ในขนาดพื้นที่ 7×7 เมตร จะสามารถออกแบบพื้นที่ชีวิตที่ดีได้อย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: INCHAN Atelier
ที่นี่คือบ้านในซอยสุขุมวิท 49 ย่านทองหล่อ ที่ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ราคาที่ดินสูงที่สุดเท่านั้น แต่ด้วยการออกแบบรีโนเวตที่ต้องทำให้เกิดระยะร่น และพื้นที่ขนาด 28 ตารางวา จึงทำให้บ้านหลังนี้มีขนาดพื้นที่ภายในเพียง 7×7 เมตร แต่ด้วยฝีมือออกแบบของ INchan Atelier ก็ทำให้บ้านหลังนี้ยังคงความร่มรื่น และตอบการใช้งานของครอบครัวได้เป็นอย่างดี
พื้นที่สีเขียวที่เยียวยาได้ทุกสิ่ง
จากประตูรั้วหน้าบ้าน เมื่อเดินผ่านพื้นที่จอดรถเปิดประตูเข้าสู่ภายใน สวนกลางบ้าน เป็นสิ่งแรกที่จะต้อนรับทุก ๆ คน ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย จนเมื่อขึ้นมายังชั้นบนของบ้านนั้น พื้นที่สวนระเบียงอยู่ดันออกไปจนชิดกับเหล็กดัดก็ช่วยสร้างบรรยากาศคล้ายบ้านเดี่ยวให้กับพื้นที่ Common Room ของบ้าน และไม่ใช่แค่ชั้น 1 และ ชั้น 2 เพียงเท่านั้น เพราะพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ยังแทงยอดขึ้นไปยังช่องเปิดที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ของห้องนอนอีกด้วย
บรรยากาศสีเขียวเหล่านี้ สร้างให้พื้นที่ภายในมีชีวิตชีวาได้แม้จะเพียง แสงและเงาที่ส่องผ่านเข้ามายังพื้นที่ภายในก็ตาม อีกทั้งสวนระเบียงที่ชั้น 2 นั้น ก็ช่วยเป็นเหมือน Buffer Area เพื่อช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวอันร่มรื่นให้กับพื้นที่ภายในไปพร้อมกัน
พื้นที่ร่วมกันคือพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น
จากอาคารเดิมก่อนปรับปรุงที่มีการแบ่งพื้นที่อย่างไม่เป็นระบบ เมื่อมีการออกแบบใหม่ ทางสัญจรจึงถูกจัดวางไว้ด้านมุมในของที่ดิน และเปิดโอกาสให้พื้นที่ที่เหลือในแต่ละชั้นสามารถต่อเชื่อมเป็นพื้นที่ใหญ่พื้นที่เดียวได้อย่างลงตัว
พื้นที่ที่เห็นชัดที่สุดคือห้องนั่งเล่น ที่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ภายใน รวมถึงชุดครัวได้ออกแบบให้อยู่ในพื้นที่ติดชิดริมผนัง เพื่อเปิดให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นอิสระและเปิดโล่ง คงเหลือไว้แต่โต๊ะรับประทานข้าวที่เป็นเหมือนพื้นที่อเนกประสงค์ และชุดโซฟาที่หันหน้ารับกับวิวสวนที่สวยงาม
บ้านที่ปลอดโปร่งคือบ้านที่หายใจได้
แม้จะไม่ใช่การออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา แต่การออกแบบช่องเปิดในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ก็เปลี่ยนคุณภาพของพื้นที่ขนาดเล็กให้รู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย ได้อย่างชัดเจน เช่น ช่องหน้าต่างที่สามารถมองเห็นโต๊ะทานข้าวได้จากโถงบันได การมีหน้าต่างบานเล็กที่สุดปลายทางเดินชั้น 1 หรือการมองหาความเป็นไปได้ของช่องเปิดสู่ภายนอก แสง และลมธรรมชาติที่สามารถไหลผ่านช่องเปิดเหล่านั้น ช่วยให้ผู้ที่อยู่ภายในบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เกิดความรู้สึกอึดอัดแม้จะอยู่ในอาคารเป็นเวลานาน หรือพูดอีกอย่างคือทำให้การอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ มีความสุขมากขึ้นนั่นเอง
และนี่ก็คือบ้านที่สร้างความเป็นไปได้ของความร่มรื่นให้แก่การอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ได้อย่างสวยงาม
ออกแบบ: INchan atelier
สไตล์: INchan atmosphere
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์, ธนายุต วิลาทัน
เรื่อง: Wuthikorn Suthiapa