Amornyont รีโนเวทตึกแถว สู่พื้นที่ของครอบครัวและธุรกิจ - room

Amornyont รีโนเวทตึกแถว สู่พื้นที่ของครอบครัวและธุรกิจ

หจก.อมรยนต์ จากธุรกิจของครอบครัวที่ก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ถึงคราวจำเป็นจะต้องย้ายมายังที่ตั้งแห่งใหม่ในย่านหัวลำโพง จึงถือเป็นโอกาสดีที่เจ้าของรุ่นลูกจะได้ รีโนเวทตึกแถว ให้เหมาะสมกับการทำงาน พร้อมกับพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตของครอบครัวในอาคารพาณิชย์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

ออกแบบ: Lynk Architect โดย คุณณัฐศิษฐ์ วงบุญ

โปรเจ็คต์ รีโนเวทตึกแถว แห่งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โจทย์ที่มาจากความต้องการอันหลากหลายของเจ้าของ แตกแขนงออกเป็นพื้นที่ขายปลีก พื้นที่คลังสินค้า และพื้นที่พักอาศัย ซึ่งอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน ก่อนนำทุกอย่างมาเรียบเรียงใหม่ให้เรียบง่ายตรงไปตรงมา โดยใช้งานดีไซน์เป็นเครื่องมือจัดการทั้งเรื่องฟังก์ชันและความงาม

เปลือกอาคารและการเลือกใช้สี

จุดโดดเด่นและสะดุดตาที่สุดของอาคารแห่งนี้ คือเปลือกอาคารที่เป็นแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตเจาะรูพับเป็นแพตเทิร์น เว้นจังหวะช่องเปิดของอาคารตามฟังก์ชันการใช้งานภายใน ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้วัสดุนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเริ่มต้น ที่ต้องการให้อยู่ในบรรทัดฐานของความเรียบง่ายและใช้งานได้จริง 

“เปลือกอาคารเป็นสิ่งหนึ่งที่เราพยายามคิดถึงเรื่องวัสดุ และการตีความทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา คำตอบที่ตรงโจทย์ที่สุดก็คือแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตเจาะรู ซึ่งมีข้อดีเรื่องน้ำหนักเบาจึงเหมาะกับงานรีโนเวตอาคารเก่า ทั้งยังช่วยในเรื่องการควบคุมปริมาณแสงและความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะพื้นที่ภายในที่ต้องการแสงไม่เท่ากัน ถ้ามองจากด้านในจะเหมือนกับการมองผ่านผ้าม่านโปร่ง แต่คนที่อยู่ภายนอกมองเข้าไปจะทึบหมด ช่วยปกปิดส่วนที่ไม่อยากให้มองเห็น เช่น พื้นที่เก็บสินค้า ส่วนรีเทลก็จะเปิดมากหน่อยเพื่อต้อนรับ และส่วนที่พักอาศัยก็เปิดกลาง ๆ กำลังดี”

เพราะแผ่นอะลูมิเนียมมีความแข็งแรงน้อย จึงต้องใช้การพับเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับตัวมันเองให้มากที่สุด แพตเทิร์นที่เลือกใช้ในการพับจึงร้อยเรียงมาจากบริบทของอาคารที่อยู่ในย่าน ไม่ว่าจะเป็นหัวลำโพง หรือเส้นสายของอาคารเพื่อนบ้านให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน แม้จะเกิดใหม่ในยุคสมัยที่แตกต่างกันก็ตาม

ส่วนเรื่องการใช้สี แม้สีเขียวเป็นสีหลักของแบรนด์ แต่คุณแบงค์กลับที่จะเลี่ยงใช้สีนี้ แล้วหันไปใช้การจับคู่สีเพื่อมองหาสีอื่นที่จะมาเป็นแบ็กกราวน์ให้กับสีเขียวแทน เพื่อช่วยเน้นอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

“เรามองไปถึงสินค้าของร้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีดำ แล้วจึงค่อยมองว่าจะใช้สีไหนมาผสมผสาน (Combination) โดยอีกสามปีข้างหน้าถึงมันเก่าแล้วแต่ก็ยังสวยอยู่ เลยกลายมาเป็นสีนี้ ซึ่งมองเผื่อไปถึงอนาคตเลยว่า ถ้ามันเลอะ ต้องเลอะแบบไหนถึงจะสวย”

ส่วนขายปลีกและคลังสินค้า

อาคารทั้งหมด 7 ชั้น ได้รับการแบ่งออกเป็นส่วนรีเทลในชั้น 1-2 พื้นที่เก็บสินค้า ชั้น 3-5 และพื้นที่อยู่อาศัยบนชั้น 6-7 โดยในส่วนของรีเทลและพื้นที่คลังสินค้า มีการวางระบบการใช้งานเฉพาะมาจากเจ้าของอยู่แล้ว ความยากของงานออกแบบจึงอยู่ที่การจัดสรรพื้นที่และทางสัญจร เพื่อให้เข้าถึงง่ายและใช้งานได้ทุกส่วนอย่างเหมาะสม

“รีเทลชั้นล่าง ประกอบด้วยส่วนต้อนรับลูกค้า และแผนกบัญชี ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกของได้เลย ส่วนโจทย์ของพื้นที่เก็บสินค้าค่อนข้างซับซ้อน เพราะมีเงื่อนไขของสินค้าซึ่งมีวิธีการเก็บสินค้าแต่ละประเภท การส่งต่อของที่มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก พอเราได้รับคอมเม้นต์จากเจ้าของว่าส่วนไหนที่ต้องการแก้ไข เราจึงทำส่วนนั้นให้ดีขึ้น โดยพยายามทดลองว่า ต้องจัดพื้นที่แบบไหน ถึงจะทำให้งานโฟลว์ขึ้น และช่วยลดกำลังของคนลง” 

“อย่างปัญหาเรื่องความยากในการขนของระหว่างชั้น อาคารใหม่เราได้เจาะทำลิฟต์พร้อมช่องส่งของเล็ก ๆ โดยเริ่มต้นโหลดของที่พื้นที่เก็บของชั้นบน แล้วจัดช่องทางให้โยนลงมาตามชั้นที่อยู่ปลายทาง” คุณแบงค์เล่าให้ฟังถึงส่วนที่ละเอียดที่สุดในการทำงานครั้งนี้

ในการรีโนเวตอาคารพาณิชย์ นอกเหนือไปจากเรื่องของน้ำหนักและโครงสร้างอาคารแล้ว ในส่วนงานระบบต่าง ๆ นักออกแบบเลือกใช้วิธีการเดินท่อ และสายไฟแบบลอยตัวแทนที่จะฝังลงไปในผนัง เพื่อจัดระเบียบงานระบบ ให้ติดตั้งและดูแลรักษาง่าย

พื้นที่อยู่อาศัย

ส่วนของพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหญ่บนชั้น 6-7 หากมองเผิน ๆ อาจไม่รู้เลยว่า นี่คือพื้นที่ภายในอาคารพาณิชย์ นั่นเพราะมีพื้นที่คอร์ตกลางของต้นไม้ใหญ่ และสกายไลท์ที่เจาะทะลุจากชั้นบนลงมา เพื่อสร้างบรรยากาศของความเป็นบ้าน แตกต่างจากพื้นที่ธุรกิจส่วนล่างอย่างสิ้นเชิง

“เราเสนอกับเจ้าของไปว่า อาคารพาณิชย์มีข้อเสียที่แสงเข้าแค่ด้านหน้ากับด้านหลัง เราจึงอยากสร้างบรรยากาศใหม่ของการอยู่บ้านแบบอาคารพาณิชย์ด้วยการเจาะช่องตรงกลาง” คุณแบงค์เล่าถึงการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัย 

“ดังนั้นห้องที่อยู่หัวท้ายจะกลายเป็นห้องที่มีหน้าต่างสองฝั่ง รวมทั้งห้องนั่งเล่นตรงกลางก็จะมีหน้าต่าง ซึ่งเป็นสเปซที่หาไม่ได้จากอาคารพาณิชย์ ผมว่าตัวนี้เป็นตัวหลักที่สร้างคุณภาพให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย”

ข้อสำคัญอีกประการนั่นคือ เพราะบ้านหลังนี้อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ จึงเลือกจัดระยะระหว่างเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นให้กว้างกว่าเดิม โดยคุณแบงค์ให้เหตุผลว่า

“เพราะเรารู้ว่าวัฒนธรรมการอยู่ของครอบครัวใหญ่ อาจมีวันสำคัญ ๆ ที่สมาชิกจะมารวมตัวอยู่ด้วยกันเยอะๆ กับวันที่อยากจะแยกไปอยู่แบบเป็นส่วนตัว เพราะฉะนั้นฟังก์ชันการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ด้านใน จึงต้องปรับให้เอื้อต่อการอยู่รวมกันของคนสิบคนได้อย่างสบาย ๆ หรือว่าจะแยกห้องกันอยู่ก็ได้”

“ที่นี่มันจะมีบางอย่างที่เราไม่เคยทำ” คุณแบงค์เล่า ก่อนจะจบการพูดคุย “อย่างที่เราคาดหวังว่า จะให้มีทั้งแสงธรรมชาติ และต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเวลาทำงานจริงนั้นยากมาก ถ้าเราใช้ต้นไม้เล็กเกินไปก็ต้องใช้เวลาปลูกเลี้ยงนานกว่าจะเติบโต เลยเลือกใช้ไม้ต้นใหญ่ที่ต้องใช้เครนยกต้นไม้แล้วสไลด์เข้าไป ซึ่งผลงานที่ออกมาถือว่าคุ้มค่า เจ้าของมีความชื่นชอบ เหมือนกับเขาได้อยู่บ้านใกล้ที่ทำงาน แน่นอนว่าอยู่ในตึกเดียวกันนี่แหละ แต่ตัดขาดกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทางเชื่อมต่อ หรือทางการจัดสรรพื้นที่ภายใน ซึ่งเจ้าของได้ใช้พื้นที่นี้สำหรับอยู่อาศัยได้จริง ๆ”

เจ้าของ: คุณอรรถพล ชวนะเบญจวุฒิ
ออกแบบ: Lynkarchitect Co.,Ltd. โทร. 09-5530-5335
Construction Management : Sakwuth c.poolsawad
Contractor : Tongtee Construction Co.,Ltd.

ภาพ: FANGBakii
เรื่อง: Skiixy


TROPICAL CAVE HOUSE รีโนเวตตึกแถว อุดอู้เป็นบ้านเย็น ด้วยไอเดียเหมือนอยู่ในถ้ำ