตรา
ภาพ : นันทิยา, ปรัชญา
วิดีโอ : New Media