ทุกครั้งที่ยกแก้วกาแฟขึ้นดื่ม ถ้าได้รู้ถึงที่มาของความอร่อยตรงหน้า ความสุขจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีรึเปล่านะ? สำหรับเราความรู้สึกนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากการไปเยือน MiVana Coffee Flagship Store แฟล็กชิปสโตร์คาเฟ่ที่มีบรรยากาศร่มรื่นย่านศรีนครินทร์ของ “ มีวนา ” โดยเปิดขึ้นเพื่อหวังให้ที่นี่เป็นโมเดลต้นแบบในการส่งต่อแนวคิดการดูแลธรรมชาติ ผ่านไลฟ์สไตล์การดื่มกาแฟ กระตุ้นให้คนเมืองสนใจกาแฟออร์แกนิกกันมากขึ้น
ตลอดการทำงานมากว่าสิบปีของแบรนด์กาแฟ “มีวนา” ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางเพื่อสังคม ผลิตกาแฟอาราบิก้าด้วยระบบวนเกษตรแบบอินทรีย์ กับการปลูกกาแฟแทรกไปกับต้นไม้ในผืนป่า แตกต่างจากการทำไร่กาแฟที่ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตได้ตามความต้องการของตลาด ขณะที่การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาป่าของมีวนา แม้จะไม่สามารถสู้เรื่องจำนวนการผลิตได้ แต่ในด้านคุณภาพที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับระบบนิเวศควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพและปลูกฝังความหวงแหนรักษาป่าละก็นั่นนับเป็นพันธกิจและเป้าหมายอันสำคัญกว่า
เบื้องหลังแนวคิดนี้ คุณมิกิ-ชัญญาพัชญ์ โยธาธรรมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท มีวนา จำกัด คือตัวแทนที่จะมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางการทำงานของมีวนา ภายใต้เหตุผลของความยั่งยืนดังกล่าวว่า สิ่งนี้ได้สร้างผลลัพธ์ใดกลับคืนสู่สังคมและโลกใบนี้อย่างไร นอกเหนือจากมูลค่าทางธุรกิจ
การปลูกกาแฟอินทรีย์กับการอนุรักษ์ป่าสองเรื่องนี้มาบรรจบกันได้อย่างไร
คุณมิกิ : “เนื่องจากกาแฟอาราบิก้าต้องปลูกในพื้นที่สูงมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป และต้องมีสภาพภูมิอากาศที่เย็นจึงจะได้ผลผลิตที่ดีในเชิงของพื้นที่ป่าที่เราเข้าไปทำงานในเชียงราย จะมีสองส่วนคือพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เราก็อนุรักษ์ไว้แล้วก็เอากาแฟไปปลูกใต้ร่มเงาป่าในพื้นที่ อีกส่วนคือป่าเสื่อมโทรมหรืออาจจะถูกทำลายไปแล้วเราจะปลูกต้นกาแฟควบคู่ไปกับต้นไม้ที่มีความหลากหลายทางนิเวศ เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ
“ในอดีตที่ผ่านมาคนอาจจะคุ้นเคยกับการทำไร่กาแฟแบบเป็นแปลงปลูก จะไม่ได้เป็นการปลูกแบบร่วมกันกับป่าเท่าไหร่มากนัก เขาจะมีการจัดการบริหารที่ง่ายกว่าเรา เดินตามแปลงก็จบ บริหารจัดการง่าย พอเจอศัตรูพืชก็ใช้สารเคมีเร่งดอก เร่งผล เร่งโต ก็ใช้สารเคมี เพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการไม่เป็นภาระ เพราะกาแฟที่ได้รับแสงอาทิตย์เต็ม ๆ ก็จะสุกเร็วขึ้น แต่พอมาเป็นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาป่าอย่างของเรา เขาจะค่อย ๆ ซึมซับธาตุอาหารในดิน ใช้เวลาของเขาไปเรื่อย ๆ ด้วยแสงที่รำไรใต้ร่มไม้ ทำให้ผลกาแฟสุกช้า เมล็ดกาแฟได้มีช่วงเวลาในการสะสมธาตุอาหารจากธรรมชาติได้สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้กาแฟมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติและมีรสชาติที่เข้มข้นเป็นเอกลักษณ์ แม้การปลูกท่ามกลางธรรมชาติแบบนี้จะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ยาก แต่เราอยากเน้นที่คุณภาพมากกว่า”
ปลูกกาแฟไปพร้อมกับอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ฟังดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ มีวนาต้องควบคุมอะไรบ้าง
คุณมิกิ : “เนื่องจากพื้นที่ที่เราไปส่งเสริมการปลูกกาแฟอินทรีย์เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว แม่สรวย และแม่กรณ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000ไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 6,000 ไร่ ใน 3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน ที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยบ้านร่มเย็น บ้านใหม่พัฒนา บ้านผาแดงหลวง บ้านดอยช้าง บ้านห้วยคุณพระ บ้านห้วยไคร้ และบ้านขุนลาวซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้าง เราจึงต้องควบคุมคุณภาพมาก ๆ ทั้งสภาพอากาศ น้ำ และดิน เพราะทุกอย่างต้องปลอดสารเคมีเราจะไม่มีเคมีเข้าไปรบกวนเลยจะเป็น Eco System ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และเกื้อกูลกันทั้งระบบ
“น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกและแปรรูปในพื้นที่ ก็จะไม่มีสารเคมีเจือปน โดยก่อนที่จะปล่อยน้ำที่ใช้ในการแปรรูปคืนสู่ธรรมชาติ ก็จะมีการบำบัดน้ำเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำงานของเราด้วยเช่นกัน โยงไปถึงเรื่องอากาศเนื่องจากไม่ฉีดพ่นสารเคมี ก็จะดีกับสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาไฟป่า หรือการบุกรุกป่า ชาวบ้านจะมีส่วนช่วยสอดส่องดูแลอีกแรงร่วมกับกรมอุทยานฯ เพราะนี่คือแหล่งรายได้ของเขา เป็นการทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่รบกวนป่า หรือทำลายพื้นที่ต้นน้ำให้น้อยที่สุด”
การปลูกกาแฟในป่า มีวนามีพันธกิจร่วมกับหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ ช่วยพลิกฟื้นป่าอย่างไรบ้าง
คุณมิกิ : “ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลผลิตกาแฟอินทรีย์ใต้ร่มไม้ในป่าต้นน้ำที่ครอบคลุมอำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมือง อำเภอแม่สรวย ภายใต้โครงการกาแฟอินทรีย์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาตินอกจากเกษตรกรและชุมชนใกล้เคียงจะมีรายได้ที่มั่นคงยังนำมาสู่การอนุรักษ์และหวงแหนป่าไม้ด้วยเพราะป่าคือแหล่งปลูกกาแฟ หากป่าสูญสิ้นไป นั่นย่อมส่งผลกับเศรษฐกิจในครัวเรือน ชาวบ้านจึงช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับกรมอุทยานไปโดยปริยาย”
กว่าชาวบ้านและเกษตรกรที่เคยทำเกษตรกรรมวิถีเก่าจะเปิดใจยอมรับ
คุณมิกิ : “ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ เราต้องทำความเข้าใจ และทำความรู้จักกับกลุ่มเกษตรกร หรือคนที่อยู่ในชุมชนตรงนั้นก่อนว่า เขามีองค์ความรู้แค่ไหน มีความพร้อมแค่ไหน พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดไหน เราเริ่มตั้งแต่วันแรกอย่างนั้นเลย แล้วค่อย ๆ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพราะว่าอย่าง Organic Certification ที่เป็น USDA มาตรฐานสากล เขาก็จะมีกฎของเขาว่า แหล่งน้ำที่อยู่โดยรอบออกไปกี่ตารางกิโลเมตรจะต้องปลอดสารเคมีนะ มีวิธีไกด์ไลน์ในเชิงของการบริหารจัดการเป็นลำดับขั้นตอน เราได้เข้าไปช่วยแบ่งปันให้ความรู้ วิธีแก้ไขปัญหาโรคพืชในเชิงเกษตรอินทรีย์ ในแง่คุณภาพเรากำหนดร่วมกัน เขาผลิตออกมาได้เท่าไหร่ ถ้าผ่านตามเกณฑ์คุณภาพ เรารับซื้อทั้งหมด แล้วเรามาทำตลาดเอง เรามีหน้าที่ชวนผู้บริโภคมาช่วยกันสนับสนุนธุรกิจแบบนี้ต่อไป
“เราเชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะทำให้ชาวบ้านได้เห็นด้วยว่า จากการที่เขาเคยทำเกษตรที่ต้องใช้สารเคมีมาตลอดในอดีตนั้นมันส่งผลเสียทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพวกเขาเอง มีสมาชิกเกษตรกรที่ร่วมโครงการกับเราท่านหนึ่ง เคยตอบคำถามของทีมส่งเสริมจากมีวนาว่าทำไมถึงยินดีร่วมพัฒนางานกาแฟอินทรีย์รักษาป่าไปกับเรา ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่าเขาอยู่ในหมู่บ้านก็คงจะชวน ๆ กันมาทำอะไรทำด้วยกัน แต่คำตอบที่ได้กลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะเขาเลือกด้วยความตั้งใจที่อยากจะพัฒนา โดยเล่าว่ามีคนใกล้ตัวที่เคยเสียชีวิต หรือว่าจะต้องเจ็บป่วยจากสารเคมีในการทำเกษตร กลายเป็นสิ่งที่ฝังใจ เขาไม่อยากจะทำเกษตรแบบนั้นอีกแล้ว พอมีโอกาสให้ลองทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบ โดยมีพื้นฐานของการดูแลกันและกัน ดูแลทั้งคนและดูแลสิ่งแวดล้อมเขาเลยอยากลองดู
“นอกจากนี้เราอยากพูดถึงปัญหาเรื่องไฟป่า นั่นก็เป็นการสะท้อนถึงการทำงานในเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ร่วมกับชาวบ้านและกรมอุทยานฯ โดยมีหลายฝ่ายมากที่มีเป้าหมายแบบเดียวกัน เมื่อมีกาแฟในป่าซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญ เป้าหมายของชาวบ้านอีกอย่าง คือต้องช่วยกันปกป้องพื้นที่ป่า ทุกคนมีส่วนร่วมและรู้สึกหวงแหน เป็นหูเป็นตาไปพร้อมกับการอนุรักษ์ คอยสอดส่องดูแลทั้งปัญหาไฟป่า หรือคนลักลอบเข้าไปตัดไม้เผาป่า เก็บของป่า ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟ และแหล่งรายได้ของเขา ทุกคนมีส่วนช่วยร่วมกันดูแล และเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน”
กาแฟมีวนาหนึ่งแก้วในมือ เท่ากับแรงสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน ทั้งวิถีเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม
คุณมิกิ :“แบรนด์กาแฟของเราเป็นแบรนด์รักษ์ป่า รักษาต้นน้ำ และเรารักอาชีพการทำกาแฟของเรา หลายคนบอกว่ากาแฟมีวนามีอนาคตนะ คนเริ่มกินเยอะ มันเป็นแนวโน้มทางการตลาดและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มันมีอนาคต และจะเติบโตขึ้นไป ย้อนหลังกลับไปจริง ๆ สิบปีที่ผ่านมา ทุกคนจะเห็นว่า ผู้บริโภคจะมีความรู้เยอะ และเลือกกินกาแฟเป็นมากขึ้น จะเข้าใจความแตกต่างว่าประเทศไหนมีคาแรกเตอร์กาแฟแบบไหน จะมีความลึกมากขึ้นในการเลือกดื่มกาแฟมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเป็นการเหมือนการกำหนดมาตรฐานของเราว่าเราต้องทำให้ดีตามมาตรฐานสากล เป็นไปตามกาแฟ Specialty Standard
“แต่ในขณะเดียวกันอันนี้มันเป็นในเชิงธุรกิจ เป็นพื้นฐานที่เราต้องทำ สิ่งรอบด้านไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ชุมชน ป่าไม้ต่าง ๆ เราต้องมองว่าเราไม่ทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าวันหนึ่งมันล่มสลายไป หรือว่าป่าไม้ถูกทำลายไป อากาศไม่ดี ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ธุรกิจเราก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี ยกตัวอย่างปัญหาน้ำท่วม คนออกไปไหนไม่ได้ ธุรกิจในพื้นที่แน่นอนว่าต้องได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นเราดูแลธุรกิจแล้วต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
“เราต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ธุรกิจ เราอยากจะใช้คำว่าเติบโตไปด้วยกัน มันเป็นคำจำกัดความที่สื่อถึงคำว่ายั่งยืนนั่นแหละ จะมีความยั่งยืนได้ก็ต้องมีอนาคตที่ดีร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราจึงอยากทำให้ดีที่สุดในการรักษาป่าไม้ ถ้ามีคู่แข่งแล้วเขาอยากจะใช้โมเดลเดียวกันกับเราในการปลูกกาแฟไปพร้อมการอนุรักษ์ป่าไม้ ก็จะยินดีมาก ๆ เพราะจะเป็นการขยายพื้นที่ในการอนุรักษ์ออกไปอีก มีคู่แข่งแบบนี้เยอะ ๆ เราไม่กลัวนะ แต่เป็นความท้าทายในฐานะนักการตลาดมากกว่าว่า เราต้องพยายามปรับตัวในเชิงการแข่งขันทางธรุกิจต่อไป แต่อย่างน้อย ๆ เรามั่นใจได้ว่าประเทศไทยของเรา จุดขายของกาแฟประเทศไทยมันอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน และพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเรา หรืออยู่ในโลกของเราก็จะได้อานิสงค์ไปด้วยกัน”
ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟออร์แกนิก ด้วยการออกแบบให้มีคาเฟ่ภายใต้แบรนด์มีวนา
คุณมิกิ : “เราไม่ได้แค่ส่งเสริมแค่เกษตรกร หรือคนต้นน้ำอย่างเดียวนะคะ สิ่งที่เราจะต้องมาทำงานต่อคือการพูดคุยกับลูกค้า หรือผู้บริโภคของเราด้วย เพื่อให้เขาเห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการอนุรักษ์ เหมือนที่พวกเราตั้งใจทำและเรามองว่าในอนาคตเราอยากจะมุ่งไปในทางเดียวกันมากขึ้น พอลูกค้าหรือผู้บริโภคมีความเข้าใจถึงความตั้งใจและเป้าหมายของเรา ก็คิดว่าจะเป็นโมเดลเดียวกัน ช่วยสนับสนุนให้ห่วงโซ่ทั้งระบบนั้นประสบความสำเร็จ
“นอกจากลูกค้าที่มาที่นี่จะประสบการณ์การดื่มกาแฟ หรืออาหารรสชาติอร่อยแล้ว เราก็อยากจะย้ำว่า การดื่มกาแฟ หรือทำอะไรก็ตามในชีวิต เราอาจจะคิดถึงผลกระทบทางธรรมชาติน้อยเกินไปสักหน่อย การที่เข้ามาในคาเฟ่แล้วกินกาแฟ ชื่นชอบในรสชาติของกาแฟมีวนา นั่นคือการประสบความสำเร็จในข้อหนึ่งแล้ว สองการที่มีคนมารีวิวจากสิ่งที่ทีมอินทีเรียร์ต้องการสื่อสารสิ่งที่มีวนาทำ แล้วช่วยให้คนรู้จักเรามากขึ้นก็เป็นอีกกำไรหนึ่ง ในการที่มีคนช่วยสนับสนุนสินค้า ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมเกษตรกรและการอนุรักษ์ป่าไปในตัว อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน เพื่อบอกว่าอย่าลืมนะ เพราะเรื่องเหล่านี้มันก็เป็นเรื่องของเราเหมือนกัน ถ้าไม่มีป่า กาแฟดี ๆ ก็ปลูกไม่ได้”
กว่าจะมาเป็นกาแฟมีวนา ตลอดทั้งกระบวนการคือการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และชุมชน ก่อนส่งต่อผลผลิตแห่งความทุ่มเทดังกล่าวนั้น มายังผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองใหญ่ ผ่านการดื่มกาแฟต้อนรับเช้าวันใหม่แบบกระปรี้กระเปร่า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า หากเราได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของเครื่องดื่มในมือ แล้วช่วยกันสนับสนุนกาแฟออร์แกนิกส์รักษาป่า สายพานความคิดดี ๆ ภายใต้แนวคิดแห่งความยั่งยืนก็จะขับเคลื่อนวงล้อนี้ให้ค่อย ๆ ไปถึงจุดมุ่งหมาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราทุกคน
บริษัท มีวนา จำกัด
เลขที่ 1 อาคารพรีเมียร์คอร์ปเปอเรทปาร์ค ซอยพรีเมียร์ ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ
โทร.0-2301-1072- 3
http://www.mivana.co.th/about/
MiVana Coffee Flagship Store
เรื่อง : ภัทรภร
ภาพ : มีวนา, นันทิยา