ได้ยินครั้งแรกก็แปลกใจว่าด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ สมัยนี้ คงจะยากสำหรับใครหลายคนหากไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ แต่มื่อได้พูดคุยกับสถาปนิก คุณวรา จิตรประทักษ์ และ คุณนภสร เกียรติวิญญู สองสถาปนิกจาก Plan Architect ผู้ออกแบบอาคาร หอพักพยาบาล ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หลังนี้ จึงเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเกิดจากการเข้าใจไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน ซึ่งก็คือพยาบาลอย่างละเอียด
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Plan Architect
“พยาบาลที่จะได้อยู่ในหอพักนี้ เป็นพยาบาลโสด ซึ่งโจทย์ที่ได้รับฟังมาคำแรกคือต้องการประหยัดค่าไฟฟ้าจากการเปิดเครื่องปรับอากาศ ด้วยความที่ทำงานหนักและติดต่อกับผู้คนตลอดวัน จึงต้องการความเป็นส่วนตัวสูงหลังจากเลิกงาน เพราะต้องอยู่กับรูมเมต โดยจะดีมากถ้ามีพื้นที่ให้พวกเขาสามารถปลูกต้นไม้ได้” คุณวรา เริ่มอธิบายชีวิตพยาบาลซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบโครงการ หอพักพยาบาล ตั้งแต่การการวางผังอาคาร ไปจนถึงการจัดวางเตียงในห้องพัก
คุณวรา และคุณนภสร เริ่มเล่าต่อถึงการวางตัวอาคารให้ขนานติดกับถนนหลักภายในโรงพยาบาล โดยสร้างบนพื้นที่เดิมซึ่งเป็นอาคารหอพักพยาบาลหลังเก่าสูง 4 ชั้น และจากการศึกษาพื้นที่โดยรอบเพิ่มเติมพบว่า มีสวนหย่อม ลานจอดรถ และทางเดินของคนกระจัดกระจาย การวางอาคารหอพักหลังใหม่นี้ ทำให้เปิดพื้นที่สวนด้านหลัง ให้เชื่อมต่อกับอาคารหอพักโดยรอบทั้งหมด เกิดเป็นคอร์ตขนาดใหญ่ตรงกลาง นอกจากพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นแล้ว ทางสัญจรของคนเดิน และรถยนต์ ของทั้งอาคารหอพักหลังใหม่ และอาคารอื่นรอบ ๆ คอร์ตก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน
ความรู้สึกเมื่อเดินเข้ามาในอาคารแตกต่างจากเมื่อมองจากข้างนอก เมื่อเข้ามาแล้วพบว่า ตัวอาคารถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง แหงนมองขึ้นไปจากจุดที่ยืนกลางคอร์ตอาคาร เห็นทางเดินเข้าสู่ห้องพักโดยรอบทุกชั้น ช่องแสงส่องลงมาจากหลังคาด้านบนให้ความรู้สึกโปร่งสบาย
คอร์ตตรงกลางนี้นอกจากจะให้แสงธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคารแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นปล่องลมกลางอาคาร โดยเมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น ช่องลมจากด้านล่าง และตรงกลางจะพาลมเย็นเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดอากาศถ่ายเทตลอดเวลาภายในอาคาร
ขึ้นมาถึงส่วนกลางของอาคาร ตำแหน่งตรงนี้ก็คือช่องลมกลางอาคารที่พูดถึง เมื่อมองจากภายนอกดูคล้าย ๆ เครื่องหมายบวก ซึ่งเป็นความตั้งใจของสถาปนิกทั้งสองท่านที่ต้องการให้อาคารนี้มีสัญลักษณ์อุณาโลมแดง หรือเครื่องหมายบวกสีแดงของสภากาชาดไทย แต่การจะนำเครื่องหมายบวกมาใช้ตรง ๆ ก็ดูจะน่าเบื่อ จึงมีการลดทอนความเป็นเหลี่ยมมุมของสัญลักษณ์ และใช้สีน้ำตาล เพื่อให้แตกต่างจากสีขาวของตัวอาคาร
พื้นที่ตรงตำแหน่งสัญลักษณ์อุณาโลมแดง นอกจากจะเป็นช่องลมที่ดึงลมเย็นเข้ามาภายในอาคารแล้ว ยังเป็นพื้นที่ส่วนกลาง 3-4 ชั้น เชื่อมด้วยบันไดสีขาว เหล่าพยาบาลสามารถมานั่งเล่น อ่านหนังสือ และเดินเล่นได้ การใช้สีที่พื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลเข้มที่ผนังและเพดาน รวมถึงตัวโครงสร้างเสาคานทั้งหมด ช่วยให้พื้นที่โดยรวมรู้สึกถึงความผ่อนคลายและอบอุ่น อีกทั้งเมื่อแสงตกกระทบผ่านตัวโครงสร้างเสาและคานเข้ามาในอาคาร ยังทำให้พื้นที่เกิดมิติน่าสนใจ
พยาบาลโสดทุกคนที่ได้พักอยู่หอพักนี้จะต้องมีรูมเมตที่สุ่มเลือก เพราะฉะนั้นความเป็นส่วนตัวของห้องพักจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องขบคิด
“เราแบ่งแปลนห้องพักออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีห้องน้ำ และห้องครัวที่ใช้ร่วมกัน โดยมีประตูบานเลื่อนเป็นฉากกั้นก่อนจะไปถึงโซนห้องนอน ตอนพัฒนาแบบห้องนอน เรามีการวางแนวเตียงไปให้เลือกหลายแบบ จนมาลงตัวที่การวางหัวเตียงให้อยู่คนละฝั่ง และมีทางเดินตรงกลาง ตอบโจทย์เรื่องการใช้พื้นที่และความเป็นส่วนตัวมากที่สุด”
การวางหัวเตียงนอนคนละฝั่งเช่นนี้ ช่วยให้พยาบาลทั้งสองมีพื้นที่นอนเป็นส่วนตัว ส่วนฟังก์ชันอื่นที่ตามมา เช่น โต๊ะอ่านหนังสือ แต่งหน้า และตู้เสื้อผ้า ถูกกำหนดให้อยู่คนละฝั่งอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้พยาบาลทั้งสองมีอาณาจักรย่อม ๆ ของตัวเอง อีกทั้งการจัดห้องลักษณะนี้ ยังไม่ต้องเกี่ยงกันว่าใครจะนอนด้านในหรือด้านนอก เพราะทั้งสองคนต่างก็ได้รับแสง ลม และวิวภายนอกเท่าเทียมกัน
บริเวณระเบียงน่าจะเป็นอีกจุดที่พยาบาลหลายคนชื่นชอบไม่น้อย เมื่อเปิดประตูบานเลื่อนเดินออกมาจะมีระเบียงฟอร์มเป็นสามเหลี่ยม สามารถเดินไปเกาะระเบียงชมวิวได้ทั้งซ้าย-ขวา เป็นการเปิดมุมมองได้กว้างขึ้น และเบี่ยงสายตาไม่ต้องประชันกับอาคารที่อยู่ด้านหน้าโดยตรง นอกจากนี้พื้นที่ระเบียงยังทั้งกว้างและลึก เพียงพอที่จะให้ปลูกต้นไม้ หรือตากผ้ากันคนละด้าน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการมองเห็นจากอาคารหลังอื่น เพราะเปลือกอาคารอะลูมิเนียมสีขาวเจาะรู ฟอร์มเหมือนฟันปลาหักไปมา นี้ ทำหน้าที่ช่วยพรางสายตาระหว่างห้องพักกับอาคารข้างเคียง อีกทั้งการออกแบบให้ฟอร์มฟันปลาที่เหลื่อมกันระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง ยังช่วยบังแสงไม่ให้ตกกระทบเข้าสู่ห้องพักโดยตรงอีกด้วย ส่งผลให้ช่วงกลางวันห้องพักจะไม่อมความร้อนมากเกินไป
หอพักพยาบาลหลังนี้เปิดใช้งานแล้ว เชื่อว่าชีวิตของพยาบาลหลายคนคงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยอยู่ในหอพักเดิมหลังเก่า และก็เชื่ออีกว่าเมื่อย้ายเข้ามาหอพักหลังใหม่นี้แล้ว คงไม่ถึงขั้นไม่เปิดเครื่องปรับอากาศกันทุกคนหรอก เพราะความรู้สึกร้อนหนาวแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยในวันช่วงวันหยุดสบาย ๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีอากาศเย็นนิด ๆ คงได้เปิดหน้าต่างบานเลื่อนจนสุดให้อากาศถ่ายเทเข้ามาในห้อง ออกไปตากผ้า นั่งดูต้นไม้ที่ปลูกไว้ตรงระเบียงกันบ้างแน่นอน ถือเป็นอีกสวัสดิการดี ที่โรงพยาบาลมีให้
และหอพักหลังนี้ก็ได้เปลี่ยนภาพจำเดิมของหอพักแบบเดิม ๆ ที่มักจะมืด มีไฟเปิดสลัว ดูอึดอัด ไปอย่างสิ้นเชิง
ออกแบบ : วรา จิตรประทักษ์ และนภสร เกียรติวิญญู จาก Plan Architect
เรื่อง : เจนศิลป์ พัฒนยินดี
ภาพ : PanoramicStudio
โรงเรียน ที่เน้นเล่นเพื่อเรียน(รู้) Kensington Learning Space