LITTLE ISLAND สวนสาธารณะลอยน้ำที่เดินเชื่อมได้จากแผ่นดินที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งตั้งอยู่กลางแม่น้ำฮัดสัน บริเวณท่าเรือ Pier 55
สวนสาธารณะแห่งนี้มีชื่อว่า Little Island เปรียบเสมือนเกาะที่พักพิงของมนุษย์และสัตว์ป่า ทั้งยังมีพื้นที่จัดแสดง 3 ลาน อยู่บนเกาะ โดยตัวสวนสามารถเดินข้ามมาจากฝั่งตะวันตกตอนล่างของแมนฮัตตันได้เลย สำหรับจุดเด่นของสวนแห่งนี้คือการออกแบบโครงสร้างที่ดูเหมือนกระถางต้นไม้ขนาดยักษ์จำนวน 132 กระถาง เรียงต่อกัน แล้วมีโอเอซิสสีเขียวท็อปปิ้งอยู่ด้านบน ซึ่งไอเดียของรูปทรงที่เกิดขึ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากเสาไม้เก่าที่ปักอยู่ในน้ำบริเวณท่าเรือ นำมาสู่การขบคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไร หากทำพื้นผิวในรูปแบบของออแกนิกฟอร์มเหมือนเสาไม้ที่มีระดับความสูงแตกต่างกัน แทนที่จะเป็นพื้นผิวเรียบ ๆ เหมือนสวนทั่วไป
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากคุณ Barry Diller และสวนสาธารณะแม่น้ำฮัดสันที่วางใจให้ Heatherwick Studio สตูดิโอออกแบบมากความสามารถซึ่งมีผลงานอันเป็นที่รู้จักทั้งในนิวยอร์กและเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก มาสร้างสรรค์พาวิเลียนสำหรับท่าเรือใหม่ในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแมนฮัตตัน แต่แทนที่จะออกแบบเพียงสตรีทเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ตกแต่งในสวนสาธารณะ ทีมออกแบบกลับเล็งเห็นถึงโอกาสอันสำคัญนี้ในการหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับท่าเรือ โดยให้ความสำคัญไปที่การสร้างประสบการณ์แก่ผู้คนจะได้รับเมื่อมาเยือนสวนสาธารณะแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้นของการเป็นสวนเหนือผืนน้ำ ความรู้สึกของการทิ้งเมืองใหญ่ไว้เบื้องหลัง และเสพบรรยากาศท่ามกลางความเขียวชอุ่ม จนทำให้คุณลืมไปเลยว่ากำลังอาศัยอยู่ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศ
ด้วยรูปแบบของท่าเรือที่จำเป็นต้องราบเรียบสำหรับให้เรือเทียบท่า แต่ในเมื่อสิ่งนี้คือสวนสาธารณะ ทีมผู้ออกแบบจึงเนรมิตภูมิประเทศใหม่ให้กับเมืองด้วยการสร้างรูปทรงที่มีความหลากหลายของพื้นที่ จากไอเดียแรกที่นึกถึงรูปทรงโค้งมนของใบไม้ที่ชูก้านลอยอยู่เหนือผืนน้ำ โดยรูปทรงดังกล่าวก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเสาไม้บริเวณริมท่าเรือซึ่งนานวันเข้า แท่งไม้เหล่านี้ก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และช่วยปกป้องแหล่งเพาะพันธุ์ปลาไปในตัว
ในส่วนของโครงสร้างที่เกิดขึ้น เสาเข็มที่ลงใหม่นี้จำเป็นที่จะต้องรองรับท่าเรือได้ทุกรูปแบบ จึงได้ทำการเจาะเสาเข็มให้ลึกลงไปจนถึงชั้นหินใต้น้ำกว่า 200 ฟุต โดยเสาทุกต้นถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักของกระถางคอนกรีตยักษ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นพื้นผิวของสวน เสาแต่ละต้นมีความสูงไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับระดับของพื้นที่สวน บริเวณมุมสวนถูกยกให้สูงกว่าด้านอื่น ๆ เพื่อให้แสงอาทิตย์ยังส่องเข้าไปยังที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำข้างใต้ได้ รวมไปถึงบริเวณขอบที่ลาดลงจำลองบรรยากาศของเนินเขา จุดชมวิว ผ่านรูปแบบของแอมฟิเธียร์เตอร์สำหรับพื้นที่การแสดง
กระถางยักษ์เหล่านี้เป็นรูปแบบคอนกรีตหล่อสำเร็จรูป ที่ขนส่งมาทางเรือพร้อมนำมาประกอบหน้างานได้เลย เพื่อไม่เป็นการรบกวนการจราจรของเมือง เนื่องจากขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ โดยแต่ละชิ้นส่วนผู้ออกแบบได้ให้ความสำคัญกับพื้นผิวให้มีความเรียบเนียนโค้งมน ซึ่งเป็นผิวสัมผัสที่ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นได้ทั้งจากระยะไกลและใกล้ รวมถึงเป็นพื้นผิวของโครงสร้างที่เป็นหนึ่งเดียวกับการใช้งานตั้งแต่ก้าวเข้ามาในสวน แล้วรู้หรือไม่ว่ารูปแบบของกระถางที่นำมาต่อกันนี้ ได้มาจากการสังเกตภาพของน้ำแข็งเวลาเกาะตัวอยู่รอบ ๆ เสาไม้ที่ดูเหมือนโมเสกชิ้นเล็ก ๆ มาเรียงต่อกัน จึงเป็นที่มาของรูปแบบออร์แกนิกจากการใช้องค์ประกอบแบบซ้ำ ๆ บนกระถางถูกเติมเต็มด้วยต้นไม้นานาพรรณที่แตกต่างกันกว่าร้อยสายพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น และไม้พื้นเมือง เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และเอื้อต่อการเจริญเติบโตในสภาพภูมิอากาศของเมืองนิวยอร์ก แต่ละมุมของเกาะต้องการนำเสนอสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
สุดท้ายแล้วเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ หวังให้เป็นที่หยุดพักและหลบหนีความวุ่นวายของแมนฮัตตัน ได้เป็นที่ให้ชาวนิวยอร์ก และนั่งท่องเที่ยวได้เดินข้ามมานอนเล่นใต้ต้นไม้ นั่งดูการแสดง รอดูพระอาทิตย์ตกดิน ที่สำคัญคือได้สัมผัสกับผืนน้ำและธรรมชาติรอบ ๆ ตัว
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: MNLA
สถาปนิกบริหาร: Standard Architects
ภาพ: Timothy Schenck
เรียบเรียง: BRL