AUA โฉมใหม่ เมื่อ “อิฐ” ถ่ายทอดภาษาสถาปัตยกรรม - room

AUA โฉมใหม่ เมื่อ “อิฐ” ถ่ายทอดภาษาสถาปัตยกรรม

อาคารใหม่ของ AUA (เอยูเอ) หรือโรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงอีกก้าวของการเติบโตผ่านภาพของสถาปัตยกรรมอิฐสูงตระหง่าน ที่เด่นสง่าท่ามกลางอาคารกระจกที่อยู่รายล้อมย่านราชดำริ ที่นี่คืออาคารสาธารณะในเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาใช้งานได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นเอยูเอได้อย่างสมบูรณ์ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ก้าวทันยุคสมัยในปัจจุบัน

หากใครมีโอกาสใช้เส้นทางถนนราชดำริหรือใช้บริการ BTS สายสีลมเชื่อว่าน้อยคนนักจะไม่สะดุดตากับอาคารอิฐสูงตระหง่านที่โดดเด่นท่ามกลางอาคารกระจกที่อยู่รายล้อม อาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาหรือ AUA (เอยูเอ) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2495 ก่อนจะย้ายมาเช่าที่ดินของสำนักงานพระคลังข้างที่ในปัจจุบันตั้งแต่ปีพ.ศ.2505 เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทางเอยูเอได้หมดสัญญาเช่าและจะต้องทำการส่งมอบที่ดินคืน แต่ด้วยความที่ผูกพันกับที่ดินผืนนี้มายาวนาน ทำให้ทางนายกสมาคมฯ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่จะขยับขยายให้อาคารทำหน้าที่มากกว่าโรงเรียนสอนภาษาอย่างที่ผ่านมา เพื่อให้กลายเป็นอาคารสาธารณะในเชิงวัฒนธรรมของประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาจัดกิจกรรมได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นเอยูเอ ได้อย่างสมบูรณ์ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ก้าวทันยุคสมัยในปัจจุบัน

AUA

จุดเริ่มต้นของ AUA โฉมใหม่

สำหรับการสร้างอาคารสาธารณะบนที่ดินที่มีศักยภาพสูงและมูลค่ามหาศาลใจกลางเมืองนั้นต้องอาศัยผู้ที่มองอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง AUA และบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) โดยได้แบ่งที่ดินขนาด 5.6 ไร่ที่เช่าสำนักงานพระคลังข้างที่ออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก คือ ส่วนครึ่งด้านหน้าที่ดินที่ติดกับถนนราชดำริ สำหรับเป็นโรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และพื้นที่ส่วนครึ่งหลังของที่ดินนั้น ในอนาคตจะกลายเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกานั้นได้รับการออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรัส พัชรเศวต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สยาณี วิโรจน์รัตน์ สถาปนิกจาก EAST Architects ตั้งแต่การวางผังแม่บท (Master plan) ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายใน โดยใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างร่วม 10 ปี ผ่านการปรับรูปแบบอาคาร และพื้นที่ใช้สอยมาหลายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายลงตัวที่อาคารอิฐสูง 7 ชั้น ซึ่งใช้อิฐเป็นวัสดุหลักของอาคารกว่า 1.7 ล้านก้อน 

AUA
ทางเข้าหลักของอาคารออกแบบให้เป็นในลักษณะทรงโค้ง (Arch)  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่สามารถแสดงศักยภาพในการรับแรงที่มาพร้อมกับความสวยงามของอิฐได้มากที่สุด
AUA
ทีมสถาปนิกสร้างความโดดเด่นให้สถาปัตยกรรมด้วยการออกแบบรูปด้านอาคารทั้ง 4 ด้านให้ไม่ซ้ำกัน ทั้งรูปแบบของช่องเปิด และแพทเทิร์นการก่ออิฐ ทั้งนี้การใช้แพทเทิร์นของอิฐที่หลากหลายยังช่วยให้อาคารดูมีมิติเมื่อถูกกระทบจากแสงและเงาในช่วงเวลาต่างๆ

ทำไมต้องเป็นอิฐ

ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ รูปลักษณ์และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารได้รับการปรับเปลี่ยนมาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญทางด้านเวลา ด้วยเมื่อเวลาผ่านไปทำให้งบประมาณการก่อสร้างก็ยิ่งสูงขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้สถาปนิกเลือกที่จะใช้อิฐมาเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างอาคาร เนื่องจากที่มีต้นทุนประหยัดกว่าการใช้กระจกถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ สถาปนิกทั้งสองท่านยังเป็นคณาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมโมเดิร์นทรอปิคัล ดังนั้นการเลือกใช้อิฐในการสร้างทั้งอาคารนั้น ยังเป็นเหมือนการทดลองในเรื่องของวัสดุ และโครงสร้างสถาปัตยกรรม ที่สามารถรวบรวมเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่นิสิตได้ในอนาคตด้วย 

AUA
แพทเทิร์นของอิฐทั้งภายในและภายนอกมีทั้งหมด 16 แบบ นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว แต่แพทเทิร์นยังบ่งบอกว่าพื้นที่ที่ใช้แพทเทิร์นดังกล่าวเป็นพื้นที่ใช้งานส่วนใดได้จากภายนอก
AUA
โถงขนาดใหญ่บริเวณชั้น 1 ที่ถูกส่งต่อมาจากประตูทรงโค้ง ซึ่งในอนาคตจะเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโถงเป็นพื้นที่ในลักษณะ open air ที่เย็นสบายตลอดทั้งวันด้วยการระบายอากาศผ่านช่องเปิดที่ถูกเว้นจังหวะอย่างสวยงามบริเวณผนังทั้งสองด้านของอาคาร
AUA
สถาปนิกต้องการสร้างประสบการณ์การเข้าถึงจากชั้น 1 ขึ้นไปยังชั้นลอยด้วยการออกแบบบันไดขนาดใหญ่สีดำไว้ชิดผนัง เพื่อให้ผู้ใช้อาคารรู้สึกถึงความตื่นเต้นในการก้าวผ่านช่องเปิดและสเปซที่ถูกตั้งใจสร้างขึ้น จนลืมไปว่าระยะทางของบันไดนั้นยาวกว่าบันไดทั่วไปอย่างมาก

การออกแบบภายในอาคารนี้ สถาปนิกเน้นการดึงประโยชน์จากลมธรรมชาติมาใช้เพื่อลดความร้อนให้ได้มากที่สุด โดยออกแบบ และวางตำแหน่งช่องเปิดเพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูงแล้วระบายออก ทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ในทุกพื้นที่ของอาคาร ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของความหมายทางงานสถาปัตยกรรม อิฐยังเป็นวัสดุที่เชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน เนื่องจากผู้คนต่างมีความผูกพัน และคุ้นชินกับการใช้อิฐเป็นส่วนประกอบในงานสถาปัตยกรรมประเภทต่าง ๆ มาแต่อดีต การใช้อิฐจึงเสมือนการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงทางกาลเวลา และสำหรับโรงเรียนสถานสอนภาษาที่เปิดดำเนินการมา 69 ปีนั้น ทุกก้อนอิฐจึงกลายเป็นเหมือนตัวแทนที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของ AUA ไว้

AUA
สถาปนิกตั้งใจใช้สีดำในส่วนของพื้นและผนัง รวมถึงโครงสร้างบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้อิฐเพื่อให้สีดำช่วยขับให้สีของอิฐโดดเด่นขึ้น

เมื่ออิฐถ่ายทอดภาษาสถาปัตยกรรม

เมื่อมองจากภายนอก รูปทรงของอาคารมีลักษณะหน้าแคบ และลึกยาวเข้าไปในที่ดิน ซึ่งเป็นการสร้างเต็มพื้นที่ตามที่กฎหมายควบคุมอาคาร อันมีที่มาจากความต้องการสร้างพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด ตัวอาคารมี 7 ชั้น ไม่นับที่จอดรถใต้ดินระบบ Smart Parking จำนวน 2 ชั้น และพื้นที่ดาดฟ้า ภายในอาคารประกอบด้วยโรงเรียนสอนภาษา สมาคมศิษย์เก่าเอยูเอ พื้นที่สำนักงาน หอประชุมและพื้นที่ให้เช่า การรับน้ำหนักผนังอิฐมีโครงเหล็กยึดเป็นแกนอยู่ภายในแล้วถ่ายน้ำหนักไปสู่เสาและคานของอาคาร โดยระหว่างผนังภายนอกและผนังภายในเว้นระยะให้มีช่องว่าง(Air gap) เป็นฉนวนกันความร้อนด้วยวิธีธรรมชาติที่ช่วยให้พื้นที่ภายในเย็นสบายตลอดทั้งวัน

สำหรับอิฐในการก่อสร้างอาคารทางสถาปนิกเลือกใช้อิฐ อ.ป.ก. เพียง 2 ขนาด เพื่อให้ง่ายต่อการออกแบบแพทเทิร์นและการก่อสร้าง โดยได้ออกแบบแพทเทิร์นอิฐทั้งหมด 16 แบบ แต่ละแบบถูกจัดวางตำแหน่งตามพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน ซึ่งกว่าจะได้แพทเทิร์นดังกล่าวต้องผ่านการคัดเลือกกว่า 50 แบบตามหลักเกณฑ์ทั้งในเรื่องของการระบายอากาศ ความสวยงาม การดูแลรักษาไปจนถึงการรวดเร็วในการประกอบหน้างาน

และด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งการเรียงอิฐกว่าหนึ่งล้านก้อนให้เสร็จทันระยะเวลาดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานก็เป็นไปได้ยาก ทางทีมสถาปนิกจึงใช้วิธีการก่ออิฐในรูปแบบโมดูลาร์ที่สามารถนำมาประกอบต่อกันที่หน้างานได้เลย โดยเพิ่มความแข็งแรงด้วยปูนมอร์ตาร์ชนิดพิเศษเพื่อช่วยการยึดเกาะระหว่างก้อน และเพิ่มความแข็งแรง ด้วยวิธีดังกล่าวจึงทำให้อาคารสามารถสร้างได้เสร็จตามกำหนดการ อีกทั้งพื้นผิวอาคารยังดูเป็นระเบียบสะอาดตาด้วยการก่อเรียงกันของอิฐแต่ละก้อนที่ได้มาตรฐานตามที่สถาปนิกกำหนดไว้

AUA
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของอาคารคือช่องเปิดทรงกลมขนาดใหญ่บริเวณชั้น 5 โดยพื้นที่บริเวณนี้ในอนาคตจะเปิดให้เช่า เพื่อเปิดเป็นร้านกาแฟหรือพื้นที่จัดกรรมในเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ ต่อไป

การตกแต่งอิงสถาปัตยกรรม

นอกจากทางสถาปนิกจะได้ออกแบบงานทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วยังรับหน้าที่ในการตกแต่งภายในเช่นกัน โดยเป็นการออกแบบในลักษณะ Architectural Decoration ที่ใช้สถาปัตยกรรมเป็นแกนหลัก และให้การตกแต่งภายในล้อไปกับอาคารภายนอก ซึ่งผนังอาคารได้รับการออกแบบให้มีแพทเทิร์นการก่ออิฐตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ใช้สอย และเพิ่มเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินเท่าที่จำเป็น ส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวจะใช้เฟอร์นิเจอร์เก่าจากอาคารเดิม นอกจากนี้ การเลือกใช้สีดำในส่วนผนังอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผนังก่ออิฐ เพื่อให้พื้นสีดำกลายเป็นฉากหลังที่ขับเน้นสีสันของอิฐให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

บันไดเหล็กที่อยู่บริเวณชั้นดาดฟ้าทำหน้าที่ส่งคนขึ้นยังพื้นที่สำหรับงานระบบที่อยู่ชั้นถัดไป

กาลเวลาที่เปลี่ยนไปเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ‘อิฐ’ วัสดุอันสามัญที่แสนจะถ่อมตน ยังคงสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับงานสถาปัตยกรรมได้อย่างมั่นคง เช่นเดียวกับการที่โรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาหรือ AUA (เอยูเอ) เลือกใช้อิฐให้เป็นตัวแทนของงานออกแบบเพื่อยกระดับของงานสถาปัตยกรรมให้องค์กร รวมถึงการเป็นแลนด์มาร์ก และภาพจำสำคัญให้กับบริบทโดยรอบได้อย่างสง่างามและมีชั้นเชิง  

AUA
สถาปนิกได้ออกแบบให้บริเวณโถงภายในทางเข้าอาคารเป็นลักษณะพื้นที่เปิดโล่งขึ้นไปจนถึงชั้น 4 ของอาคารเพื่อทำหน้าที่เป็นปล่องขนาดใหญ่สำหรับให้ความร้อนลอยตัวจากชั้นล่างและระบายความร้อนออกไป

เรื่อง: Ektida N.
ภาพ: ศุภกร
ออกแบบ: East Architects Co.,Ltd. โทร. 0-2041-4224
ก่อสร้าง: McTRIC Public Company Limited โทร. 0-2641-2100


บ้านคอนกรีตเปลือย สลับผนังอิฐดินเผา โชว์เสน่ห์ลอฟต์บนเกาะบาหลี