VOICE OF AMITY เสียงของสัมพันธภาพ ในบ้านกึ่งแกลเลอรี่ - room

VOICE OF AMITY เสียงของสัมพันธภาพ ในบ้านกึ่งแกลเลอรี่

“Edelweiss” เป็นชื่อ บ้านกึ่งแกลเลอรี่ เพราะต้องการให้บ้านเป็นเหมือนความรักและสันติภาพของผู้คนที่ผ่านเข้ามาใช้ชีวิต ซึ่งพ้องกับความหมายของชื่อดอก Edelweiss ที่หมายถึงความกล้าหาญ เสียสละ และความรักที่บริสุทธิ์  

เงาไม้ยืนต้นยามบ่ายทอดพาดอาคารสีขาวเกิดเป็นลวดลายแห่งธรรมชาติตรึงใจเราตั้งแต่แรกก้าวเข้าสู่ ร่ำเปิงกระบอกเสียงสถาน หรือ Rumpeung Loudspeaker ของ ผศ.ศุภชัย ศาสตร์สาระ หรืออาจารย์ตู่ของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ตู่ตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้เป็น บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ซึ่งมีทั้งที่พักพิงส่วนตัว และคอมมูนิตี้ส่วนรวมสำหรับบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ทุกความเห็นกลายเป็นพลวัตในการขับเคลื่อนสังคม โดยผ่านตัวกลางที่อาจารย์ถนัดและเป็นสากล น คืองานศิลปะนั่นเอง

รอบรั้วอันร่มรื่นเชิงดอยสุเทพแห่งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสีขาว 2 หลัง อาคารภายนอกติดริมถนนใช้เป็นสตูดิโอ และแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ ร้านกาแฟ รวมถึงเป็นที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติในโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อทำงานศิลปะระยะสั้นในเมืองไทย ส่วนอาคารภายในใช้เป็นที่พักอาศัยของอาจารย์ตู่เอง

“ถ้าพูดตรง ๆ ก็เหมือนอันนั้นเรื่องของแก อันนี้เรื่องของฉัน แต่พอถึงสุดท้ายมันก็ไม่ค่อยได้เป็นพื้นที่ส่วนตัว หลายคนก็บอกว่าอยู่คนเดียวทำไมมีอาคารเยอะแยะ แต่จริง ๆ แล้ว ในการออกแบบอาคาร ผมต้องการให้เกิดพื้นที่เชื่อมต่อที่ไม่ใหญ่มาก เป็นครัวสำหรับสังสรรค์ หรือใช้เป็นที่สอนหนังสือบางวิชาที่ผมสอนก็ได้ บางครั้งเด็ก ๆ จะมานั่งคุยหรือปาร์ตี้กันในช่วงค่ำคืน บ้างก็มาส่งงาน และเรียนที่นี่”

การก่อร่างสร้างบ้านอาจารย์ตู่ทำงานไปพร้อม ๆ กับรุ่นน้องที่มารับหน้าที่เป็นสถาปนิก คือ คุณเด๊ะ – รณยุทธ รงคะกมล โดยอาจารย์ตู่จะเริ่มจากสเก็ตช์ฟังก์ชันที่ต้องการให้กับคุณเด๊ะก่อน เมื่อโครงสร้างบ้านเกิดขึ้นแล้ว จึงจัดวางองค์ประกอบบานประตู และหน้าต่างเก่าที่อาจารย์ซื้อเก็บสะสมจากหลายแหล่งตามมุมมองศิลปิน และจากผลงานศิลปะของอาจารย์ที่มักเน้นไปที่สีขาว เทา และดำ สถาปนิกจึงจับมาต่อยอดให้เป็นบ้านสีขาว ซึ่งเป็นสีที่ดูเป็นกลาง สบายตา สอดคล้องไปกับแสงธรรมชาติที่จะตกกระทบลงบนผนังบ้าน เกิดเป็นแสงเงาที่สวยงามดึงดูดใจเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงวัน ภายในบ้านพัก อาจารย์ตู่ต้องการเพดานสูงและพื้นที่เปิดโล่ง ไร้ขอบเขตของผนังกั้นห้อง เฟอร์นิเจอร์มีเพียงชิ้นที่จำเป็น และล้วนเป็นของเก่าตามแบบที่ถูกใจ

“การออกแบบบ้านมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ หลายคนไปซีเรียสกับเรื่องดีเทล แต่สำหรับผม บ้านเป็นที่นอน ที่ขับถ่าย เป็นที่อยู่แล้วสบายใจ อันนี้คือคอนเซ็ปต์หลัก ส่วนเรื่องการตกแต่งก็เป็นไปตามการใช้ชีวิตของเรา ถ้าเรามีครอบครัวขึ้น ของอะไรต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นตามมา แต่ตอนนี้มันก็เป็นแบบบ้านของหนุ่มโสด”

ส่วนอาคารแกลเลอรี่ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่อาจารย์ตู่ต้องการสร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับชุมชน

“บ้านเรามีปัญหาเรื่องไม่มีพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้ชุมชนมาใช้งานร่วมกัน ตอนนี้ Public Space ของเราไปอยู่บนห้างสรรพสินค้ากันหมดเลย วัดที่เคยเป็นทะเลสีทันดร มีทรายให้เด็กเล่น หกล้มก็ไม่เจ็บ ตอนนี้กลายเป็นพื้นซีเมนต์ใช้จอดรถไปหมดแล้ว เราจึงอยากเปิดบ้านของเราให้คนอื่น ๆ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นคอมมูนิตี้ให้ผู้คนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติด้านศิลปะ มีกิจกรรมทางความคิด และสามารถแสดงออกได้ทุกรูปแบบ โดยผ่านบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ร่างกาย เสียง และสื่อหลากหลายแขนง เนื่องจากผมเป็นนักกิจกรรมมากกว่าทำงานศิลปะ ถ้าเรามาอยู่ที่นี่ เราไม่ช่วยทำให้ชุมชนน่าอยู่ ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ในบทบาทของอาจารย์สอนศิลปะคือ การใช้อาวุธทางศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ รณรงค์ให้เกิดกิจกรรมดี ๆ ขึ้นในชุมชน”

สำหรับอาจารย์ตู่แล้ว บ้านมีความหมายไม่เพียงสำหรับตัวเองเท่านั้น อาจารย์ตู่เล่านิยามของคำว่าบ้านในแบบของตนเองให้ฟังว่า

  “บ้านในความหมายของผมคือที่อยู่อาศัยในช่วง ๆ หนึ่งที่เรามีโอกาสได้สร้างมันขึ้นมา เป็นที่หลบฟ้าหลบฝนหลบแดด ทำให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาว เหมือนเราอยู่ในท้องแม่ หรือเราไปอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น มันทำให้เรามีความสุข มีชีวิตชีวา บ้านก็เป็นแบบนั้น ไม่ใช่เป็นแค่กล่องสี่เหลี่ยม เป็นอะไรที่เราสามารถปรับเปลี่ยน อย่างที่ออกแบบ คือพยายามไม่กั้นห้อง เพื่อให้ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน วันดีคืนดีถ้ามีคนมาเยี่ยมเยือนเยอะ ๆ บ้านอาจถูกปรับให้เป็นโรงละครก็ได้ เอาเสื่อมาปูใช้นั่งดูละคร พบปะพูดคุย หรือเดินไปมาหากันได้ตลอดเวลา”

"อาจารย์ตู่ตั้งใจให้ชื่อ “Edelweiss” เป็นชื่อบ้าน เพราะต้องการให้บ้านเป็นเหมือนความรักและสันติภาพของผู้คนที่ผ่านเข้ามาใช้ชีวิต ซึ่งพ้องกับความหมายของชื่อดอก Edelweiss ที่หมายถึงความกล้าหาญ เสียสละ และความรักที่บริสุทธิ์"
“อาจารย์ตู่ตั้งใจให้ชื่อ “Edelweiss” เป็นชื่อบ้าน เพราะต้องการให้บ้านเป็นเหมือนความรักและสันติภาพของผู้คนที่ผ่านเข้ามาใช้ชีวิต ซึ่งพ้องกับความหมายของชื่อดอก Edelweiss ที่หมายถึงความกล้าหาญ เสียสละ และความรักที่บริสุทธิ์”
โถงทางเข้าบ้านยังทำหน้าที่เป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะส่วนตัวของอาจารย์ตู่ รูปแบบผลงานส่วนใหญ่เป็นงานสมัยใหม่ ถ่ายทอดผ่านสื่อหลายแขนง ทั้งภาพจิตรกรรม ภาพพิมพ์ประติมากรรม ศิลปะแบบจัดวางสื่อผสม รวมถึงวิดีโอด้วย
โถงทางเข้าบ้านยังทำหน้าที่เป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะส่วนตัวของอาจารย์ตู่ รูปแบบผลงานส่วนใหญ่เป็นงานสมัยใหม่ ถ่ายทอดผ่านสื่อหลายแขนง ทั้งภาพจิตรกรรม ภาพพิมพ์ประติมากรรม ศิลปะแบบจัดวางสื่อผสม รวมถึงวิดีโอด้วย
Double Volume เป็นโจทย์หนึ่งที่อาจารย์ตู่มอบหมายให้สถาปนิก เนื่องจากต้องการความสูงและการเปิดโล่ง ทั้งยังเชื่อมต่อกับระเบียงภายในบ้าน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง
Double Volume เป็นโจทย์หนึ่งที่อาจารย์ตู่มอบหมายให้สถาปนิก เนื่องจากต้องการความสูงและการเปิดโล่ง ทั้งยังเชื่อมต่อกับระเบียงภายในบ้าน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง
พื้น ผนัง ไปจนถึงเพดานเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีพื้นที่เข้าได้กับทุกสีจึงสามารถจัดแสดงผลงานได้ทุกสไตล์ แต่ก็เบรกด้วยสีไม้ธรรมชาติของบันไดไม่ให้ดูขาวโพลนมากจนเกินไป
พื้น ผนัง ไปจนถึงเพดานเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีพื้นที่เข้าได้กับทุกสีจึงสามารถจัดแสดงผลงานได้ทุกสไตล์ แต่ก็เบรกด้วยสีไม้ธรรมชาติของบันไดไม่ให้ดูขาวโพลนมากจนเกินไป
จากทางเข้าเราจะเห็นทั้งอาคารแกลเลอรี่และสตูดิโอได้ชัดเจน เป็นอาคารโมเดิร์นสองชั้นเปิดช่องแสงด้วยกระจกสูงโดยรอบ และมีทางเดินยาว เชื่อมเข้าสู่ส่วนพักอาศัย
จากทางเข้าเราจะเห็นทั้งอาคารแกลเลอรี่และสตูดิโอได้ชัดเจน เป็นอาคารโมเดิร์นสองชั้นเปิดช่องแสงด้วยกระจกสูงโดยรอบ และมีทางเดินยาว เชื่อมเข้าสู่ส่วนพักอาศัย

เรื่อง : skiixy
ภาพ : จิระศักดิ์, ดำรง
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : July 2015 No.149