ไอเดีย ฟาซาดอิฐ ไม่ซ้ำใคร! กับ โครงสร้างคอร์เบล

ไอเดีย ฟาซาดอิฐ ไม่ซ้ำใคร! กับ โครงสร้างคอร์เบล

ความสวยงามทางสถาปัตยกรรมนั้นอาจมีเทคนิคหลายวิธีการ อาทิตย์ที่ผ่านมา room ได้นำเสนอผลงานจากวัสดุอิฐที่หลากหลาย วันนี้ room Design Tips จึงขอแนะนำไอเดียงานโครงสร้างจากวัสดุอิฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังช่วยระบายอากาศ กันแสงแดด หรือความเป็นส่วนตัวให้แต่ละยูนิตในอพาร์ตเมนต์

ไอเดียงานโครงสร้างอิฐวันนี้ จึงมีตัวอย่างผลงาน Sienna Apartments จากสถาปนิก Sameep Padora & Associates ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองไฮเดอราบาด ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองและสวนสาธารณะที่อยู่ติดกัน ไฮเดอราบาดเป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ในอินเดียที่เริ่มก่อสร้างอาคารแบบสมัยใหม่

ไฮไลต์ของฟาซาด (façade) ที่ประกอบไปด้วยผนังที่ช่วยป้องกันแสงแดด สถาปนิกได้ทำงานร่วมกันกับช่างก่ออิฐจากเมืองพอนดิเชอร์รี่ ทางตอนใต้ของอินเดีย และออกแบบระบบของผนังที่ทำจากกำแพงอิฐหนา 9 นิ้ว เพื่อรับน้ำหนักของทับหลังที่เป็นหิน หน้าต่างกระจกที่ไม่ได้ถูกใช้งานติดตั้งอยู่ในช่องเปิดที่เกิดจากงานอิฐและส่วนที่ยื่นมาของทับหลัง

โดยใช้เทคนิคโครงสร้างคอร์เบล (โครงสร้างแป้นหูช้าง )ใช้ในการเชื่อมต่อโครงสร้างระหว่าง คาน กับเสาหรือผนังนั้นอย่างสมบูรณ์แบบ ไม้แม่แบบจึงได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ช่างก่ออิฐทำงานด้วย ถือว่าโครงการอพาร์ตเมนต์นี้ประสบความสำเร็จจากการออกแบบเทมเพลตไม้แบบ low-tech ก่อสร้างโดยช่างท้องถิ่นแบบเรียบง่ายแต่แม่นยำ ด้วยความเชี่ยวชาญของช่าง ทั้งช่างและสถาปนิกจึงได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย


#รู้หรือไม่
โครงสร้างคอร์เบล ( CORBEL STRUCTURE ) ชื่อในภาษาไทยคือโครงสร้างแป้นหูช้างหรือโครงสร้างคานหูช้าง คือโครงสร้างสั้น ๆ ที่ยื่นออกมาจากโครงสร้างเสา เป็นลักษณะโครงสร้างที่มีลักษณะทางกายภาพที่รับแรงระยะเฉลี่ยรวมที่น้อย ๆ (a)และรับแรงระยะความลึกมาก ๆ (d) ได้ดีกว่า ซึ่งจะตรงกันข้ามทำให้อัตราส่วนคำนวณ a/d นั้นออกมามีค่าน้อยกว่า 1.00 โดยใช้หลักการออกแบบให้โครงสร้างคอร์เบลนั้นเสียหายในรูปแบบของแรงเฉือน – ความเสียดทาน ( SHEAR – FRICTION FAILURE ) โดยรูปแบบการเสียหายของแรงเฉือนนั้นสามารถควบคุมได้ (FAILURE MODE) ให้เป็นการเสียหายในรูปแบบจากแรงดึงเป็นหลัก (TENSION FAILURE) หรือเนื่องจากแรงอัดเป็นหลัก (COMPRESSION FAILURE)

ซึ่งสำหรับกรณีทั่ว ๆ ของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น เมื่อเกิดรอยร้าวขึ้นจากแรงเฉือน และแรงโมเมนต์ดัด กระทำร่วมกันจนทำให้เกิด แรงดึงทแยง (DIAGONAL TENSION) มักจะพบว่าขนาดของรอยร้าวประเภทนี้จะเกิดขึ้นมากหากไม่เสริมโครงสร้างด้วยเหล็กมากพอ ซึ่งเป็นสาเหตุที่แรงเฉือนจะมีโอกาสสร้างความเสียหายของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมากกว่าโครงสร้างคอร์เบลนั่นเอง

ที่ตั้ง
Hyderabad, Telangana, India


ออกแบบ: Sameep Padora & Associates
ทีมออกแบบ : Mythili Shetty, Vami Sheth, Aparna Dhareshwar, Diane Athiade
เจ้าของโครงการ: Jagdish & Srinivas Idupuganti
Material Brick: Uma Brick Mangalore
Lintel: Sadar Ali Granite
Windows: Technal Windows


ภาพ: Vivek Eadara
เรื่อง: Lily J.