เยี่ยมสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน ผู้คน ช่างฝีมือ และอาหาร ‘The Artisans Ayutthaya’ ตึกครึ่งไม้ครึ่งบล็อกแก้วริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สร้างขึ้นมาเพื่อพันธกิจสืบทอดสูตรอาหารหากินยากให้คงอยู่ ซึ่งในตอนนี้พร้อมแล้วที่จะส่งต่อสำรับอาหารพื้นบ้านฝีมือป้า-ยายชาวบ้านรุน ให้ทุกคนได้ลิ้มลอง
ป้าเสงี่ยม, ป้าขันทอง, ป้ารี, ป้าอี่ และป้าแตน คือชื่อของตึกทั้ง 5 หลัง ตั้งขึ้นตามชื่อของป้าทั้ง 5 ท่านที่ คุณเอส-สรวีย์ วิศิษฏ์โสพา เจ้าของ ‘อาร์ทิซานส์’ ยกย่องพวกเขาเหล่านี้เป็นดั่งคัมภีร์ที่ยังมีลมหายใจ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาร์ทิซานส์ถือกำเนิดขึ้นมา
อาร์ทิซานส์นั้นเป็นมากกว่าร้านอาหารริมแม่น้ำที่เหมาะกับการกินดื่มหรือเสพบรรยากาศกลับไป เพราะคุณเอสตั้งมั่นให้ที่นี่เป็นสถานที่สร้างโอกาสและกระจายรายได้สู่คนในพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ภาชนะจากช่างฝีมือ การแสดงศิลปะพื้นบ้านของนักเรียนนักศึกษา พร้อมกับผลักดันให้อาร์ทิซานส์เป็นดั่งภัณฑารักษ์ผู้เก็บรักษาและส่งต่อสูตรอาหารตำรับโบราณที่กำลังจะถูกหลงลืมไป ให้ผู้ที่สนใจกรรมวิธีจากภูมิปัญญาโบราณโดยฝีมือของเหล่าคุณป้าคุณยายที่มีอายุตั้งแต่ 70 – 90 ปี ได้เข้ามาเรียนรู้ ลองชิม แล้วนำกลับไปทดลองทำ เพื่อร่วมกันสืบทอดองค์ความรู้เหล่านี้ต่อไปโดยไม่หวงแหนวิชา
ตัวอาคารของอาร์ทิซานส์ พัฒนารูปแบบมาจาก Art4D Pavilion หรือสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่เคยจัดแสดงภายในงานสถาปนิก’18 ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio ผู้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้และเหล็กมาจับคู่กับบล็อกแก้วมากกว่าสองหมื่นก้อน โดยออกแบบให้สามารถเป็นทั้งผนังอาคารและโครงสร้างรับแรงที่ทนทานต่อสภาพลม ฝน และแดดกลางแจ้งได้อย่างถาวร รวมถึงมีความสอดคล้องกับบริบทกลางชุมชนตำบลบ้านรุน ที่ส่วนใหญ่ปลูกบ้านเรือนไทยอาศัยอยู่ชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก บริเวณรอยต่อของสองอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คืออำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะอิน
อาร์ทิซานส์ ประกอบด้วยตึกรูปทรงสามเหลี่ยม 5 หลัง ที่ถูกเชื่อมเข้าหากันผ่านสะพานไม้และบันได ตั้งอยู่ถัดจากอาคารต้อนรับที่สร้างขึ้นภายหลัง ทางเชื่อมนี้เองผู้มาเยือนสามารถก้าวเดินจากอาคารหนึ่งไปสู่อาคารหนึ่ง หรือจะพักเชยชมบ้านเรือนไทยของชาวบ้านรุนฝั่งทิศเหนือ แลทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก และมองทะลุไปถึงตัวอาคาร The Wine Ayudhya ที่ตั้งขนาบกันทางทิศใต้ได้อย่างชัดเจน ฝ้าเพดานและเสาอาคารปิดผิวโครงสร้างเหล็กด้วยไม้อัด ขณะที่หน้าต่างทุกบานเลือกใช้แผ่น PVC Sheet ซึ่งมีน้ำหนักเบาและราคาประหยัดแทนการใช้กระจก ในส่วนโครงสร้าง สถาปนิกยังได้เลือกใช้ไม้เนื้อแข็งอย่าง ไม้เต็ง มาเป็นวัสดุปิดผิวทับโครงสร้างเหล็กภายใน ซึ่งต้องใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นในการจัดเรียงบล็อกแก้วขึ้นไปทีละชั้นทีละก้อน
“ที่ The Wine นั้น มี PVC Sheet คอยป้องกันน้ำ ส่วนอาคารนี้โดนน้ำเต็ม ๆ เราจึงต้องใช้ไม้ที่สามารถทนน้ำได้ดีที่สุดนั่นก็คือ ไม้เต็ง” ผศ.บุญเสริม อธิบาย “ไม้เต็งมีความเป็นธรรมชาติ มีทั้งสีอ่อน-เข้ม เผยสีสันของวัสดุจริง ๆ ตามธรรมชาติ ผนวกกับฝีมือของช่าง เเละความเเม่นยำของระบบอุตสาหกรรมในการผลิตบล็อกแก้ว ก่อนนำข้อดีของทั้งหมดนี้มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยไม้มีคุณสมบัติของความยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดได้ ไสได้ ส่วนบล็อกแก้วก็มีขนาดที่เท่ากันเที่ยงตรง เเม้วัสดุที่เลือกใช้จะเเตกต่างกัน เเต่ก็ลงตัวได้อย่างดี ให้มุมมองเเละความรู้สึกในอีกมิติ”
เสน่ห์ของอาร์ทิซานส์ที่เราสัมผัสได้ ตรงตามความตั้งใจของสถาปนิกผู้มีแนวคิดให้พื้นที่ภายในตึกแต่ละตึก ช่องว่างระหว่างตึกแต่ละหลัง และช่องเปิดอาคารอย่างประตูและหน้าต่างทุกบาน ก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวจากอิริยาบถของมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงตามการเคลื่อนที่ของแสงในแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน อาร์ทิซานส์จึงเป็นตึกที่ดูโปร่งแสงในยามเช้า แต่ดูขุ่นมัวในยามบ่าย กอปรกับเงาของต้นไม้ที่กำลังเติบโตกอดรอบอาคารอย่างร่มรื่น นั่นเพราะคุณสมบัติของบล็อกแก้วซึ่งมีพื้นผิวขรุขระ เมื่อมีแสงลอดผ่านไปกระทบผิวไม้จึงเกิดมิติแปลกตา และนี่คือสิ่งที่สถาปนิกบอกว่าเป็นการค้นพบระหว่างทางของตัวเขาเองเช่นกัน
“ผมออกแบบสถาปัตยกรรม 50% ที่เหลืออีก 50% ธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบ” ผศ.บุญเสริม เคยบอกกับเราเมื่อครั้งอาร์ทิซานส์อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
“อาคารนี้จะทำให้คนที่เข้ามารู้สึกถึงความเซอร์ไพร้ส์ เพราะผมตั้งใจออกแบบให้อาคารดูเหมือนถูกซ่อนอยู่กลางชุมชน ผมเลยอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกซ่อนเข้าไปอีก เหมือนอาหารที่คุณเห็น หรือคุณป้าคุณยายที่เป็นช่างฝีมือด้านอาหาร คนเหล่านี้คือองค์ความรู้ดี ๆ ของชาวอยุธยาที่คนกรุงอย่างพวกเราไม่เคยรู้จักมาก่อน อาคารนี้จึงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าข้างในเราจะพบกับอะไร ผมเชื่อว่าคนเห็นก็คงสงสัยว่าข้างในนั้นมีอะไรเช่นกัน นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะถ่ายทอดความสงสัยของคนในยุคปัจจุบันที่มีต่อประวัติศาสตร์ในด้านที่ไม่มีใครเขียนบันทึกไว้ โดยให้มันสะท้อนไปสู่ตัวอาคาร สร้างความเซอร์ไพร้ส์ให้ปรากฏทั้งบนจานอาหาร เเละพื้นที่ภายใน-ภายนอกอาคารทั้ง 5 หลังนี้”
ภารกิจก่อสร้างและเตรียมความพร้อมอันยาวนานจบลงแล้ว ในตอนนี้อาร์ทิซานส์พร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้มาสัมผัสประสบการณ์ในแบบที่ room ได้มาสัมผัสในครั้งนี้ ใครสนใจลองมาชิมอาหารพื้นบ้านฝีมือชาวบ้านรุน อาทิ กุ้งแม่น้ำเผาเตาถ่าน หรืออาหารที่หากินยากอย่าง แกงขาว, ข้าวจานน้ำ, ขนมพี่ไปน้องมา ที่ชุมชนบ้านรุนชอบทำแจกและแบ่งปันกันในงานบุญ เลือกได้ทั้งสำรับป้าขันทอง, สำรับป้าอี่ หรือสำรับป้าแตน สำรับชาวบ้านที่ใช้วัตถุดิบหลักเป็นเนื้อวัวและกุ้งแม่น้ำ หนึ่งสำรับมีทั้งหมด 5 เมนูคาว และ 1 เมนูของหวาน สำหรับ 2 ท่าน เสิร์ฟบนภาชนะดินเผาที่ปั้นจากสองมือของป้ายอ ช่างฝีมือปั้นหม้อดินเผาแห่งคลองสระบัว และอีกหนึ่งคนก้นครัวของอาร์ทิซานส์
นอกจากเสิร์ฟทั้งแบบสำรับ ยังมีแบบอาลาคาร์ตให้เลือก รวมถึงยังมีบริการล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใน 2 เส้นทาง คือ ล่องเรือเข้าเกาะเมืองอยุธยา ไปชมโบราณสถานและดูช้างอาบน้ำ กับล่องเรือชมเกาะพระ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และพระราชวังบางปะอิน ซึ่งเปิดรับเฉพาะการสำรองที่นั่งล่วงหน้าเท่านั้น สนใจโทร. 06-1195-9514 หรือแอดไลน์ได้ที่เบอร์นี้
The Artisans Ayutthaya เปิดบริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ในเมนูอาลาคาร์ต 2 ช่วงเวลา คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 21.00 น. ส่วนวันจันทร์ – วันอาทิตย์ จะเปิดบริการสำรับรองท้อง ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. และเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ เสิร์ฟเฉพาะอาหารมื้อเย็นแบบสำรับ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย (ไม่มีบริการเมนูแบบอาลาคาร์ต)
The Artisans Ayutthaya
ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/TPS1tcSAJJs8khzi7
เจ้าของ: คุณสรวีย์ วิศิษฏ์โสพา
ออกแบบ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา / Bangkok Project Studio
เรื่อง/ภาพ: นวภัทร ดัสดุลย์