Infinitude ด้วยวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุดคอลเลคชั่นกระเป๋าจากพลาสติกกำพร้า - room

INFINITUDE ด้วยวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุด

PIPATCHARA แบรนด์แฟชั่นไทยในเวทีโลกที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา โดย คุณเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา และ คุณทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา ด้วยแนวคิดการใช้แรงขับเคลื่อนของโลกแฟชั่นเพื่อสร้างการมีส่วนรวมย้อนกลับไปช่วยเหลือชุมชน จนเกิดเป็นคอลเลคชั่น Infinitude ที่ไม่เพียงเลือกช่างฝีมือไทยในการผลิตเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุหลักของคอลเลคชั่นเป็น “พลาสติกกำพร้า” อีกด้วย

Fashion for Community หรืองานออกแบบที่สร้างการมีส่วนร่วมกลับคืนสู่สังคม คือแนวทางการทำงานของ PIPATCHARA ตลอดมา เมื่อมาถึงคอลเลคชั่น Infinitude นี้ จึงเริ่มมองหามิติของความยั่งยืนที่หลากหลายออกไป ความไม่มีที่สิ้นสุดในความหมายของ Infinitude นั้นสามารถแปลออกมาได้ทั้งมิติของการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเลือกทำงานกับครูที่แม่ฮ่องสอนเพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับเหล่าครู ออกแบบชิ้นส่วนต่างๆโดยคำนึงถึงการทำงานกับคนในชุมชน ตลอดจนวัตถุดิบที่เหลือใช้ก็มาจากการรวมรวบขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับเข้าระบบได้ หรือที่เรียกว่า ‘พลาสติกกำพร้า’ มาใช้เป็นวัสดุหลัก จึงเป็นที่มาของคำว่า Infinitude เราต้องการต่อยอดความเป็นไปได้เหล่านี้ให้ต่อเนื่องไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากตัวชิ้นงานเองแล้ว ก็หวังว่าคอลเลคชั่นนี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆของ Circular Economy ที่จับต้องได้เช่นกัน

พลาสติกกำพร้า เหมือนไร้ค่า แต่สร้างสรรค์ได้ด้วยงานออกแบบ

พลาสติกที่เลือกใช้ในคอลเลคชั่นนี้ทั้งหมดคือ ‘พลาสติกกำพร้า’ ซึ่งเป็นขยะที่ไม่มีมูลค่าในตลาด ไม่ถูกนำไปใช้ซ้ำ รีไซเคิลก็ให้กลับมาเป็นตัวมันเองก็ไม่ได้ เราใช้พลาสติกที่มาจาก Post-Consumer Waste ซึ่งคือพลาสติกที่ผ่านการใช้มาจากในครัวเรือนมาแล้ว และยังมีขยะจากท้องทะเลอีกด้วย เพราะเราอยากสร้างให้ทุกคนได้รับรู้ว่าขยะเหล่านี้ยังมีทางไปที่ดีกว่าแค่นำไปฝังกลบ เราอยากให้มองว่าขยะไม่ใช่ผู้ร้าย ขยะมันมีประโยชน์ของมันอยู่ที่วิธีการเลือกใช้ งานออกแบบจะช่วยพาขยะเหล่านั้นให้ได้มีพื้นที่ใหม่ๆกลับสู่วงจรไม่ใช่เป็นแค่ขยะ   

ความท้าทายคือจะต้องทำอย่างไรให้ขยะพลาสติก ไม่เหมือนพลาสติกโดยทั่วไป สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการดีไซน์ก็คือสีและสัมผัส สีเหล่านี้ต้องผ่านทางทดลองผสมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทุกสีเกิดจากการผสมทางธรรมชาติของมัน ไม่มีการเจือปนใด ๆ สีที่ได้ขึ้นอยู่กับการผสมชนิดของพลาสติก ลวดลายก็เกิดจากเกิดจากการผสมกันโดยตัวมันเอง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกใบก็จะไม่เหมือนกันอีกด้วย งานทุกชิ้นจึงแฝงความหมายของคำว่า Rebirth Recycle และ Redone เพื่อที่จะเป็นตัวแทนของคำว่า Infinitude ในที่สุดนั่นเอง

งานศิลป์จาก ‘วัสดุที่ถูกมองข้าม’

เราค่อนข้างประทับใจกับผลลัพธ์ที่ได้ออกมา สีแรกที่เราเห็นว่านี่คือ ‘ชิ้นงาน’ ที่นำไปออกแบบต่อได้คือ สีเหลือง เราใช้ฝาขวดน้ำสองชนิดมาผสมกับแก้วพลาสติกใส ใช้เวลาทดลองกว่า9เดือน จนได้สีและสัมผัสที่น่าพอใจ สาเหตุที่ใช้เวลานานเพราะต้องปรับสัดส่วนวัสดุ จนสำเร็จออกมาเป็นต้นแบบแรก แต่หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีก 1 ปีเต็ม ๆ ในการพัฒนาสีอื่น ๆ ซึ่งออกมาได้ทั้งหมด 9 สี ในคอลเลคขั่น อย่างสีม่วงเราก็ใช้ฝาขวดผสมกับพลาสติกอีกหลายชนิดเพื่อสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนสีที่ถูกนำมาใช้แบบไม่ผสมเลยก็จะมีสีขาวครีมและสีดำ สีขาวครีมก็นำมาจากขวดนมเปรี้ยวชนิดหนึ่ง ส่วนสีดำก็ทำมาจากภาชนะใส่อาหาร เสน่ห์มันก็จะขึ้นอยู่กับจังหวะของของแต่ละสีที่ละลายลงไป แต่ละคนที่ได้ไปก็จะรู้สึกว่ามันเป็น one of a kind เพราะมีแค่ชิ้นเดียวเท่านั่นจริงๆ ซึ่งถ้าใครที่สนใจ เราก็มีจัดนิทรรศการเล็กๆเกี่ยวกับที่มาของวัสดุทั้งหมดนี้ที่ PIPATCHARA Shop ที่ Siam Discovery Center

สีขาวครีมคืออันหนึ่งที่ถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีมาก ส่วนสีดำนี้ค่อนข้างจะขายดีที่ต่างประเทศ ส่วนที่ไทยสีที่ขายดีก็จะเป็นสีขาวครีมและสีม่วง อาจจะเป็นเพราะคนไทยรู้ว่ามันทำจากขวดนมเปรี๊ยวเลยรู้สึกพิเศษ แต่ที่น่าเสียดายที่วัสดุที่ใช้ทำสีม่วงจะไม่ถูกผลิตแล้ว เราเลยต้องยอมรับมันถ้าลูกค้าอยากได้ มันก็คือไม่มีแล้ว ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้ทุกชิ้นมีความเป็น Limited ในตัวเอง ไม่สามารถ Re-Product ได้แน่นอน

ด้วย Mindset แห่งความยั่งยืน

สุดท้ายแล้ว เราอยากจะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า แฟชั่นกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็สามารถนำมาผูกโยงเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ ถ้าเราทำผลิตภัณฑ์แค่การรีไซเคิลมันก็อาจจะไม่สามารถตอบกลับไปยังเหล่าผู้ผลิตที่เราเลือกใช้ได้ เช่นครูที่แม่ฮ่องสอนก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า การทวีค่าวัสดุเหล่านี้ด้วยงานออกแบบและความเป็นแฟชั่นก็เปิดโอกาสให้การเปลี่ยนผ่าน ‘สถานะ’ ของวัสดุเหล่านี้จากขยะสู่งานศิลป์เป็นไปได้อย่างคุ้มค่าทั้งผู้ออกแบบ แรงงาน จนถึงเมื่อกระเป๋าเหล่านี้ไปอยู่ในมือของผู้ใช้ก็ตาม เราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นอาชีพอะไร นักเรียน นักศึกษา นักออกแบบ หรืออะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอนุรักษ์โดยตรง เราก็ต่างมีส่วนรวมสร้างให้โลกนี้ดีขึ้นได้ เพียงแค่ใส่ใจ สนใจปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ผลักดันให้เป็นรูปธรรม คุณก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้เช่นกัน

และนี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างดีๆที่ลบภาพจำของ แฟชั่น ที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างสิ้นเชิง


ข้อมูลเพิ่มเติม: https://pipatchara.com

ภาพ: ศุภรกร ศรีสกุล, PIPATCHARA

เรื่อง: Wuthikorn Sut, ภิญญดา ยืนยงสวัสดิ์