Jingdezhen Imperial Kiln Museum พิพิธภัณฑ์ในคราบถ้ำอิฐโค้งรูปทรงเตาเผาโบราณ ที่สะท้อนตัวตนและวัฒนธรรมของชาวจิ่งเต๋อเจิ้นได้อย่างเด่นชัด
Jingdezhen Imperial Kiln Museum ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา หรือ “Porcelain Capital” ในมณฑลเจียงซี ประเทศจีน ซึ่งที่จิ่งเต๋อเจิ้นนั้นมีชุมชนโรงงานผลิตและส่งออกเครื่องเคลือบดินเผาที่สืบสานภูมิปัญญากันมานานกว่า 1,700 ปี นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิงตั้งอยู่มากมาย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับถ้ำอิฐทรงโค้งหลากหลายขนาดและความยาว วางตัวเรียงรายต่อกันเป็นกลุ่มก้อน แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Studio Zhu-Pei ได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบเตาเผาอิฐโบราณ วางคร่อมไปบนพื้นที่โล่งกว้างกว่า 10,370 ตารางเมตร ซึ่งปรากฏให้เห็นเศษซากปรักหักพังของเตาเผาอิฐบางส่วนที่ถูกค้นพบในระหว่างการก่อสร้าง
ตัวอาคารออกแบบอิงจากสภาพอากาศตามฤดูกาลในจิ่งเต๋อเจิ้น จึงสามารถป้องกันฝนและช่วยระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้ในเวลากลางวันยังโดดเด่นด้วยเงาสะท้อนแนวคลื่นจากบ่อน้ำ รวมถึงเส้นแสงที่ลอดผ่านช่องเปิดของอาคารมาฉาบไล้ลงบนผนังอิฐ
ผู้ออกแบบนำความประทับใจจากเตาเผาโบราณ และแนวความคิดในการออกแบบฉบับดั้งเดิมมาเป็นสารตั้งต้น เพราะที่จิ่งเต๋อเจิ้นนั้นผู้คนมักใช้อิฐจากการสร้างเตาเผากลับมาใช้สร้างบ้านเรือนอีกครา เนื่องจากเตาเผาโบราณนั้นจะต้องมีการรื้ออิฐที่ใช้ก่อสร้างทุก 2-3 ปีครั้ง เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการระบายความร้อนของเตาให้มีเสถียรภาพ
ดังนั้นตัวโครงสร้างคอนกรีตหล่อทรงโค้งซึ่งก่อผนังอิฐปิดทับผิวหน้าที่เห็นนี้ สถาปนิกจึงเลือกที่จะนำอิฐจากเตาเผากลับมาใช้ร่วมกับอิฐที่เผาขึ้นใหม่ นอกจากจะเป็นการเคารพต่อวัฒนธรรมการก่อสร้างในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการอ้างอิงไปถึงประโยชน์ทางอ้อมของอิฐ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในสมัยอดีตซึ่งเด็ก ๆ จะชอบนำอิฐอุ่น ๆ จากเตาเผามาใส่ไว้ในกระเป๋านักเรียน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายในช่วงฤดูหนาวอันเย็นยะเยือกอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์นี้ออกแบบพื้นที่ภายนอกและภายในเชื่อมโยงกัน เอื้อสำหรับผู้ชมได้พบประสบการณ์จากเศษซากและเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน รวมถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบตัวผ่านประสาทสัมผัสอย่างรูปลักษณ์-กลิ่น-เสียงได้ 360 องศา
.
ทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์วางตำแหน่งอิงแนวถนนในจิ่งเต๋อเจิ้นฝั่งทิศเหนือ-ใต้ ผ่านสระน้ำและสะพานที่เชื่อมต่อมาจากบริเวณ Imperial Kiln Relic Park ตัดตรงเข้ามายังโถงของอาคาร ลานจัดนิทรรศการ ร้านหนังสือ คาเฟ่ ห้องจิบชา ห้องประชุม ต่อไปสู่ห้องใต้ดิน และจุดชมซากปรักหักพังกลางคอร์ตยาร์ดต่างระดับ 5 จุดที่ตั้งชื่อโดยอ้างอิงเทคนิคการทำเครื่องเคลือบดินเผา ได้แก่ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ และดิน
จิ่งเต๋อเจิ้นเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวรวยรุ่มประวัติศาสตร์ของจีนที่น่ามาเยือนสักครั้งในชีวิต ที่นี่เป็นแหล่งส่งออกเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมากไปสู่ตลาดยุโรป และไม่น่าแปลกใจที่พิพิธภัณฑ์ในคราบถ้ำอิฐโค้งรูปทรงเตาเผาโบราณแห่งนี้จะสะท้อนตัวตนและวัฒนธรรมของชาวจิ่งเต๋อเจิ้นได้อย่างเด่นชัด
เจ้าของ: Jingdezhen Municipal Bureau of Culture Radio Television Press Publication and Tourism, Jingdezhen Ceramic Culture Tourism Group
ออกแบบสถาปัตยกรรม-สถาปัตยกรรมภายใน-ภูมิสถาปัตยกรรม: Studio Zhu-Pei นำโดย Zhu Pei ร่วมด้วย Architectural Design and Research Institute of Tsinghua University
ทีมเบื้องหลัง/ทีมออกแบบ: Zhou Rong (Front Criticism), Wang Mingxian, Li Xiangning (Art Consultant), You Changchen, Han Mo, He Fan, Shuhei Nakamura, Liu Ling, Wu Zhigang, Zhang Shun, Du Yang, Yang Shengchen, Chen Yida, He Chenglong, Ding Xinyue
ที่ปรึกษาด้านโครงสร้าง, งานระบบในอาคาร และอาคารเขียว: Architectural Design and Research Institute of Tsinghua University
ฟาซาด: Shenzhen Dadi Facade Technology CO., LTD.
แสงสว่าง: Ning Field Lighting Design CO., LTD.
แผ่นอะคูสติก: Building Science & Technology Institute, Zhejiang University
ก่อสร้าง: China Construction First Group Corporation Limited, Huajiang Construction CO., LTD of China Construction First Group
เรียบเรียง: ND24
ภาพ: schranimage, Tian Fangfang, Zhang Qinquan, courtesy of Studio Zhu-Pei
เนื้อหาและภาพที่ปรากฏในบทความนี้ได้รับอนุญาตในการเผยแพร่โดยสถาปนิก ผ่านเอกสารประชาสัมพันธ์จาก v2com แล้ว room ขอสงวนสิทธิ์ในการนำเนื้อหาที่เรียบเรียงโดยกองบรรณาธิการไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต