จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ภัณฑารักษ์ที่นำเสนอเมืองผ่าน นิทรรศการ URBAN IN PROGRESS

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ภัณฑารักษ์ที่นำเสนอเมืองผ่านนิทรรศการ

ก่อนหน้านี้ room พาไปชมนิทรรศการ URBAN IN PROGRESS : ONE BANGKOK’S EDITION ซึ่งจัดแสดงที่ The Prelude One Bangkok กันมาแล้ว ทั้งส่วนของนิทรรศการและแนวคิดเบื้องหลังของนักสร้างสรรค์ทั้ง 3 ท่าน แต่ยังมีอีกหนึ่งเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นนิทรรศการครั้งนี้ นั่นคือผู้ทำหน้าที่คัดเลือกผลงานมารวมไว้ในที่เดียวอย่าง “ภัณฑารักษ์”

คุณจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการ วัน แบ็งค็อก เธอคือผู้รับหน้าที่ดูแลภาพรวมของงาน รวมไปถึงคัดเลือกผลงานจากนักสร้างสรรค์ที่มีแนวคิดโดดเด่นน่าสนใจ สอดคล้องกับแนวทางของโครงการ วัน แบงค็อก เช่นเดียวกับการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ลองมาฟังแนวคิดในฐานะภัณฑารักษ์ กับความเห็นที่ว่า ศิลปะมีส่วนช่วยส่งเสริมเมืองให้น่าอยู่ได้อย่างไรพร้อมกัน 

มากกว่าสุนทรี แต่คือข้อความไปยังผู้คน

“ภาพรวมของฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมมีหน้าที่เชิงกายภาพง่าย ๆ คือเราจะทำงานศิลปะเพื่อที่จะสร้างความสวยงามตกแต่งพื้นที่ของโครงการวัน แบงค็อก แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารข้อความต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะจะพูดถึงประเด็นสำคัญ ๆ ของสังคมได้ หรือพูดวิสัยทัศน์และแนวคิดต่าง ๆ ได้มากมาย 

“โดยประเด็นที่พวกเราทุกคนให้ความสนใจ คือ เรื่องของพื้นที่ เรื่องของย่าน เรื่องของเมือง เรื่องของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเติบโตไปพร้อมกับกรุงเทพมหานคร มีส่วนในการสร้างอิมแพ็คที่ดีให้กับเมือง ปัจจุบันเรามองว่า เรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอยู่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน คิดในระยะไกล คิดถึงทุกอย่างให้รอบด้าน 

“ซึ่งแนวคิดเรื่องเมืองเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจมาโดยตลอด สอดคล้องกับนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่กำลังจัดทำโครงการ “เมืองเปลี่ยนแปลง” เราจึงหาทางร่วมมือกัน โดยเริ่มจากมองดูในความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีศิลปินท่านไหนบ้างที่สนใจในเรื่องราวนี้ ก่อนเริ่มลงลึก”

จากหอศิลป์กรุงเทพฯ สู่ วัน แบงค็อก

“ผลงานที่เคยจัดแสดงที่หอศิลป์มีราว ๆ 30 ชิ้น โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 1 นิทรรศการ การจัดแสดงครั้งนี้ ไม่ใช้คำว่าศิลปิน แต่ใช้คำว่า นักสร้างสรรค์ เพราะบางท่านไม่ได้เป็นศิลปิน บางท่านเป็นอาจารย์ นักวิชาการ วิศวกร แต่ทุกคนมีความสนใจ และมีมุมมองต่อประเด็นเรื่องเมืองเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเหมือนกัน แต่ละคนได้นำความสนใจนั้น มานำเสนอผ่านงานศิลปะในหมวดหมู่ต่าง ๆ ตามความสนใจของตัวเอง เมื่อได้ทำงานร่วมมือกับ BACC ทำให้เรามีไอเดียที่จะนำมาจัดแสดงต่อที่นี่ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้ไม่สามารถนำทุกประเด็นในโครงการเมืองเปลี่ยนแปลงมาจัดรวมไว้ที่วัน แบงค็อกได้ เราจึงพยายามเลือกและปรึกษาว่าหัวข้อไหนเหมาะสมบ้าง เหมือนเป็นการย่อไซซ์มาประมาณหนึ่ง โดยประเด็นที่หยิบมานั้นจะเป็นประเด็นที่ครอบคลุมภาพของเมืองในมุมกว้าง โดยเลือกมา 3 ชิ้นงาน ทุกผลงานล้วนสะท้อนให้เห็นภาพเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ กัน แต่ก็ล้อกันอยู่ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต” 

3 นักสร้างสรรค์ที่มีจุดร่วมเป็น “น้ำ”

“นักสร้างสรรค์ทั้ง 3 ท่าน ที่เลือกมามีความเชี่ยวชาญต่างกัน อาทิ ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง เป็นนักประวัติศาสตร์ สนใจด้านวิชาการ ส่วนคุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ เป็นศิลปินนักออกแบบมัลติมิเดีย แต่มีงานอดิเรกที่จริงจังมากอย่าง การปั่นจักรยาน การออกไปพายเรือ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งนอกจากอาชีพประจำ หรือจะเป็นคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ซึ่งมีอาชีพเป็นสถาปนิก ทั้งสามท่านมีความหลากหลาย และงานที่ทำก็มีความหลากหลายเช่นกัน พอเราหยิบมาจัดแสดง จึงมีความหลากหลายครบถ้วนพอสมควร

“แม้ว่านักสร้างสรรค์ทั้ง 3 ท่าน จะมีความสนใจ เนื้อหา ความถนัดแตกต่างกัน แต่เรารู้สึกได้ว่าทั้ง 3 ชิ้นงาน มีไดอะล็อกร่วมกัน มีเรื่องที่เชื่อมกันอยู่ จริง ๆ ถ้าศึกษาลึกลงไปกว่านั้น เรื่องที่เชื่อมกันคือเรื่องของ “น้ำ” อย่างภาพถ่ายในอดีตของอาจารย์พีรศรี เป็นกายภาพของเมืองบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ในอดีต อาทิ เขตดุสิต เขตคลองเตย ทุ่งศาลาแดง ในภาพเราจะเห็นว่า มีเทคโนโลยีการสร้างอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก และเห็นภาพแม่น้ำลำคลองรวมอยู่ในภาพ ทำให้ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองในยุคสมัยนั้น แล้วแม่น้ำลำคลองก็เป็นวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น เราอยู่ชุมชนริมน้ำ เราเดินทางผ่านทางน้ำ 

“ส่วนงานของคุณวิชญ์ ได้หยิบเส้นทางเครือข่ายการคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมกันอยู่มานำเสนอ ด้วยการลองเดินเรือในแม่น้ำลำคลองปัจจุบันนี้ด้วยตนเอง โดยใช้เส้นทางอย่างในอดีต แทนการเดินทางที่ไม่ใช่ถนน พอถึงงานคุณสุริยะ ก็เน้นทำเรื่องการอยู่ร่วมกับน้ำในอนาคต ถ้าลองคาดการณ์ในอนาคต ถ้าหากโลกเกิดน้ำท่วมขึ้นมา มนุษย์จะปรับตัวอยู่กับสถานการณ์นั้นอย่างไร จึงกลายเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ อีกหนึ่งเลเยอร์ที่มองเห็น อย่างงานของอาจารย์พีรศรี ดูเป็นภาพการบันทึกสถานการณ์ในอดีต คุณวิชญ์อยู่กับปัจจุบันและหาวิธีอยู่กับปัจจุบัน ส่วนคุณสุริยะคาดการณ์ไปในอนาคต ประกอบกันเป็นหลายเลเยอร์ที่ร่วมกัน กลายเป็น 3 คน ที่อยู่ใน 3 ช่วงเวลา แล้วมาชนกันพอดี 

“ประเด็นเรื่องน้ำที่ซ้อนกันอยู่ของทั้งสามท่าน เป็นประเด็นที่ทาง วัน แบงค็อก เห็นความสำคัญด้วยเหมือนกัน ในฐานะที่เราสร้างเมืองใหม่ เราก็หวังจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ดี มีการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโครงการ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับกรุงเทพฯ พอทุกอย่างเหมาะสมลงตัว จึงเป็นที่มาของนิทรรศการนี้”

ศิลปะ ความงามที่จับต้องได้ 

“เหตุผลที่ศิลปะสามารถขับเคลื่อนเมืองให้ดีขึ้นได้ อย่างแรกคือ สวย จรรโลงใจ ทัศนียภาพสวยงาม นอกจากนี้ เรายังมองศิลปะในอีกมุมที่ลึกขึ้น เหมาะกับคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น แปลว่าโอกาสที่คนเข้าถึงก็มีมากขึ้นเช่นกัน หรือศิลปะที่ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในลักษณะของแกลเลอรี่ หรือพิพิธภัณฑ์ อาจจะอยู่ในส่วนของพื้นที่สาธารณะได้ แปลว่าวันหนึ่งถ้าเราเดินถนนแล้วเลี้ยวโค้งไปอาจจะได้เจอกับงานประติมากรรมของศิลปินสักหนึ่งท่าน ที่ตั้งจัดแสดงอยู่อย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตคนเมือง เดินไปทางไหนก็รายล้อมไปด้วยงานศิลปะ ถ้าดูแล้วมีความรู้สึกว่าสวยนั่นก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่ถ้ามองแล้วเราเข้าใจถึงความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารไปด้วยละก็ นั่นจะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก 

“เช่น ไปดูงานคุณวิชญ์ อาจจะอยากลุกขึ้นมาแล้วออกไปพายเรือ ไปมองหาบางอย่างของกรุงเทพฯ ที่ซ่อนอยู่ อาจจะทำความเข้าใจเหมือนที่คุณวิชญ์ลองเปลี่ยนมาเดินทางโดยใช้เรือ คือแรก ๆ สนุก หลัง ๆ เริ่มอยากหยิบนิราศกลับมาอ่าน ไปศึกษาเส้นทางว่ามีกี่กิโลเมตร เมื่ออยู่ในจุดหนึ่ง คนก็อาจจะ Reserve สิ่งนี้ไว้ ทำให้ดีขึ้น หรือไม่ถูกทำลาย เรารู้สึกว่าศิลปะมีหน้าที่ตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงใหญ่มาก แต่ถ้า วัน แบงค็อก สามารถทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เราเชื่อว่าคุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้น อย่างน้อยคือ ต้องสวยทางด้านความคิด”

บทบาทของ วัน แบงค็อก กับการพัฒนาวงการศิลปะ

อยากให้ วัน แบงค็อก เป็นพื้นที่ศิลปะที่มีคุณภาพในเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เราอยากจะนำเสนองานที่มีคุณภาพ เป็นโอกาสทำให้ศิลปินไทยและต่างประเทศได้มีโอกาสมาแสดงงาน อีกแง่หนึ่งก็จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมศิลปะ หรือการออกแบบดีขึ้น มี Demand Supply เราเป็น Demand แล้วมี Supply ที่ดี ช่วยกันทั้ง Ecosystem สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนเมือง 

“เพราะเราอยากให้ศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่จำเป็นต้องปีนบันไดดู งานศิลปะมีได้หลายรสนิยม หลายรูปแบบให้คนได้เลือกเสพ บางอย่างอาจจะเหมาะกับเรา บางอย่างอาจจะยากเกินไป ไม่เหมาะ แต่ว่าอาจจะเหมาะกับบุคคลที่เขาสนใจมาก ๆ หรือบางชิ้นอาจจะสวย แล้วทำให้ทัศนียภาพดูงดงาม เพราะศิลปะมีหลากหลายประเภท ทั้งงานถาวร และงานชั่วคราว เพื่อให้เข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม”