การได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวเปรียบเหมือนกับการเติมเต็มพลังใจในทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่าชีวิตส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ แต่ความผูกพันกับเมืองไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผู้เป็นแม่ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ครอบครัว Joly จึงเลือกทำเลใกล้กับที่พักของคุณยาย เพื่อเนรมิตบ้านอีกหลังของครอบครัว โดยคุณมาร์ติน โจลี่ ลูกชายซึ่งทำงานสอนภาษาอังกฤษ เป็นเจ้าของบ้านในขณะนี้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Stu/D/O Architects
ด้วยข้อจำกัดของขอบเขตที่ดินขนาดเล็กท่ามกลางชุมชนใจกลางกรุงเทพฯ อันแสนวุ่นวาย บวกกับความต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นเหมือนบ้านพักตากอากาศ คุณดิว – ชนาสิต ชลศึกษ์ สถาปนิกแห่ง Stu/D/O Architects จึงออกแบบโดยการเลือกยกพื้นที่ส่วนพักอาศัยขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน และใช้ประโยชน์จากสวนสีเขียวครึ้มของบ้านฝั่งตรงข้าม เพื่อสร้างมุมมองธรรมชาติแสนสบายตา รวมทั้งอาศัยปัจจัยเรื่องทิศทางแดด และลมในการวางผังอาคาร
“คอนเซ็ปต์ของการออกแบบ เรียกว่า Layer Atmosphere ต้องการให้เกิดบรรยากาศ และความรู้สึกประทับใจตั้งแต่เข้ามาถึงพื้นที่แต่ละส่วนในบ้าน” เริ่มจากการสร้างความประทับใจแรกทันทีที่เข้ามาเยือน ด้วยการเจาะฝ้าเพดานทำหน้าที่ร่วมกับเป็นพื้นของสระว่ายน้ำ ทำให้เกิดเป็นเอฟเฟ็คท์จากพรายน้ำในสระตกกระทบลงบนพื้นและผนังของที่จอดรถซึ่งค่อนข้างเตี้ยและมืด ขัดแย้งกับพื้นที่ถัดมา คือโถงทางเข้าที่สูงถึง 4 เมตร โอบล้อมด้วยกระจกใสเชื่อมต่อออกไปยังส่วนหย่อมหน้าบ้าน
ขึ้นมายังชั้น 2 จากความต้องการส่วนพักผ่อนที่เย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงเรื่องการไหลเวียนอากาศเป็นหลัก ความพิเศษของพื้นที่ส่วนนี้ คือการจัดผังอาคารรูปตัวแอล (L) แบบ open plan โดยเชื่อมต่อทัศนียภาพออกสู่สระว่ายน้ำด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ สามารถทอดสายตาต่อเนื่องไปยังพื้นที่สีเขียวนอกบ้านทะลุผ่านราวกระจกเทมเปอร์ใส ไม่มีอะไรมาบดบังสายตา
ความโดดเด่นในงานสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้อยู่ที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นระแนงไม้ธรรมชาติจัดเรียงเป็นจังหวะสม่ำเสมอโอบล้อมรอบตัวอาคารทั้งหมดเอาไว้
“แผงบานเกล็ดไม้นี้ มาจากการตอบโจทย์ข้อแรกที่ต้องการปกปิดบ้านในช่วงที่ไม่มีคนอยู่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ปกป้องเฟอร์นิเจอร์จากแสงแดด อีกทั้งยังสร้างแสงและเงาที่น่าสนใจให้งานตกแต่งภายใน และเนื่องจากเป็นชั้นบนสุดของบ้านที่ได้รับรังสีความร้อนจากหลังคาโดยตรง จึงดีไซน์ให้บางส่วนของแผงบานเกล็ดไม้เป็นบานเฟี้ยมแบบเปิด-ปิดได้ เพื่อการระบายความร้อน และช่วยบังแสงให้หน้าต่างกระจกและอาคารอีกทีหนึ่ง”
จากงานสถาปัตยกรรมภายนอกสะท้อนเข้าสู่งานออกแบบภายในจากฝีมือของ คุณเอ – อรรถพล วิบูลยานนท์ แห่ง ATTA Interior Architects
“งานอินทีเรียร์ของบ้านหลังนี้เริ่มทำในช่วงที่เห็นฟอร์มของอาคารค่อนข้างชัดเจนแล้ว เป็นบ้านที่เน้นฟังก์ชันเป็นหลัก จึงหยิบเอาความเป็นโมเดิร์นที่มีดีไซน์ไม่เยอะ และไม่น้อยเกินไปมาสานต่อ อย่างการเลือกโทนสีให้สอดคล้องกับงานภายนอก เช่น การเน้นงานไม้ หรือการแทนค่าสีเทาลงในดีเทลของวัสดุที่หลากหลาย อย่างสีพ่นไฮกลอส ลามิเนต และหิน”
การออกแบบและเลือกใช้วัสดุจึงแปรผันตามการใช้งาน อย่างการเลือกใช้ลามิเนตเป็นวัสดุปิดผิวหลัก เพราะมีความทนทาน ใช้งานได้จริง และมีการสร้างฟังก์ชันเฉพาะแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ โดยภายในห้องน้ำทุกห้องจะมีตู้หนึ่งบานที่เป็นเหมือนปล่อง สำหรับโยนผ้าให้ลงไปถึงห้องซักรีดได้พอดี รวมถึงการเปิดเผยพื้นผิวแท้จริงของโครงสร้าง อย่างเสาเหล็กไอบีมทำสีดำ ใช้ร่วมกับโครงสร้างคอนกรีตในส่วนที่ต้องการลดความหนาของคานยื่น นับเป็นการผสานประโยชน์ใช้สอยร่วมกับงานออกแบบอย่างลงตัว
และผลลัพธ์จากทุกดีเทลในงานดีไซน์แสดงผลอันพึงพอใจให้กับสมาชิกในครอบครัว ความสุขเริ่มต้นง่าย ๆ จากการพักผ่อนภายในบ้านอย่างเงียบสงบในบรรยากาศแสนสบายท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของเมืองหลวง
/ ผมโชคดีมากที่ได้อยู่บ้านแบบนี้ใจกลางมหานคร เป็นสถานที่ที่ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย เพราะมีส่วนเปิดโล่งมากมาย อย่างหน้าต่างบานใหญ่ซึ่งเปิดออกได้ทุกครั้งที่ต้องการแสงธรรมชาติและอากาศเข้าสู่ตัวบ้าน แล้วผมก็พบว่าตัวเองใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น /
เรื่อง : skiixy
ภาพ : ดำรง, นันทิยา