SME D Bank ‘เติมทุน’ คู่ ‘พัฒนา’ เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย - room
sme d bank

SME D Bank ‘เติมทุน’ คู่ ‘พัฒนา’ เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย

โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจจะเดินเข้าหาธนาคารก็ต่อเมื่อต้องการ ‘ทุน’ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ ต่อยอด หรือเติมสภาพคล่อง  แต่หากเจ้าของธุรกิจมาที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเรียกสั้นๆ ว่า SME D Bank จะได้มากกว่าเรื่อง ‘เงิน’ นั่นคือได้โอกาส ‘พัฒนาธุรกิจ’ ในมิติต่างๆ ผ่านโครงการและกิจกรรมของธนาคาร ไม่ว่าจะการอบรม สัมมนา เพิ่มช่องทางขาย ขยายตลาดออนไลน์ หรือกระทั่งจับคู่ธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีศักยภาพธุรกิจเพิ่มขึ้น

เสริมสภาพคล่อง หนุน ZenFry พัฒนาโปรดักต์นวัตกรรมเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว

บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เริ่มต้นจากการทำธุรกิจขายอาหารทะเลที่ได้มาตรฐานการรับรองคุณภาพระดับสากล แต่ซีอีโออย่างคุณทรรศิน อินทานนท์ มีอีกหนึ่งความคิดคืออยากทำเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวเป็นเจ้าแรกของไทย แต่ต้องยอมรับว่าจุดอ่อนของธุรกิจเอสเอ็มอีคือ ‘เงินสด’ เมื่อคิดขยายธุรกิจใหม่จึงไม่สามารถทำได้ทันที เขาขอสินเชื่อจาก SME D Bank มาหมุนเวียนในธุรกิจหลักจนคล่องตัวพอที่จะหันไปทุ่มเทพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่อย่างที่ต้องการ

จากความคิดที่อยากทำสินค้านวัตกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ จึงหยิบเอาเฟรนช์ฟรายส์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาหารขยะ (Junk food) พัฒนาเป็นไทยฟรายส์ (Thai Fries) จากถั่วเขียว 100% แบรนด์ ZenFry มีความยืดหยุ่นและเหมาะกับการทำเฟรนช์ฟรายส์โดยไม่ต้องผสมแป้ง ไม่มีน้ำตาล ไม่มีกลูเตน มีแต่ถั่วที่อุดมไปด้วยโปรตีน เป็นมิตรกับสุขภาพมากกว่า

ไทยฟรายส์ถั่วเขียว ZenFry ตั้งเป้าส่งออกต่างประเทศ โดยเริ่มที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายแรก เหตุผลเบื้องหลังอยู่ที่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารประเภทแป้งที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง ทำให้เฟรนช์ฟรายส์มันฝรั่งถูกจัดเป็นอาหารขยะ เป็นโอกาสให้เฟรนส์ฟรายส์ถั่วเขียวที่ไม่มีสารนี้อยู่ สร้างทางเลือกที่ดีกว่าได้ หากเปิดตลาดในประเทศที่คนใส่ใจเรื่องสุขภาพได้การขยายไปประเทศอื่นก็ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันก็ทำตลาดในประเทศทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์ที่แต่ละร้านมีไทยฟรายส์ถั่วเขียวและอาหารทะเลทอดกรอบซึ่งใช้วัตถุดิบที่มาจากธุรกิจแรก ควบคู่ไปกับการทำเป็นไทยฟรายส์แช่แข็ง (Frozen Food) วางขายในโมเดิร์นเทรด

‘เงินทุน’ ที่สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจแรกนำมาสู่โอกาสเริ่มต้นธุรกิจใหม่อย่างไทยฟรายส์ถั่วเขียว ส่งผลดีไปถึงซัพพลายเชนโดยรอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การใช้ถั่วเขียวจากเกษตรกรในประเทศที่ได้รับการประกันราคา ส่งเสริมการสร้างงานให้กับชุมชนบริเวณรอบโรงงานที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มาจนถึงผู้บริโภคที่ชอบกินเฟรนช์ฟรายส์มีทางเลือกมากขึ้น และสุดท้ายแล้วธุรกิจเล็กอย่าง สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

เติมทุน “ปุ้ยเก่ง” ขยายตลาดเข้าโมเดิร์นเทรด ต่อยอดเสริมความรู้ขายออนไลน์

หากใครคิดจะนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้าต้องคิดคำนวณเรื่องการสต็อกวัตถุดิบ เพื่อเตรียมสินค้าให้เพียงพอจะส่งให้สาขาต่างๆ ไปจนถึงเครดิตเทอม อาจจะเป็นระยะเวลา 30-90 วัน ซึ่งเท่ากับว่าธุรกิจต้องมีสายป่านหรือเงินทุนสำรองไม่น้อย

แบรนด์เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป “ปุ้ยเก่ง” เจ้าของสโลแกน ‘ช้อนเดียวอร่อยง่าย ไม่ยากเรื่องเครื่องปรุง’ ที่มีเครื่องปรุงและวัตถุดิบปรุงอาหารกว่า 50 รายการ ตั้งแต่ซอสผัด ซอสข้าวมันไก่ ซอสปรุงน้ำซุป ซอสน้ำก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงแป้งกล้วยทอดที่กลายเป็นสินค้ายอดนิยม เติบโตจากการทำการตลาดแบบดั้งเดิมที่ต้องมีคนนำสินค้าขึ้นรถไปนำเสนอขายให้กับร้านอาหารต่างๆ ในวันที่ถูกเชิญชวนไปวางขายห้างแม็คโคร ศูนย์ค้าส่งที่มีสาขาทั่วประเทศ คุณพัชรากร สิริปุณยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงิน-สด ซีซันนิ่ง จำกัด เจ้าของแบรนด์ปุ้ยเก่งตัดสินใจคว้าโอกาสนี้ และเดินเข้าไปปรึกษา SME D Bank และขอสินเชื่อมาเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อวัตถุดิบ เพิ่มการผลิต ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อรองรับการขยายตลาด

“เรามีสินค้ามากกว่า 50 ชนิด แต่ละชนิดก็ทำหลายขนาดซึ่งเราคงเอาทุกอย่างไปวางในโมเดิร์นเทรดไม่ได้ เพราะเรามีเงินทุนจำกัด เราเลือกเอาเฉพาะขนาดที่อยากขาย เช่น 1 กิโลกรัมเป็นต้นไปที่เหมาะกับตลาดเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และเวลาที่ห้างจัดงานแฟร์ตามสาขาต่างๆ ก็จะมีการหักค่าการตลาดที่เราต้องวางแผนเอาไว้ด้วย” เจ้าของแบรนด์ ปุ้ยเก่ง  ระบุ

แบรนด์ปุ้ยเก่งได้เงินทุนจาก SME D Bank ในวันที่ขยายตลาดแบบออฟไลน์ แต่ในวันที่โลกหมุนมาถึงยุคออนไลน์ แบรนด์ได้ ‘องค์ความรู้’ จากกิจกรรมสัมมนาการตลาดออนไลน์ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ที่อยู่บ้านกันมากขึ้น และใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งนอกจากขยายตลาดในประเทศแล้วยังเป็นโอกาสขายในต่างประเทศอย่างจีนทั้งในรูปแบบการส่งสินค้าภายใต้แบรนด์และรับจ้างผลิต OEM

แม่สื่อจับคู่พันธมิตร ติดปีก “Miss&Kiss” ขยายตลาด สร้างชื่อน้ำหอมแบรนด์ไทย

บริษัท มิส แอนด์ คิส (ไทยแลนด์) จำกัด มี SME D Bank เป็นพันธมิตรรายสำคัญที่รับบทเป็นแม่สื่อแม่ชักจับคู่ให้น้ำหอม แบรนด์ไทย อย่าง Miss&Kiss ได้ขึ้นวางบนชั้นของห้างสรรพสินค้าโลตัสทั่วประเทศ

น้ำหอม Miss&Kiss ออกแบบขวดและกล่องเป็นลายการ์ตูนน่ารักจนกลายเป็นภาพจำของลูกค้าหน้าเก่าและดึงดูดลูกค้าใหม่ เริ่มต้นและเติบโตผ่านช่องทางออนไลน์และกระจายสินค้าทั่วประเทศโดยใช้ระบบค้าส่งเข้าสู่ร้านค้าในต่างจังหวัดต่างๆ คุณณัฐวรรณ พิมพ์วงษกุล คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต้องเติบโตจากตลาดค้าส่งเข้าสู่โมเดิร์นเทรด

“เรามองว่าการเข้าสู่โมเดิร์นเทรดหมายถึงการเติบโตระยะยาวที่จะทำให้ธุรกิจเรายั่งยืนขึ้น แต่การที่เราจะเข้าไปติดต่อกับโมเดิร์นเทรดแต่ละครั้งมันยาก เงื่อนไขเยอะมาก เราส่งได้แค่รูปภาพแล้วเขียนอธิบายไป แล้วเขาอาจจะตอบกลับมาว่าสินค้าไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งเขาจะพิจารณาหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เราได้รับโอกาสจาก SME D Bank ที่มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ให้เราได้เข้าไปพรีเซนต์สินค้ากับห้างโลตัสว่า สินค้าเรามีจุดเด่นอย่างไร ได้เอาสินค้าไปให้ดู เขาคอมเมนต์สินค้าเราตรงหน้าและบอกเราว่าควรจะพัฒนาอะไรต่อ ควรจะปรับอะไร โอกาสเลยเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ซึ่งเราได้รับการอนุมัติและเป็นโอกาสที่ดีด้วยเพราะเราไม่ได้ฝากขาย แต่เป็นการที่เขาซื้อสินค้าเราไปวาง เราไม่ต้องแบกต้นทุนไว้กับตัว ไม่ต้องแบกสต็อก ยอดสั่งซื้อเท่าไร เขาก็จ่ายเรามาเต็มจำนวน”  คุณณัฐวรรณ อธิบายถึงการได้รับโอกาสเสนอสินค้าต่อโมเดิร์นเทรดเจ้าดัง

เมื่อสินค้าได้ขึ้นบนชั้นวางของโมเดิร์นเทรด ยอดขายของ Miss&Kiss เติบโตไม่ต่ำกว่า 30%  อีกทั้ง สร้างความเชื่อมั่นของแบรนด์ให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย หลังจากนั้น ก็มีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อวางในโลตัส เอ็กซ์เพรส ที่มีสาขากระจายย่อยอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าต้องเป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวตลอด หรือเรียกได้ว่าเป็นสินค้ายอดฮิตจึงจะได้เข้าไปวาง ช่วงนี้นับได้ว่าเป็นช่วงที่แบรนด์กำลังขยายตลาดอย่างเต็มกำลังซึ่งอีกไม่นานจะเห็นแบรนด์นี้วางขายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ก๋วยเตี๋ยวปิรันย่า บทพิสูจน์ธุรกิจเล็กอาจสะดุดแต่ไม่ล้ม

สถานการณ์โควิด-19 อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงวัดสายป่านของธุรกิจว่ายาวแค่ไหน คุณชัยรัตน์ ลิขิตอำนวยพร บริษัท สยาม ซิมพลิ ฟู้ด จำกัด  เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวปิรันย่าที่สยามสแควร์มานานถึง 24 ปี มีลูกค้าประจำที่แวะเวียนมาตั้งแต่เด็กจนโตเพราะติดใจรสชาติของลูกชิ้นปลาจากโรงงานของครอบครัว ก็ยังต้องเหนื่อยที่ต้องประคองธุรกิจให้ผ่านเวลานั้น ในขณะที่นั่งมองร้านในละแวกเดียวกันทยอยปิดกิจการเพราะทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว

 “เมื่อก่อนเรามี 8 สาขา พนักงาน 38 คนที่เราต้องจ่ายเงินเดือนอยู่ เราขายทองที่เก็บไว้เกือบหมดเพื่อเอามาดูแลลูกน้อง จนรู้สึกว่าเราขาดสภาพคล่องทางการเงิน แล้วไปเห็นโฆษณาในยูทูบที่ SME D Bank ประกาศช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหา เราเลยลองติดต่อไปก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ให้ยื่นเอกสารต่างๆ ใช้เวลาไม่นานก็ได้รับการอนุมัติ อาจเพราะว่าเราทำในรูปแบบบริษัทที่มีข้อมูลชัดเจน มีเงินเข้าบัญชีโดยที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ จากตอนแรกที่คิดว่าจะเอาที่ดินไปค้ำประกัน” คุณชัยรัตน์ ย้อนถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้

นอกเหนือไปจากได้รับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแล้ว SME D Bank ยังช่วยพัฒนาธุรกิจ ให้ความรู้ด้านการทำการตลาดบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำไลน์แอดและเฟซบุ๊คแฟนเพจ รวมถึงชักชวนไปออกร้านที่ตึกสำนักงานใหญ่ของ SME D Bank เป็นประจำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“เราขอสินเชื่อก้อนเล็ก ไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ แต่ SME D Bank ดูแลเราดีมาก ติดตามตลอดว่ากิจการเป็นอย่างไร ยอดขายดีขึ้นไหม ต้องการใช้เงินเพิ่มไหม และช่วยประชาสัมพันธ์ธุรกิจของเราให้กับสื่อต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องเสียเงิน เขาใส่ใจกับลูกค้ารายย่อยมากเพราะเราไม่ได้มีเงินทุนหนาขนาดนั้น” คุณชัยรัตน์ ทิ้งท้าย

Little Egg Waffle”  เปลี่ยนเพื่อไปต่อ  สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ธุรกิจ

ตลาดขนมอาจมองได้ว่าเป็นธุรกิจตามกระแสที่จะฮิตช่วงหนึ่งแล้วกระแสจางลงไป วาฟเฟิลฮ่องกงก็เคยได้รับความนิยมเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ หายไปจากการรับรู้ของคนไทย “Little Egg Waffle” เป็นแบรนด์ยุคแรกที่ยังอยู่มาถึงปัจจุบัน อาจเพราะการพัฒนาสูตรวาฟเฟิลฮ่องกงไข่ไก่สดให้ถูกปากคนไทย ไม่ใช้แป้งสำเร็จเหมือนร้านอื่น จึงได้ความหอมและกรอบยั่วน้ำลายที่ไม่เคยลดมาตรฐานลงไป

ก่อนหน้านี้เราอาจเจอร้านแฟรนไชส์แบรนด์ Little Egg Waffle ได้ง่ายกว่าตอนนี้ แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แฟรนไชส์ซีหลายรายอยู่ไม่ไหว แม้แต่แบรนด์แม่ที่มีหน้าร้านอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า Cosmo Plaza เมืองทองธานีก็จำเป็นต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว

คุณออมนุช วรรณสถิตย์ บริษัท ลิตเติ้ลเอ้ก (ประเทศไทย) จำกัด  เจ้าของแบรนด์ Little Egg Waffle ตัดสินใจขอสินเชื่อจาก SME D Bank เพื่อมาเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ใช้เวลาเตรียมเอกสารไม่นานเพราะที่ร้านทำบัญชีเดียวไว้อย่างเป็นระเบียบชัดเจน รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ SME D Bank ทั้งออกร้าน และเข้าร่วมสัมมนาการตลาด เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ธุรกิจ

“เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าต้องมาขอสินเชื่อเพราะไม่ได้คิดว่าธุรกิจจะต้องโตไว เราค่อยๆ ทำ แต่การทำหน้าร้านถือเป็นเรื่องหินสำหรับทุกคนในตอนนั้น ดังนั้นเราเลยใช้เงินทุนและความรู้ที่ได้มาปรับธุรกิจเป็นขายแป้งวาฟเฟิลสำหรับบุคคลทั่วไปอบกินเองที่บ้าน ขายบนออนไลน์มาร์เกตเพลส แล้วก็เริ่มส่งแป้งวาฟเฟิลของเราให้กับร้านกาแฟต่างๆ ไปเสิร์ฟคู่กับเครื่องดื่มในคาเฟ่ของเขา” คุณออมนุช เผยการปรับโมเดลธุรกิจ

จากเดิมที่เคยทำธุรกิจแบบมีหน้าร้าน 100% ปัจจุบัน Little Egg Waffle มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์ ขายส่ง และออนไลน์ รวมถึงกำลังสนุกกับการทำการตลาดบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง TikTok ที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น เป็นการเติบโตที่เกิดจากการปรับตัวนั่นเอง

นมถั่วเหลืองชนิดผงพร้อมชงดื่ม “Early Me”  ยกระดับมาตรฐานสินค้าด้วยบาร์โค้ด

“Early Me” เป็นผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองที่มีนวัตกรรมเอนไซม์เพิ่มความหวานแทนน้ำตาล นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นแบบผงที่สามารถผสมน้ำชงดื่มได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องดูแลสุขภาพหรือผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมน้ำตาล ซึ่งทางแบรนด์เริ่มทำตลาดแบบ B2B (Business to Business) มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นโรงพยาบาลและโรงแรมก่อน แต่ถึงจะเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพก็ใช่ว่าจะต้องขายให้กับโรงพยาบาลเท่านั้น

คุณประสาทชัย ผาสุกกุล บริษัท เคทูเอ็น มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิต Early Me อาศัยจังหวะช่วงโควิด-19 ที่โรงแรมที่เป็นลูกค้าหลักปิดให้บริการ มาขยายตลาดแบบ B2C (Business to Customers) ผ่านช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส เพราะนมถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับทุกคน พร้อมกับพัฒนาสูตรใหม่นมถั่วเหลืองผสมขิง ผสมขมิ้นชัน หรือ กุหลาบสีชมพู เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีความชอบแตกต่างกัน

“หลังจากที่เราไปขอสินเชื่อจาก SME D Bank เขาก็ชวนเราไปสัมมนาเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ การเปิดร้านในแพลตฟอร์ม Shopee, Lazada, Alibaba แล้วได้เข้าไปอบรมการทำบาร์โค้ดให้สินค้า และได้รับคำแนะนำในการติดต่อกับ GS1 สถาบันรหัสสากล เพื่อทำบาร์โค้ดให้กับข้อมูลนมถั่วเหลืองของเราทำให้สินค้ามีมาตรฐานมากขึ้น” คุณประสาทชัย เล่าถึงประโยชน์ที่ได้รับ นอกเหนือจากด้านเงินทุน

รหัสบาร์โค้ดเป็นรูปแบบการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานเดียวกันใน 120 ประเทศทั่วโลกเพื่อให้สินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศมีเลขหมายกำกับสินค้าเฉพาะอย่างชัดเจน ให้สามารถส่งออกสินค้าระหว่างประเทศได้อย่างเข้าใจตรงกัน เอื้อต่อแผนขยายตลาดส่งออกของ Early Me ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย