เมื่อคู่รักกราฟิกดีไซเนอร์อยากมีบ้านสักหลังสำหรับการสร้างครอบครัว โฮมออฟฟิศ หลังนี้จึงมาพร้อมโจทย์ท้าทายในการผสมผสาน “พื้นที่ทำงาน” เข้ากับ “พื้นที่ใช้ชีวิต”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: JAI Architect & Interior
โดยยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ให้กับเจ้าของบ้านในเวลาเดียวกัน โฮมออฟฟิศ ที่มีเส้นสายเรียบเท่หลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่ย่านรามคำแหง โดยเจ้าของบ้านมอบโจทย์ให้ JAI Architect & Interior สถาปนิกผู้ออกแบบ ตีความความต้องการเบื้องต้นของพวกเขาให้กลายเป็น โฮมออฟฟิศ ซึ่งการออกแบบทุกองค์ประกอบของบ้าน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความสุขให้กับเจ้าของบ้านในทุกจังหวะของการใช้ชีวิต
โฮมออฟฟิศ ขนาด 290 ตารางเมตร หลังนี้ใช้เวลาออกแบบ และก่อสร้างร่วม 2 ปี เบื้องต้นสถาปนิกออกแบบผังบ้านให้สอดคล้องกับขนาด ตำแหน่ง และทิศทางของที่ดิน ซึ่งข้อจำกัดของที่ดินทำให้จำเป็นต้องวางผังด้านยาวของบ้านปะทะด้านทิศตะวันตก-ตะวันออก ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ใช้สอยของบ้านที่ไม่จำเป็นต้องมีช่องเปิดมากนักอย่างบันไดบ้าน และห้องน้ำ จึงถูกวางไว้ทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ผนังบ้านจะได้รับความร้อนมากที่สุด ส่วนทางทิศตะวันออกถูกกำหนดเป็นพื้นที่ใช้สอยที่สามารถเชื่อมออกไปยังสวนได้ ทำให้พื้นที่ด้านนี้สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน โดยมีทั้งแสงและลมธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาทางช่องเปิด และคอร์ตยาร์ดอย่างเพียงพอ
เมื่อตีความจากโจทย์ พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดจึงได้รับการออกแบบให้กระชับ ลงตัว และกะทัดรัดตามความต้องการแบบพอดีๆ ในบ้าน 2 ชั้นหลังนี้ โดยแบ่งพื้นที่ชั้น 1 เป็นห้องทำงาน แพนทรี่ ส่วนซักล้าง และที่จอดรถ 3 คัน ส่วนชั้น 2 เป็นส่วนพักอาศัยที่ประกอบด้วย 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำและ 1 ห้องอเนกประสงค์
เนื่องจากเจ้าของบ้านนั้นไม่ต้องการห้องรับแขก และต้องการมีพื้นที่ทำงานในบ้าน สถาปนิกจึงวางลำดับการเข้าถึงโดยให้แพนทรี่เป็นพื้นที่ลำดับแรก ที่พบเมื่อเปิดประตูเข้ามาในตัวบ้าน ทำให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นเสมือนพื้นที่กึ่งสาธารณะ ที่ทำหน้าที่เป็นโถงทางเข้า และพื้นที่ส่วนกลางของออฟฟิศในเวลาเดียวกัน ซึ่งจากแพนทรี่ ผู้ใช้งานสามารถผ่านไปยังพื้นที่ทำงานหรือจะแยกขึ้นบันได เพื่อไปยังพื้นที่ส่วนตัวบริเวณชั้น 2 ของบ้านก็ได้ และด้วยการจัดวางฟังก์ชันเช่นนี้ จึงทำให้สามารถแยกพื้นที่ทำงาน และพื้นที่ส่วนตัวออกจากกันได้อย่างเป็นสัดส่วน
สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม สถาปนิกให้ความเห็นว่า “การออกแบบบ้านหลังนี้เหมือนเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของบ้าน สถาปนิกเป็นคนร่างภาพ ส่วนการแต่งแต้มสีสันนั้นเป็นฝีมือของเจ้าของบ้าน” รูปลักษณ์ภายนอกของบ้านจึงได้รับการออกแบบให้สะท้อนตัวตน และความชื่นชอบของเจ้าของบ้านมากที่สุด โดยที่ไม่จำกัดรูปแบบ
โครงสร้างหลักของบ้านเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนหลังคาบ้านและชายคาเป็นโครงสร้างเหล็ก อีกความน่าสนใจของบ้านหลังนี้ คือผิวสัมผัสของผนังภายนอกของบ้าน ที่เป็นลายไม้แบบทั่วทั้งหลัง ซึ่งกว่าจะออกมาสวยงามนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สถาปนิกเลือกใช้วิธีก่อผนังแบบการก่ออิฐฉาบปูนก่อน จากนั้นจึงนำตะแกรงเหล็กมายึดเป็นโครงก่อนเทคอนกรีตให้มีความหนา 5 เซนติเมตร ด้วยวิธีการหล่อในที่ โดยใช้ไม้แบบเป็นไม้เนื้อแข็งหน้า 6 นิ้ว ซึ่งลวดลายของผนัง และสีสันของคอนกรีตหลังจากเซ็ตตัวแล้วจะขึ้นอยู่ของชนิดของไม้แบบ เนื่องจากไม้แต่ละชนิดจะมียางแตกต่างกัน ส่งผลโดยตรงกับสีสันและความเป็นธรรมชาติของผนังคอนกรีตนั่นเอง
บรรยากาศภายในบ้านเกิดจากสีสันของวัสดุเป็นหลัก โดยรวมจึงเน้นสีเทาจากคอนกรีตและกระเบื้อง ตัดกับสีขาวของเฟอร์นิเจอร์และผนังภายใน บรรยากาศจึงผ่อนคลายเป็นกันเองเหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องการสมาธิในการสร้างสรรค์ อย่างงานกราฟฟิกดีไซน์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เพื่อสร้างสภาวะอยู่สบาย (Thermal Comfort) สถาปนิกจึงกำหนดความสูงให้แต่ละชั้นของบ้านมีความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน 2.8 เมตร พร้อมติดตั้งช่องเปิดสูงจรดฝ้าเพดาน อีกทั้งยังสร้างคอร์ตยาร์ดไว้กลางบ้าน ซึ่งอยู่ตำแหน่งระหว่างพื้นที่ทำงาน และแพนทรี่ โดยคอร์ตยาร์ดดังกล่าวช่วยเพิ่มพื้นผิวผนัง ที่สามารถติดตั้งช่องเปิดได้มากขึ้น ส่งผลให้ตัวบ้านสามารถรับลม และแสงธรรมชาติจากทางทิศตะวันออกได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังลดการเปิดเครื่องปรับอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความสุขทั้งการด้านทำงานและพักผ่อน
เจ้าของ : คุณธารทิพย์ มโนมัยพันธุ์ และคุณธิติวัชร รังสฤษฏ์โยธิน
ออกแบบ: JAI Architect & Interior
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Deverland19 Studio
รับเหมาก่อสร้าง: White House Constructionline, K. Wanlop and the gang
เรื่อง: Ektida N.
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล