เพราะความธรรมดามันจึงพิเศษกว่าใครๆ เพียงแค่เติมแต่งมันอย่างพอดิบพอดีเท่านี้ก็ดูแตกต่างจากใครอื่น หากการพัฒนาถูกมองอย่างเข้าใจ และตรงจุด ก็สามารถมอบความสุขให้กับผู้คนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับหมู่บ้าน ZAIWAN VILLAGE
ZAIWAN VILLAGE คือชุมชนเล็กๆ Qixian ของเขต Xiuwu ที่ตั้งอยู่ในเมือง Jiaozuo ทางตอนเหนือของมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ได้รับการฟื้นฟูพื้นที่ ให้กลายเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ คาเฟ่สุดชิค ที่เลือกหยิบความธรรมดา ของหมู่บ้านมาสร้างสรรค์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
หมู่บ้าน Zaiwan ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1960s วางผังแบบกริดสี่เหลี่ยมเป็นตาราง ซึ่งตัวหมู่บ้านไม่มีทั้งวัฒนธรรม วิวทิวทัศน์ หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะเป็นสิ่งดึงดูดใจหรือศักยภาพในการพัฒนาต่อ สถาปนิกจาก 3andwich Design / He Wei Studio จึงได้สำรวจเห็นถึงร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดจากสิ่งก่อสร้าง รอยทาสี และรอยติดตั้งแผงโซล่าล์เซลล์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ผ่านมาตลอด 40 ปี จึงเป็นที่มาของการเก็บร่องรอยวิถีชีวิตเหล่านี้ไว้ แล้วทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพื้นฐานภายในหมู่บ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นถนนใหม่ นำสายไฟลงใต้ดิน เพิ่มไฟส่องสว่าง ขุดลอกท่อระบายน้ำพร้อมซ่อนใต้ดิน ฟื้นฟูผนังบ้าน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากนั้นจึงเริ่มวางผังด้วยการใช้ถนนแนวแกนหลักที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน เล่าเรื่องผ่านจุดเชื่อมโยงต่างๆ จนกลายเป็นเส้นทางพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของหมู่บ้าน
เส้นทางพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มต้นด้วยภูมิทัศน์ทางทิศเหนือของหมู่บ้านที่เรียกว่า Spring Blossoms โดยใช้ต้นมะฮอกกานีจีน ไม้ยืนต้นดอกสีชมพูดั้งเดิมของหมู่บ้าน เป็นจุดเด่นอยู่บนมุมทางแยกรูปตัว L นอกจากนี้ เมื่อดอกสีชมพูมะฮอกกานีจีนบานสะพรั่งยังเป็นสัญญาณถึงฤดูใบไม้พลิที่กำลังจะมาถึง
ในการปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นถนนแกนเหนือ-ใต้ สถาปนิกเลือกใช้แถบกราฟิกหลากสีสัน ประกอบด้วย สีเหลืองสำหรับท่อส่งก๊าซ สีเขียวสำหรับท่อสายไฟฟ้ากระแสเบา และสีน้ำเงินสำหรับท่อน้ำทิ้ง ตัวแถบสีท่อมักจะเลียบไปกับพื้นถนน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับร่องรอยดั้งเดิมของหมู่บ้าน ที่มาพร้อมกับป้ายข้อความอธิบาย สำหรับ street furniture ยังออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นด้วยแถบสีสันเพื่อเพิ่มความต่อเนื่อง และดูสอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนผนัง หรือโทรศัพท์ ท่อหลากสีสันบนกำแพง รวมไปถึงเกม hopscotch และเขาวงกต ที่เด็กๆ ในหมู่บ้านช่วยกันคัดเลือกก่อนจะถูกวาดลงไปบนพื้นถนน ซึ่งช่วยให้การเล่าเรื่องบนถนนดูน่าสนใจ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอีกด้วย
ในถนนแกนเหนือ-ใต้ สถาปนิกได้ปรับพื้นที่ The Square of Double Happiness and Pisces ซึ่งเดิมเป็นแปลงผักของหมู่บ้าน ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับหมู่บ้าน โดยทางทิศตะตกเฉียงใต้ของพื้นที่ได้ออกแบบอาคารทรงสี่เหลี่ยมคางหมู สำหรับซ่อนตู้หม้อแปลงไฟฟ้า ที่รวมเอาร้านซื้อของออนไลน์ และหน่วยจัดส่งของเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งตัวอาคารใช้โครงสร้างไม้ ปิดผนังด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต และไม้ ทำหลังคาลาดเอียงไปทางทิศเหนือ ใช้กระเบื้องเคลือบกราฟิกหลากสีสันคล้าย 8 บิต ส่งต่อลงมาถึงฟาซาดวัสดุกระเบื้องเคลือบสีน้ำตาลเชื่อมโยงไปถึงพื้นเป็นลายกราฟิกสามเหลี่ยม นอกจากนี้ฝั่งตรงข้ามยังมีพื้นที่นั่งไม้ไล่ระดับพร้อมปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่น เชิญชวนให้คนในหมู่บ้านมานั่งพักผ่อนกันได้ตลอดทั้งวัน
ความน่าสนใจอีกอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้คือ กลุ่มอาคารบ้านดินเก่าแก่ที่อนุรักษ์ไว้มายาวนาน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1960s ได้ปรับปรุงให้เป็น Gallery of North Henan Folk Residence สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งหมด 3 หลัง คือ ทางทิศเหนือ 2 หลัง และส่วนตรงกลางอีก 1 หลัง เชื่อมต่อกันด้วย ทางเดินหลังคาสีดำ และลานอเนกประสงค์ สถาปนิกได้เพิ่มเติมอาคารหลังใหม่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นร้านคาเฟ่ ห้องชา ห้องจัดแสดงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ และศูนย์สร้างสรรค์ ที่ออกแบบฟาซาดอาคารด้วยอิฐสีแดงสอดคล้องไปกับวัสดุปูพื้นของลานอเนกประสงค์ เสริมด้วยแผ่นเหล็กแบนเรียบเป็นอีกส่วนของฟาซาดที่เน้นเส้นแนวนอนให้ความรู้สึกร่วมสมัยเรียบง่าย สถาปนิกตั้งใจให้บางส่วนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างอาคาร เพื่อลดความขัดแย้งกันของวัสดุเก่า และวัสดุใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้สเปซระหว่างทั้งสองอาคารเกิดพลังความสมดุลได้อย่างลงตัว
รวมไปถึงการออกแบบป้ายทางเข้าฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน อยู่ระหว่างสถานีอนามัย และ Gallery of North Henan Folk Residence ในรูปแบบของกลุ่มเสาหินที่มีขนาดความสูงแตกต่างกัน ที่สื่อความหมายถึงลำดับการพัฒนาหมู่บ้าน Zaiwan ที่มีความเฟื่องฟูมาโดยตลอด ซึ่งในแต่ละเสาหินจะสลักข้อความถึงประวัติศาสตร์ และในช่วงเวลาสำคัญลงไปบนเสาหิน รวมถึงในปัจจุบันนี้ด้วย
ออกแบบ: 3andwich Design / He Wei Studio
ภาพ: Weiqi Jin, Wei He
เรียบเรียง: j – bob