มากกว่าอารมณ์ขัน
แน่นอนแล้วว่าขายหัวเราะนั้นได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์และประวัติศาสตร์แทบทุกหน้าในประเทศไทยและทั่วโลก โดยนอกจากความคิดความเชื่อรอบบ้านรอบสวน ขายหัวเราะยังได้บันทึกเหตุการณ์ทางสังคมอย่าง ช่วงสภาวะโรคระบาด ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่เรื่อยมา
โดยพิมพ์พิชา อุตสาหจิต กล่าวว่า “ขายหัวเราะมีจุดยืนที่เน้นไปที่การให้กำลังใจ การชวนมองหาความขบขันในสถานการณ์วิกฤต รวมถึงการใช้การ์ตูนสร้างสรรค์พลังบวกให้กับสังคม” ดังที่พิมพ์พิชากล่าวว่า บทบาทของขายหัวเราะในปัจจุบันนั้นได้ก้าวไปไกลกว่าการเป็นเพียงหนังสือการ์ตูนคลายเครียดแล้ว
“ขายหัวเราะมองตัวเองเป็นแบรนด์คอนเท้นต์ไม่ได้มองว่าเป็นการ์ตูนเล่มเพราะฉะนั้นขายหัวเราะสามารถอยู่ได้ทุกแพลตฟอร์มอยู่และเป้าหมายของเราก็คือเราจะไปอยู่ในทุกช่องทางที่ใกล้ชิดกับผู้อ่านเพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของผู้อ่านจะใช้ชีวิตกับอะไรอยู่ตรงไหนขายหัวเราะก็พร้อมจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มนั้นเสมอ” พิมพ์พิชาว่า
“การ์ตูนของเราเป็นการ์ตูนที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัยปลอดภัยและสบายใจกับทุกคนเรามีการ์ตูนที่เป็น Edutainment Comic หรือการ์ตูนที่เสริมสร้างการเรียนรู้ (มาจากคำว่า Education ผสมกับ Entertainment)
“หลาย ๆ คนบอกเราว่า ตอนเด็ก ๆ เขาเข้าใจเรื่องวรรณคดีมากขึ้นนะ หรือว่าสอบวิชาภาษาไทยได้คะแนนดีจากการอ่านการ์ตูนสามก๊กที่เขียนโดยพี่หมู (สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์) หรือการ์ตูนรามาวตาร ที่เขียนโดยพี่เฟน (อารีเฟน ฮะซานี) หรือว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา ขายหัวเราะก็ได้ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันตัวเองจากโควิด ที่เราทำกับ WHO และ UN ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับการเผยแพร่และแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ภาษาอื่น ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
จึงนอกจากหนังสือเล่มที่ตีพิมพ์เป็นรายเดือน ลายเส้น ตัวละครของขายหัวเราะ และการ์ตูนในเครือนั้น ในปัจจุบันได้ขยายไปสู่สื่อรูปแบบใหม่ทั้ง Facebook, Instagram, Tiktok, สติ๊กเกอร์ Line รวมถึงในรูปแบบแอนิเมชั่น ของที่ระลึกต่าง ๆ และมีการนำแก๊กไปเล่าในรูปแบบอื่นนอกจากการ์ตูนในรูปแบบพอดแคสต์ รวมถึงการจัดอีเว้นต์ดึงคนมาสัมผัสอารมณ์ขันในโลกความจริงอย่างกิจกรรมวิ่งมาราธอน
และก็ดังที่พิมพ์พิชากล่าว ลายเส้นและตัวละครของบรรดานักเขียนได้ก้าวข้ามเส้นของการเป็นเพียงเรื่องตลก แต่ยังสามารถให้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แก่สังคมได้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ตัวละครแต่ละตัวเองก็อาจคาดไม่ถึง
“ถ้าหากเราใช้ฟังก์ชันหรือจุดแข็งของตัวการ์ตูนในด้านดีมันก็จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในแง่บวกให้กับสังคมได้ซึ่งอันนี้ก็เป็นจุดยืนแล้วก็เป็นจรรยาบรรณของเราว่าเราจะดูแลผู้อ่านไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม”
—-
เรื่อง : กรกฎา
ภาพ : คลังภาพจากนิตยสารขายหัวเราะ
—-
อ้างอิงข้อมูลจาก
นันทวรรณ ทองเตี่ยง: “นัยแฝงในอารมณ์ขันผ่านนิตยสารขายหัวเราะ พ.ศ.2559” วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปีที่ 7 (2563)
ภาวดี สายสุวรรณ: “ค่านิยมที่สะท้อนในมุขตลกในการ์ตูนช่องของไทย” วารสารดำรงวิชาการประจำเดือน มิ.ย. – ธ.ค. ปีพ.ศ.2553
กาญจนา เจริญเกียรติบวร: “การวิเคราะห์วาทกรรมเรื่องตลกภาษาไทย” วิทยานิพนธ์หลักสูตร์ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2548)
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร, ฐิตาภา อินทปันตี, ปาริฉัตร หนูเซ่ง, นุชกานต์ กาญจนพันธุ์, สิริรัช ยาวิลาศ: “ความหมายของคาว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน” วารสาร Veridian E Journal บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2558
a day ปีที่ 9 ฉบับที่ 98 ขายหัวเราะ ตุลาคม 2551
ยรรยง บุญ-หลง: กรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ (Bangkok: Handmade Transit)
แบบสำรวจสรุปจำนวนสุนัข แมว โครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีพ.ศ. 2559 สำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 (drive.google.com/file/d/0B7E7iFEFocNjOUxrZ0VQUnVILUE/)
TomTom Traffic Index (www.tomtom.com)
ซีรีส์สัมมนาชุด “ความเหลื่อมล้ำหลากมิติ” หัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำในมิติผังเมือง” โดย ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 เวลา 13.30 – 15.30 น. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) (https://youtu.be/k1O8_qWJi5Q)
ฮันนา บีช: “ถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนจน” The New York Times, 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 (www.nytimes.com/th/2019/08/20/world/asia/thailand-road-deaths.html)
รู้ลึกกับจุฬาฯ: “ความเหลื่อมล้ำบนท้องถนนไทย” คมชัดลึก ปีที่ 18 ฉบับที่ 6411 วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2562
สสส. x 101: This is My Family (www.the101.world/spotlight-this-is-my-family)