“สถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ที่นี่จึงเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบ และพร้อมต้อนรับประชาชนผู้ใช้บริการจากหลากหลายกลุ่มผู้ใช้งาน โดยยึดเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานสถานีรถไฟนี้อย่างเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง บ้านและสวนขอชวนไปทำความรู้จักกับ Universal Design หรือหลักการออกแบบเพื่อมวลชน ที่ทำให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นสถานีรถไฟสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะนั้น หนึ่งในหลักการออกแบบที่เป็นหัวใจสำคัญคือ Universal Design (UD) หรือที่เรียกกันว่า “หลักการออกแบบอารยสถาปัตย์” ซึ่งหมายถึงหลักการออกแบบ ที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะช่วงอายุ เพศ หรือมีลักษณะทางกายภาพเช่นไร ก็ต้องสามารถเข้าถึงการใช้งานของพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หลักการออกแบบนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับสมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา หรือผู้พิการ ซึ่งการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้งานทุกกลุ่มนี้ ยังช่วยให้สังคมดำเนินไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น และยังตระหนักถึงการส่งเสริมให้บุคคลมีอิสระในการจัดการตนเอง โดยพึ่งพาคนอื่นน้อยลง
การออกแบบพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อนั้น คำนึงในเรื่องหลักพื้นฐาน 7 ประการ ของ Universal Design ซึ่งเป็นแนวความคิดสากลที่องค์การสหประชาชาติได้พยายามเผยแพร่และส่งเสริม โดยใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ทั้งในส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรม งานสถาปัตยกรรม งานสถาปัตยกรรมภายใน งานป้ายสัญลักษณ์ ฯลฯ ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม
01 ความเสมอภาค
ความเสมอภาคนั้นว่าด้วยการที่ทุกคนควรได้รับสิทธิและเข้าถึงการใช้งานอย่างทั่วถึง อาทิเช่น การใช้ทางลาดแทนบันได เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงอาคารได้โดยง่าย หรือที่จอดรถสำหรับผู้พิการ
ความลาดชันตามมาตรฐาน ควรสูง 1 เมตร และต้องมีความลาดยาว 12 เมตร เมื่อเราใช้รถเข็นหรือเดิน จะช่วยให้เข็นรถได้อย่างสบายไม่รู้สึกเหนื่อย และต้องมีชานพัก หรือที่ว่าง ก่อนขึ้นทางลาด และตรงกลางของทางลาด เพื่อเป็นจุดพัก (ขึ้นอยู่กับความยาวของทางลาด) สำหรับความกว้างต้องกว้างพอที่จะสามารถเข็นรถเข็นได้ และใช้วัสดุพื้นขัดหยาบไม่เซาะร่อง ยกขอบสูงติดราวกันตก และราวจับทั้ง 2 ข้าง สูงประมาณช่วงระดับกึ่งกลางลำตัว
ที่จอดรถผู้พิการควรมีขนาด กว้าง 2.4 เมตร และยาว 6.00 เมตร และเว้นช่องเพิ่มอีก 1 เมตร ตลอดแนวยาว เพื่อให้มีขนาดกว้างพอเหมาะเว้นช่องว่างสำหรับเปิด – ปิดประตู และต้องมีสัญลักษณ์วีลแชร์ขนาดใหญ่ พร้อมป้ายบอกตำแหน่งเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
02 ความเรียบง่ายใช้งานง่าย
การออกแบบที่เน้นการใช้งานที่สะดวก ลดทอนความซับซ้อนให้เหมาะกับการรับรู้ของผู้ใช้งานในหลากหลายกลุ่ม เช่น ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ที่ออกแบบให้มีปุ่มน้อยที่สุด ไม่มีกระบวนการซับซ้อน และระบุขั้นตอนการใช้งานชัดเจน
ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีสิ่งกีดขวางกั้น ขนาดไม่สูงเกินไปจนผู้พิการไม่สามารถเอื้อมถึง กำกับด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ พร้อมสัญลักษณ์ ที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ตัวตู้ออกแบบให้สะดวกต่อการใช้มือเพียงข้างเดียวในการกดคำสั่ง ตัวปุ่มกดต่างๆ มีขนาดใหญ่เพียงพอ
03 ข้อมูลชัดเจนสำหรับการใช้งาน
มีการออกแบบการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานและพื้นที่ เช่น ป้ายหรือสัญลักษณ์ที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน อาทิ ป้ายห้องน้ำ, ป้ายบอกทางเข้าห้องประชุมและป้ายทางหนีไฟ เป็นต้น
ป้ายบอกทางต้องไม่มีแสงสะท้อน และมีสีที่ตัดกันโดยให้อ่านได้ชัดเจน เช่น สีน้ำเงิน หรือสีดำ ตัดกับสีขาว ให้เห็นสัญลักษณ์ในการบอกตำแหน่งต่างๆ มีการใช้อื่น ๆ เพื่อสื่อความหมาย อาทิ สีแดง ห้าม สีเหลือง ระวัง สีเขียวปลอดภัย สีฟ้าติดต่อสอบถาม
04 ความยืดหยุ่น
การออกแบบเพื่อปรับให้เข้ากับลักษณะของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม อาทิ ระดับความสูงของปุ่มกดลิฟต์ให้มีความสูงต่ำเหมาะสม การออกแบบทางลาดพิเศษสำหรับให้ผู้ใช้วีลแชร์บนชานชาลาขึ้นรถไฟได้สะดวก
ด้านหน้าทางเข้าลิฟต์ปูพื้นผิวสัมผัสแบบปุ่ม และมีพื้นทางลาด ลิฟต์ขึ้นไปยังทุกชานชาลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ
พื้นรถไฟบริเวณประตูทางเข้าสำหรับผู้พิการ มีทางลาดแบบพับเก็บได้ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานวีลแชร์ขึ้นรถไฟได้สะดวก
05 ความปลอดภัย
การออกแบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นหรือออกแบบเพื่อป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น จุดยึดรถเข็นในรถไฟ หรือการปูพื้นผิวสัมผัส (ปุ่มนูน) ตามจุดต่าง ๆ เพื่อเตือนให้ผู้พิการได้รับรู้ถึงสิ่งกีดขวาง
จุดยึดวีลแชร์ในรถไฟ อยู่ใกล้ประตูทางออกที่มีขนาดใหญ่พิเศษ และอยู่ใกล้กับปุ่มกดเพื่อขอความช่วยเหลือ
ปูพื้นผิวสัมผัสทั้งแบบเตือน(ปุ่มนูน) และแบบบอกทิศทาง(เส้นนูน) เพื่อเตือนถึงสิ่งกีดขวาง หรือขั้นบันได พื้นตะแกรงออกแบบให้มีขนาดช่องที่เล็ก ไม่ให้ล้อรถเข็นตกลงไปในช่องได้ และในส่วนของทางม้าลาย
06 การใช้แรงน้อยหรือทุ่นแรง
เป็นการออกแบบให้ผู้ใช้งานออกแรงน้อย ไม่ต้องพยายามหลายครั้ง เพื่อให้ทุกคนใช้งานได้สะดวกเท่าเทียมกัน เช่น ก็อกน้ำ ประตูห้องน้ำ
07 ความกว้างของพื้นที่เหมาะสมกับการเข้าถึงและใช้งาน
การออกแบบที่มีขนาดที่เหมาะสมและมีพื้นที่ให้สำหรับการเข้าถึงและการใช้งานที่เพียงพอ โดยคำนึงถึงขนาดร่างกายท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ที่หลากหลาย ขนาดและพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ทั้งการเอื้อม การหยิบจับ โดยปราศจากเงื่อนไขของข้อจำกัดทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว
การออกแบบระดับพื้นอาคารตั้งแต่ลานด้านหน้าและภายในอาคารทั้งหมดให้เป็นพื้นเรียบไม่มีระดับ ช่องประตูทางเข้าควรมีขนาดกว้างพอที่จะสามารถให้คนเดินสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย
สถานีกลางบางซื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะ ที่ใช้การออกแบบเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนโดยส่วนรวม ทั้งยังช่วยสร้างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่นักออกแบบทุกแขนงควรให้ความใส่ใจ เพื่อประโยชน์ของทุกคนในสังคม
ภาพ: สิทธิศักดิ์, ฤทธิรงค์, อนุพงษ์
เรื่อง: muanpraes / j – bob
เรียบเรียง: MNSD