เดินลอดซุ้มประตูไปสำรวจ หอสมุดวังท่าพระ โฉมใหม่ พร้อมพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทพล จั่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ออกแบบและปรับปรุงหอสมุดวังท่าพระครั้งนี้
โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่ที่สร้างการรับรู้ และเชื่อมต่อกับบริบทที่ทรงคุณค่าใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ โดยที่เขายังคงเลือกเก็บรายละเอียดในภาษาและงานออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของครูบาอาจารย์ที่เคารพเอาไว้ให้มากที่สุด
ลานกลางแจ้งที่เคยแน่นขนัดไปด้วยรถราจอดเรียงสลับซ้อนกลับกลายเป็นโล่งตา ก้อนอาคารด้านหน้าสำนักงานอธิการบดีและหอสมุดวังท่าพระที่ต่อเติมใหม่เป็นห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ยื่นออกมาจนแทบจะชิดติดซุ้มประตูฝั่งถนนหน้าพระลาน ถูกทุบทิ้งและปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ภายในอาคารหอสมุดครั้งใหญ่
เฉกเช่นอาคารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักบริการวิชาการที่ตั้งอยู่ตรงข้าม ก็ถูกรื้อถอนแล้วแทนที่ด้วยอาคารกระจกชั้นเดียวหลังคาแบนราบ วางตัวอย่างถ่อมตนและเปิดเผยให้เห็นแนวกำแพงวัง โดยเชื่อมต่อกับประตูเล็ก ๆ ที่เคยเป็นแค่ทางผ่านไปห้องน้ำจากสวนแก้วที่อยู่ถัดไปด้านหลังกำแพง พื้นที่ตรงนี้ดูเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก เว้นเสียแต่ต้นไทรรูปหัวใจที่โค่นล้มเพราะแรงลมของพายุ เมื่อปลายเดือนกันยายนปี 2561 ซึ่งยังคงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาจนถึงตอนนี้
มหาวิทยาลัยศิลปากร มีหอสมุดเปิดให้บริการครบทั้ง 3 วิทยาเขต คือ วังท่าพระ พระราชวังสนามจันทร์ และสารสนเทศเพชรบุรี ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ห้องสมุดแห่งแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดขึ้นที่วังท่าพระแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2507 เดิมทีเป็นเพียงแผนกที่มีขนาดพื้นที่เพียง 50 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในอาคารด้านหลังอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อนจะย้ายมายังอาคารหอสมุดปัจจุบัน นับตั้งแต่ตัวอาคารเดิมสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2518 ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ขยายพื้นที่ห้องบริการวารสารไปยังห้อง 3103 ชั้นใต้ดินอาคารศูนย์รวม 3 พร้อมย้ายพื้นที่บริการโสตทัศนูปกรณ์ และพื้นที่สำนักงานไปอยู่ที่ชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารสำนักงานอธิการเดิม บริเวณด้านหลังอาคารหอสมุดฯ
การปิดปรับปรุงอาคารหอสมุดวังท่าพระครั้งใหญ่ เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 (ระหว่างนั้นได้ย้ายมาเปิดให้บริการที่ชั้นใต้ดินของตึกคณะสถาปัตย์ฯ เป็นการชั่วคราว) ปัจจุบันกระบวนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอาคารหอสมุดวังท่าพระ ที่ทำไปควบคู่กับกระบวนการปรับปรุงพื้นที่ภายในทั้งหมดซึ่งกินเวลาเกือบสองปีก็แล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์ 100% ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้ที่นี่ต้องชะลอเวลาการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทพล จั่นเงิน หรือ อาจารย์โอ๊ต รับอาสาพาเราเดินทัวร์แบบไม่ต้องพึ่ง Virtual จนครบทุกพื้นที่ พร้อมกับอธิบายกรอบความคิดของเขาในการปรับปรุงอาคารหอสมุดวังท่าพระ และพื้นที่โดยรอบขึ้นใหม่ เพื่อเชื่อมต่อกับบริบทอันทรงคุณค่าจากภายนอกให้เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภายใน โดยมีอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการพลิกโฉมหน้าให้หอสมุดแห่งนี้สอดรับต่อการใช้งานในกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น มากกว่าแค่การมานั่งอ่านหนังสือ หรือหยิบยืมหนังสือกลับไปอ่านเช่นในอดีต
“การปรับปรุงครั้งนี้เรามองในเชิงกายภาพและบริบท ไม่ได้มองแค่การพัฒนาปรับปรุงอาคารไม่ให้ทรุดโทรมเพียงอย่างเดียว” อาจารย์โอ๊ต อธิบาย “ตัวอาคารเดิมถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 2518 ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์ แนวคิดของท่านตั้งใจให้ตัวอาคารกลายเป็นฉากให้กับกำแพงวังท่าพระ ตัวอาคารอยู่ใกล้กับซุ้มประตูวังท่าพระที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ภายหลังอาคารนี้ผ่านการต่อเติมและปรับปรุงมาหลายครั้ง”
“ในการปรับปรุงตัวอาคารเดิม วันที่ผมตัดสินใจจะรื้อโครงสร้างห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่มีการทรุดตัว ผมได้เดินทางไปหาอาจารย์สุริยาแล้วอธิบายถึงหลักการและเหตุผลให้ท่านฟัง สิ่งที่ท่านพูดมาก็คือ สิ่งที่คุณเห็นในสภาพปัจจุบันไม่ใช่อาคารที่ผมออกแบบไว้แต่แรกนะ มันเกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยเขาต่อเติมมาเรื่อย ๆ ผมเลยถือโอกาสเก็บภาษาบางอย่างที่ครูออกแบบเอาไว้ โดยภาพรวมเปลือกนอกของอาคารทั้งหมดแทบจะเป็นของเดิม แต่จะมีเฉพาะบันไดและทรานสิชั่นสเปซด้านหน้าที่ไม่ได้รื้อทิ้ง 100% แต่ก็ไม่ได้เก็บไว้ 100% ผมพยายามปรับปรุง หรือพูดง่าย ๆ ว่าธรรมชาติในการออกแบบและรีโนเวตนั้น ความสนุกคือการที่เราได้อ่านงานของคนเก่าแล้วเราก็ตีความในมุมมองของเราอย่างเข้าใจ”
“นอกจากตีความงานออกแบบของอาจารย์แล้วสุริยา ผมยังต้องเปิดแปลนของท่านเพื่อดูและทำความเข้าใจแม้กระทั่งเรื่องระบบโครงสร้างว่าของเดิมถูกทำไว้อย่างไร คาแร็กเตอร์เด่นของมันคือแนวคานและระยะเสาที่อาจารย์สร้างไว้อย่างมีระบบ ระยะแทบจะเท่ากันทั้งหลัง ผมจึงมองการปรับปรุงครั้งนี้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเรามองว่าถ้าเราจะสร้างสเปซขึ้นใหม่ หรือที่เราเรียกว่าสร้างระบบ Space Organization เข้าไปในอาคารใหม่ เราวิเคราะห์โครงสร้างเดิมแล้วมันจะส่งต่อสู่การสร้างสเปซใหม่ได้อย่างไร”
“ส่วนที่สอง ภาพรวมของเปลือกภายนอกอาคารทั้งหมดแทบจะเป็นของเดิม มีเพียงการทุบอาคารส่วนห้องสมุดด้านหน้าเพื่อเชื่อมต่อมุมมองจากภายในสู่ภายนอก และภายนอกสู่ภายใน ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ภายในสามารถที่จะมองเห็นซุ้มประตูที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบไว้อย่างชัดเจน”
“เราต้องการสร้างห้องสมุดที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เป็นห้องสมุดที่ไม่ใช่ว่าเอาไปตั้งที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการรับรู้ที่ทำให้เห็นว่าห้องสมุดนี้มันคือห้องสมุดที่อยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วก็อยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง สิ่งสำคัญก็คือเราต้องทำอย่างไรให้การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้เกิดการรับรู้และเชื่อมต่อกับบริบทที่ทรงคุณค่าภายนอก”
นอกจากนี้ผศ.นันทพล ยังตั้งใจเพิ่มพื้นนั่งอ่านหนังสือให้มากขึ้น จึงมีการทำงานร่วมกับทีมบรรณารักษ์ นำข้อมูลเชิงสถิติมาช่วยคัดกรองหนังสือ โดยเล่มใดที่ไม่ค่อยถูกค้นหาหรือมีผู้หยิบยืมไปอ่านบ่อยนัก ก็จะถูกนำไปจัดเก็บไว้ที่คลังหนังสือของมหาวิทยาลัย และหนังสือบางเล่มก็ถูกถ่ายโอนข้อมูลไปจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลเพื่อง่ายต่อการสืบค้น
“หนังสือทั้งหมดจะถูกแปลงข้อมูลไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือ e-Books ตอนนี้เรากำลังจัดทำระบบ QR code ให้สามารถสแกนอ่านได้ แต่นักศึกษาที่อยากอ่านตัวเล่มจริง บรรณารักษ์ก็สามารถจะมาไขกุญแจเปิดให้นำหนังสือไปอ่านได้เช่นกัน”
ดังเช่น ภายในห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ออกแบบเป็นห้องดูเพล็กซ์สำหรับเก็บรวบรวมหนังสือที่มีความสำคัญเอาไว้ ทั้งหนังสือหายาก และเอกสารต้นฉบับวิทยานิพนธ์ของ ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ซึ่งท่านทรงมอบให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรไว้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี รวมไปถึงหนังสือชุดพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือชุดประทานจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เรื่อยไปจนถึงคอลเล็กชั่นหนังสือของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี
“ห้องนี้เป็นเหมือนแลนด์มาร์คของตัวอาคารนี้ หนังสือที่จัดแสดงอยู่บนเชลฟ์ ผมมองว่าเราไม่ควรทำแค่การเอาหนังสือเข้าไปวางเสียบรวมกันเยอะ ๆ แต่ควรจะดิสเพลย์หรือว่าให้ชั้นหนังสือมันแสดงตัวตนได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นเราจึงทำการคัดเลือกหนังสือร่วมกับอาจารย์ และบรรณารักษ์ เล่มไหนที่มีความสำคัญเราจัดแสดงให้เห็นหน้าปก เพราะเรามองว่าห้องนี้เป็น Memorial Space จึงอยากพื้นที่ตรงนี้เป็นที่จัดเก็บหนังสือที่มีความสำคัญ”
อาจารย์โอ๊ตออกแบบภายในห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ให้มีลักษณะเป็นโถงบันไดเวียนจากชั้นหนึ่ง ขึ้นไปสู่ชั้นลอย แล้วต่อไปยังห้องโสตฯบนชั้นสาม โดยส่วนโครงสร้างชั้นลอยนี้ถูกต่อเติมขึ้นใหม่ภายหลังจากปรึกษากับวิศวกรถึงความเป็นไปได้ในการตัดคานเดิมออก เพื่อเปิดพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซสร้างความโปร่งโล่ง นอกจากเป็นการสร้างทางเดินเชื่อมพื้นที่ระหว่างชั้นให้เกิดความต่อเนื่องกันแล้ว ยังเป็นการใช้พื้นที่แนวตั้งให้เกิดประโยชน์มากที่สุดไปด้วย
“เราอยากเซ็ตอัพให้ที่นี่เป็นห้องสมุดชั้นนำด้านศิลปะการออกแบบและโบราณคดี นอกจากนี้เรายังทำ MOU กับ TCDC จับมือกับอาจารย์อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล (ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้สมาชิกของหอสมุดกลาง หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรมีสิทธิ์ใช้งานห้องสมุดของ TCDC ได้ เพราะว่าห้องสมุดไม่มีทางที่จะมีหนังสือทุกเล่มบนโลกใบนี้ได้ ดังนั้นองค์ความรู้มันต้องเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ และเราก็มองว่าองค์ความรู้มันไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังสือ แต่มองว่าห้องสมุดคือศูนย์รวมองค์ความรู้และเป็นพื้นที่เรียนรู้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในห้องสมุดแห่งนี้ คือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ”
พื้นที่ด้านหน้าห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล คือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน โดยนิทรรศการแรกที่หอสมุดวังท่าพระจัดขึ้นคือ ‘The Memoirs of Prof. Silpa Bhirasri’ การจัดแสดงภาพลายเส้นบนเอกสารประกอบการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ปรากฏในหนังสือ ‘A Bare Outline of History and Styles of Art’ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากคณะจิตรกรรม ส่งมาจัดแสดงให้ชมจำนวน 10 ชิ้น รวมถึงประวัติ หนังสือ และผลงานต่าง ๆ ของบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ที่สามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ในรูปแบบ Virtual Tour ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือโฉมใหม่ของ ‘หอสมุดวังท่าพระ’ ที่นอกจากการปรับปรุงอาคารให้เกิดความเชื่อมโยงบริบทแล้ว ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Design Director ของ JUNNARCHITECT ยังทิ้งท้ายถึงก้าวใหม่ของหอสมุดแห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“เรายังคงให้ความสำคัญกับหนังสือ เพียงแต่ผมไม่อยากให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นแค่ห้องเก็บหนังสือ ผมอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่เอาไว้เติมเต็มองค์ความรู้ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไร้ขอบเขตและสร้างสรรค์ การพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดเกิดจากการประนีประนอมและพูดคุยกันในหลาย ๆ ฝ่าย เมื่อก่อนนั้นลานด้านหน้าหอสมุดวังท่าพระ และหอศิลป์วังท่าพระเป็นที่จอดรถ และฝั่งตรงข้ามหอสมุดก็เป็นอาคารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรและสำนักบริการวิชาการ ที่ปัจจุบันถูกรื้อทุบเพื่อสร้างอาคารกระจกชั้นเดียวขึ้นมาแทนที่”
“เรามุ่งหวังให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอาร์ตแอนด์ดีไซน์เซ็นเตอร์ เชื่อมโยงไปกับลานกลางแจ้งซึ่งเราก็มองว่าต่อไปมันน่าใช้พื้นที่จัดกิจกรรม หรือเล่นดนตรีบริเวณนี้ได้ เพื่อเป็นการสร้างโอเพ่นสเปซแห่งใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร บริเวณท้องพระโรงและซุ้มประตูวังที่เป็นหัวใจสำคัญของวังท่าพระ ต่อเนื่องไปกับอาคารหอสมุด หอศิลป์ฯ และสวนแก้ว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง”
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่นี่จึงยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่ทุกคนก็สามารถเข้ามาชมหอสมุดแห่งนี้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้ก่อนในรูปแบบ Virtual Reality ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library
เข้าชมนิทรรศการ ‘The Memoirs of Prof. SilpaBhirasri’ ในรูปแบบ Virtual Tour ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library/ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/web/pr/drawing_Silpa
ปัจจุบันหอสมุดวังท่าพระกำลังจัดทำระเบียบการสมัครสมาชิกรายปี ซึ่งสามารถมายืมหนังสือและเข้าใช้บริการได้ ทั้งศิษย์เก่า และบุคคลภายนอก (โดยเสียค่าเข้า 20 บาท/วัน) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้ ที่ https://www.facebook.com/SUlibrary
เรื่อง: นวภัทร ดัสดุลย์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ออกแบบและปรับปรุงอาคาร: ผศ.นันทพล จั่นเงิน