ความรื่นรมย์ในบ้านตึกกลางเมืองที่ออกแบบไว้อย่างแยบยล - room

ความรื่นรมย์ในบ้านตึกกลางเมืองที่ออกแบบไว้อย่างแยบยล

บ้านหลังนี้เป็นบ้านในที่ดินหน้าแคบเพียง 8 เมตร ตั้งอยู่ในย่านสาทรลึกเข้าไปในพื้นที่ที่ค่อนข้างเงียบสงบ แต่ด้วยลักษณะที่ดิน และความต้องการพื้นที่ใช้สอย การออกแบบให้บ้านหลังนี้มีลักษณะแบบตึกสูง 4 ชั้น จึงเป็นคำตอบ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: INchan Atelier

ด้วยฝีมือการออกแบบของ INchan Atelier บ้านหลังนี้ จึงไม่ใช่เพียงบ้านตึกหน้าแคบธรรมดา แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะ และความรื่นรมย์ ผ่านการผสานธรรมชาติ และการสร้างองค์ประกอบของความเป็นบ้านให้สอดประสานไปในทุกพื้นที่อย่างลงตัว

บ้านที่หายใจได้

เพราะการออกแบบบ้านที่มีลักษณะแคบลึกยาวเข้าไปถึงด้านในของที่ดินนั้น มักประสบกับการที่ลักษณะของผังการใช้งานจะมีช่องเปิดที่ด้านหน้า และด้านหลัง แต่สำหรับบ้านหลังนี้นั้น มีการคิดคำนึงถึงการสร้างช่องเปิดที่สอดคล้องไปกับการใช้งาน

จากชั้นล่างที่เป็นส่วนต้อนรับ และพื้นที่ส่วนกลางของตัวบ้าน ผู้ออกแบบได้เลือกใช้พื้นที่หลังบ้านเป็นโต๊ะกลางที่สามารถใช้รับแขก และเป็นพื้นที่รับประทานอาหารได้ พื้นที่ส่วนนี้มีการเปิดพื้นที่โดยรอบเป็นสวนขนาดเล็กที่ริมบ้าน ได้ทั้งความสงบ และความร่มรื่น ประกอบกับการออกแบบพื้นที่ให้มีลักษณะเป็น Double Volume จึงทำให้พื้นที่ชั้นล่าง และชั้นลอยที่เป็นพื้นที่นั่งเล่นของบ้านหลังนี้มีความเชื่อมโยง และยังคงไว้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

คำว่า “หายใจได้” นั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่การเปิดรับลมธรรมชาติเพียงเท่านั้น แต่จังหวะของมวลที่ว่าง ภายในบ้านจะช่วยลดความอึดอัดของการเป็นบ้านแบบอาคารหลายชั้นลง สร้างความรู้สึกสบายอย่างที่บ้านควรจะเป็นได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในชั้น 3 และ 4 ของบ้านหลังนี้ ที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอนนั้น ยังมีการออกแบบช่องหน้าต่างที่มีสวนขนาดเล็กเพื่อยังคงเชื่อมโยงการอยู่อาศัยภายในบ้าน และบรรยากาศผ่อนคลายจากแสงธรรมชาติ และแมกไม้ไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์

พื้นที่ส่วนตัวผ่านการออกแบบส่วนกลาง

การออกแบบทางสัญจรในบ้านหลังนี้มีการจัดวางโถงบันไดเอาไว้ที่กึ่งกลางของบ้าน ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดให้แสงธรรมชาติ และช่วยคลี่คลายความทึบตันของมวลอาคารได้อย่างดีเท่านั้น แต่การวางโถงบันไดเอาไว้ในกึ่งกลางจะทำให้ทุก ๆ ห้องนั้นสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านไปสู่พื้นที่อื่น ๆ เลย

เติมเต็มบรรยากาศธรรมชาติด้วยช่องเปิด

การออกแบบให้มีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติในจุดสำคัญต่างๆภายในบ้าน ตั้งแต่โถงบันได ไปจนถึงห้องต่าง ๆ มีการคิดคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย ด้วยการเลือกใช้พรรณไม้มาเป็นส่วนปิดกั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ภายในได้รับความร่มรื่น สามารถเปิดรับลม และแสงธรรมชาติได้ตลอดทั้งวัน แม้เพียงช่องเปิดเล็ก ๆ ก็ยังความร่มรื่นให้กับการอยู่อาศัยได้อย่างดีแล้ว

เพราะแสงธรรมชาตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน นั่นจึงเป็นสาเหตุของความสำคัญในการเปิดรับแสงธรรมชาติเหล่านี้เข้าสู่การพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นความร่มรื่น บรรยากาศสดใส หรือแม้แต่นาฬิกาชีวิตที่จะทำงานได้ดีขึ้นเมื่อได้รับรู้สภาวะภายนอก การสร้างให้บ้านนั้นสอดคล้องไปกับบริบทโดยรอบจึงถูกให้ความสำคัญอย่างมากในบ้านหลังนี้แม้จะเป็นอาคารที่แทบไม่มีพื้นที่โดยรอบเลยก็ตาม

รูปด้านที่ลงตัวผ่านการออกแบบเชิงกราฟิก

ในทางกลับกันของการออกแบบช่องเปิดตามการใช้งานนั้น สิ่งที่ผู้ออกแบบคำนึงเป็นอย่างมากจึงกลับกลายมาเป็นลักษณะของรูปด้านอาคารหลังนี้ สังเกตได้ว่า ด้วยการจัดวางเพื่อความลงตัวในประโยชน์ใช้สอย ช่องเปิดทั้งหมดจึงเป็นอิสระจากกัน ทำให้การบรรจบลงตัวกันของเส้นมีความหลากหลายตามไปด้วย


ในการออกแบบให้ช่องเปิดทั้งหมดสามารถเรียงร้อยต่อกันได้อย่างสวยงามนั้น ผู้ออกแบบจึงได้ใช้วิธีคิดในแบบแฟชั่นดีไซน์ ที่นำเอาการออกแบบเชิงกราฟิกเข้ามาช่วยที่ผนังภายนอก โดยมีการสร้างพื้นผิวที่เป็นเส้นแนวตั้ง และการเสาะร่องแนวนอน ร่องและพื้นผิวที่เกิดขึ้นนี้จะค่อย ๆ คลี่คลายขึ้นตามความสูง เมื่อผ่านกาลเวลาร่องรอยจากแดดฝนที่เกิดขึ้น จะไล่ความเข้มจากล่างขึ้นบน ซึ่งเส้นของร่องรอยและพื้นผิวเหล่านี้ จะช่วยให้ช่องเปิดทั้งหมดถูกร้อยเรียงเข้ากันได้อย่างลงตัว

และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านที่ถูกออกแบบบนผืนที่ดินที่แตกต่างไปจากบ้านโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นอาคารตึกมากกว่าความเป็นบ้านเดี่ยว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความรื่นรมย์สมกับความเป็นบ้านไว้ได้อย่างดี


ออกแบบ: INchan atelier

สไตล์: Tharisra Chantip, INchan atmosphere

เรื่อง: Wuthikorn Sut

ภาพ: นันทิยา บุษบงค์