บ้านล้อมไม้ สู่ความสงบในพื้นที่สีเขียวส่วนตัว กับบ้านที่ล้อมไม้ใหญ่ไว้ - room

ปิดล้อมสู่ความสงบใน พื้นที่สีเขียว ส่วนตัว

บ้านหลังนี้โดดเด่นด้วยการสร้างพื้นที่ส่วนตัวในแบบ พื้นที่สีเขียว ซึ่งมีต้นไม้และช่องเปิดสำหรับแสงธรรมชาติอยู่ภายใน การออกแบบพื้นที่ใช้สอยจากพื้นที่เล็กๆให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยรอบ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากอีกหลังหนึ่งของการอยู่อาศัยในเขตเมืองอย่างเช่นกรุงเทพในทุกวันนี้ และผู้ที่ออกแบบบ้านหลังนี้ก็คือ TOUCH ARCHITECTS นั่นเอง

เจ้าของ: คุณกายแก้ว อัมพรวิวัฒน์ และคุณสิริยศ ภูนุช
ออกแบบ: TOUCH ARCHITECT

ความเป็นส่วนตัวที่ยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

ด้วยความที่เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรค์ ที่ดินของบ้านแต่ละหลังจึงค่อนข้างอยู่ติดกันไปเสียหมด การออกแบบพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปิดกั้นพื้นที่ภายในจากพื้นที่ภายนอกเสีย แต่หากปิดกั้นไปเสียหมดแล้วก็จะทำให้รู้สึกอึดอัด ขาดการรับรู้ถึงบริบท และคงทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยภายในรู้สึกไม่ดีเป็นแน่

การออกแบบ facade skin หรือเปลือกอาคาร จึงเป็นสร้างองค์ประกอบที่จะช่วยพรางตาและสร้างความเป็นส่วนตัวได้โดยที่ผู้ที่อยู่ภายในยังรู้สึกสัมผัสกับธรรมชาติและบริบทรอบด้านได้อยู่ ผู้ออกแบบ เลือกที่จะใช้ระแนงเหล็กกล่องเพื่อพรางตาและสร้างความเป็นส่วนตัว แสงธรรมชาติที่ลอดผ่านซี่ระแนงนั้นยังคงทำให้ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนไปของบริบทโดยรอบอยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ การใช้ระแนงโลหะเป็นเปลือกอาคารยังทำให้ผู้ที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวบ้านได้โดยทั่วเช่นเดิม

พื้นที่จตุรัส ใช้งานได้คุ้มค่า สำหรับบ้านพื้นที่น้อย

พื้นที่ของบ้านหลังนี้นั้นตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 50 ตารางวา หลังจากรื้อถอนบ้านเดิมออกแล้ว การออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานใหม่จึงต้องมีการจัดวางผังเสียใหม่

ผู้ออกแบบเลือกวางผังบนกริดตารางแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส เพื่อให้แบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นพื้นที่ต่างๆได้ครบถ้วนกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้า(ในขนาดพื้นที่เดียวกันที่ดินแบบจตุรัสจะใช้งานได้มากกว่าแบบผืนผ้า) โดยที่เลือกให้ห้องรับแขกนั้นอยู่ด้านในจากหน้าบ้านเข้ามา และแบ่งพื้นที่ด้านหน้าออกเป็นห้องทำงานแบบ WFH ที่ต่อไปจะใช้เป็นห้องนอนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต และพื้นที่ชั้นสองที่เป็นห้องนอนทั้งสองฝั่ง

การเลือกให้ห้องนั่งเล่นอยู่ด้านในของตัวบ้านนั้นก็เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวจากถนนหน้าบ้านด้วยเช่นกัน โดยที่ห้องนั่งเล่นนี้จะสามารถเปิดออกไปยังชานหลังบ้านและรับกับสวนกลางบ้านได้พร้อมๆกัน

ด้วยความที่บ้านหลังนี้มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด พื้นที่สัญจรภายในบ้านจึงเลือกที่จะหยิบยืมเอาจากพื้นที่ใช้งานต่างๆ โดยทำเป็นทางเดินโอบล้อมสวนกลางบ้านคล้ายเป็น Corridor ยาวลัดเลาะไปตามสวนกลางตลอดทั้งอาคารจนถึงสวนดาดฟ้าด้านบนนั่นเอง

เปลี่ยนสวนรอบบ้าน ให้เป็นธรรมชาติที่ใจกลาง

จากเดิมที่บ้านจัดสรรค์มักจะทำสวนขนาดเล็กไว้รอบบ้านซึ่งแทบจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆได้ เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้สอยพื้นที่ และอิทธิพลที่ดีจากพื้นที่สีเขียวแล้ว การออกแบบบ้านล้อมพื้นที่สีเขียวของบ้านหลังนี้จะสามารถสร้างให้เกิดบรรยากาศที่ดีได้มากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศผ่อนคลายจากต้นไม้ที่ตั้งอยู่กลางบ้าน สามารถมองเห็นได้จากทุกส่วนแล้ว แสงธรรมชาติและร่มเงาที่เกิดขึ้นยังทำให้บ้านหลังนี้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นแม้จะมีต้นไม้ใหญ่เพียง 2 ต้น คือหน้าบ้าน และที่กึ่งกลางบ้านก็ตาม นับว่าเป็นการใช้องค์ประกอบสีเขียวได้อย่างคุ้มค่าและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก

ครัวไทยใจโมเดิร์นที่ใช้งานได้จริง

ด้วยความที่เจ้าของบ้านชื่นชอบในการทำอาหาร การออกแบบพื้นที่ครัวของบ้านหลังนี้จึงรวมเอาครัวไทยและแพนทรี่เข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน นอกจากจะประหยัดพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังเป็นการใส่ความเป็นครัวไทยเข้ามาในบ้านอย่างน่าสนใจอีกด้วย

ในเวลาปกติครัวนี้จะถูกเปิดใช้คล้ายชุดแพนทรี่ในห้องนั่งเล่น แต่ห้องครัวนั้นกั้นไว้ด้วยผนังกระจก และกรุผนังด้วยกระเบื้องเซรามิคมันวาว รวมทั้งมีเครื่องดูดควันแบบครัวไทยมที่จะช่วยระบายควันออกไปจากห้องโดยที่ห้องๆนี้สามารถเก็บกวาดได้โดยง่ายอีกด้วย

นอกจากจะเป็นความชอบส่วนตัวแล้ว การนำครัวไทยเข้ามาในบ้านซึ่งแตกต่างจากที่เรามักคุ้นชินกับการนำครัวไทยไปไว้นอกบ้าน(เช่นพื้นที่หลังบ้าน)ก็ยังสร้างความเป็นส่วนตัวได้มากกว่า ทั้งยังสามารถดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ชิ้นโปรดได้ง่ายกว่าอีกด้วย

และนี่ก็คือบ้านในบริบทเมืองที่สร้างความเป็นส่วนตัวผนวกเข้ากับพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ขนาดกำลังดีได้อย่างน่าสนใจอีกหลังหนึ่ง เพราะงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีนั้นไม่ใช่แค่เพียงแก้ปัญหาต่างๆเท่านั้น แต่ยังสามารถนำพาการอยู่อาศัยให้เป็นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่นบ้านหลังนี้


ภาพ เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู

เรื่อง Wuthikorn Sut

พบกับงานออกแบบที่น่าสนใจได้อีกมากมายที่
https://www.facebook.com/roomfan