Ray Chang สถาปนิกผู้เติบโตท่ามกลางธรรมชาติ ที่สวยงาม และสุขสงบของเกาะไต้หวัน ความเข้าใจในสัจธรรมแห่งธรรมชาติหล่อหลอมแนวคิด และความเชื่อของเขาให้แตกต่างท่ามกลางกระแสทุนนิยม งานออกแบบของเขาสะท้อนความงามภายใต้แนวคิดแบบปรัชญาตะวันออก ที่โอบรับ “ความเปลี่ยนแปลง” แห่งกาลเวลา ในยุคที่ผู้คนตามหาความสมบูรณ์แบบอันจีรังยั่งยืน
ผลงานของเขาได้รับรางวัลมากมายมาตลอดหลายปี รวมถึง Golden Pin Design Award รางวัลชั้นนำด้านการออกแบบของเอเชีย จึงอาจกล่าวได้ว่าเขาคือสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าจับตาของไต้หวัน ที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในหมวดที่พักอาศัย ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ Ray Chang ก่อตั้ง Soar Design Studio เมื่อปี 2012 ปีที่ใครหลายคนร่ำลือกันถึงวันสิ้นโลก ปีนั้นเองที่เขาถามตัวเองว่า “ความหลงใหล” ของตัวเองคืออะไร
“ตอนที่ผมยังเด็ก ผมมักใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติในป่าหรือภูเขา หรือแม้แต่ตอนที่ผมย้ายเข้ามาในเมือง ผมก็พยายามกลับไปหาธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาหรือทะเลเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย เมื่อผมถามตัวเองว่าชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ คำตอบก็คือ “ธรรมชาติ” ธรรมชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่พืชพรรณไม้ต่าง ๆ หรือภูมิทัศน์ที่สวยงาม แต่มันคือแนวความคิดและปรัชญา ที่สะท้อนในงานออกแบบของผม”
room: ในงานออกแบบของคุณ คุณมักจะอุปมาอุปไมยองค์ประกอบทางการออกแบบต่าง ๆ กับธรรมชาติ แนวคิดเหล่านี้มีที่มาจากไหน
Ray: อย่างที่บอกว่าผมเติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติ ผมจึงเชื่อเสมอในความเป็นไปได้ของการหลอมรวมสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติ มีทางเลือกวัสดุ และแนวทางการออกแบบมากมายรอบตัวเราให้ค้นหา เราแค่ต้องสนใจในรายละเอียด และโฟกัสกับความรู้สึก ณ ช่วงเวลาขณะที่เราได้อยู่กับธรรมชาติ แล้วเมื่อไหร่ที่เราต้องการ ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะผุดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนที่ Tadao Ando เคยกล่าวไว้ว่า “เราต้องสัมผัสความรู้สึกแท้จริงของเราให้ได้เสียก่อน เราจึงจะสามารถสร้างผลงานออกแบบ ที่สะเทือนไปถึงใจผู้อื่นได้”
ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะหลุดออกจากกรอบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก และให้ความสำคัญกับแนวคิด และความงามแบบตะวันออกมากขึ้น ผมพยายามคิดนอกกรอบ เชื่อในสัญชาตญาณ ซื่อสัตย์กับอุดมการณ์ของตัวเอง และให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของที่ตั้งโครงการมากกว่า
room: คุณบอกว่าอยากหลุดออกจากกรอบของสถาปัตยกรรมศาสตร์แบบตะวันตก อะไรทำให้คิดเช่นนั้น
Ray: การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจช่วยด้านการก่อสร้าง แต่เราจำเป็นต้องมีแนวทางการออกแบบของเราเอง ทางตะวันออกเน้นทางจิตวิญญาณ เราทำตามความรู้สึก และฟังเสียงหัวใจของเรา ผมมีพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมตะวันตกอยู่แล้ว ผมหนีจากมันไม่ได้ แต่ผมพยายามสร้างความแตกต่าง ระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมเติบโตในชนบท มันไม่มีสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์มากนัก ทำให้ผมคิดต่าง และพยายามสร้างงานออกแบบในแบบของผมเอง ไม่ใช่ในรูปแบบญี่ปุ่นหรือจีน แต่หมายถึงปรัชญาแบบตะวันออกมากกว่า เป็นการพยายามปรับตัว ปรับงานออกแบบของเราให้เข้ากับธรรมชาติ มากกว่าที่จะควบคุมสภาพแวดล้อม
room: นั่นอาจคือเหตุผลที่ทำให้คุณสนใจแนวคิดแบบวาบิ-ซาบิ และสัจวัสดุเป็นพิเศษ
Ray: ผมคิดว่า “วาบิ-ซาบิ” คือเรื่องของ “ธรรมชาติ” แนวคิดหลักของวาบิ-ซาบิคือ “ความเปลี่ยนแปลง” ยกตัวอย่างผลงานชิ้นหนึ่งของผมในปี 2016 เป็นงานรีโนเวตบ้านเก่าหลังหนึ่ง ผมเรียกโปรเจ็คต์นี้ว่า “Old House in Wabi-sabi” ตอนที่ผมออกแบบบ้านหลังนี้ ผมพบว่าบ้านมีชีวิตของมันเอง ตัวบ้านเต็มไปด้วยร่องรอยที่บ่งบอกถึงอายุ และเรื่องราวที่ผ่านมา ซึ่งผมตั้งใจจะให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้ว ผมมักไม่ใช้หลักการอะไรในการเริ่มต้นออกแบบ แต่ระหว่างกระบวนการออกแบบนั่นเองที่จะสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และพาผมไปสู่หลักการเหล่านั้นเอง และโครงการนี้ ก็พาผมมาสู่แนวความคิดของวาบิ-ซาบิ
แรกเริ่มลูกค้าเจ้าของอยากให้ทุบเพื่อสร้างใหม่ แต่พอได้เข้าไปดูบ้านจริง ๆ ก็พบว่ามันคือบ้านที่สวยงามบนหัวมุมถนน บ้านเก่ามีร่องรอยของกาลเวลา ที่ผมไม่สามารถทำซ้ำได้ถ้าสร้างขึ้นใหม่ ผมจึงบอกให้เจ้าของเก็บบ้านเดิมไว้ ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ยังไม่เข้าใจในแนวคิดของวาบิ-ซาบิอย่างถ่องแท้ จนกระทั่งผ่านกระบวนการออกแบบ และก่อสร้างแล้ว ผมถึงเริ่มเข้าใจ มันคือเรื่องของกระบวนการ อะไรควรเก็บ หรือควรทิ้ง เป็นสิ่งที่ผมไม่แน่ใจในตอนนั้น และเรียนรู้ไปพร้อมกับกระบวนการก่อสร้างบ้านหลังนี้ กำแพงเก่าของบ้านผมเก็บไว้ก่อน แล้วให้เจ้าของบ้านตัดสินใจอีกทีว่าถ้าการรีโนเวตบ้านเสร็จแล้ว จะทุบทิ้งก็ได้ แต่ตอนจบลูกค้ากลับรู้สึกพอใจ และอยากเก็บกำแพงเก่า ที่มีรอยแตกนี้ไว้
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผมมักใช้ชีวิตในป่าหรือในภูเขา และผมก็หลงใหลในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งนั่นคือหัวใจหลักของวาบิซาบิ เป็นแนวคิดที่ตะวันออกมาก ไม่ใช่แค่ทางญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ปรัชญาเล่าจื้อ (Laozi) หรือจวงจื่อ (Zhuangzi) ก็ยังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัจธรรมของทุกสิ่ง
ผมไม่ได้ต้องการสร้างอาคารหรือสเปซที่คงอยู่เป็นนิรันดร์ แต่อยากให้เป็นพื้นที่ที่สวยงามขึ้นตามกาลเวลา ดังนั้นไม่ว่าผมจะออกแบบบ้านเก่าหรือบ้านใหม่ ผมก็พยายามสร้างความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์สร้างสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ แนวคิดของวาบิซาบิก็จะปรากฎในที่นั้นโดยธรรมชาติ ผมชอบวัสดุที่แปรเปลี่ยนโดย “เวลา” เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแห่งความเปลี่ยนแปลง คำว่า “สมบูรณ์แบบ” ของผมจึงค่อนข้างต่างจากอาคารที่ก่อสร้างด้วยวัสดุอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพราะเราไม่สามารถสร้างร่องรอยแห่งกาลเวลาในวัสดุใหม่ได้ และแต่ละร่องรอยก็ล้วนเฉพาะตัวไม่อาจทำซ้ำ ซึ่งผมหลงใหลในสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่ง
room: บริบทที่ตั้งของโครงการทั้งในเชิงกายภาพ และวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่องานออกแบบของคุณอย่างไรบ้าง
Ray: ผมอยากจะโฟกัสที่คำว่า “ย่าน” หรือ “ชุมชน” มากกว่าคำว่าบริบท เมืองยุคใหม่มักแทบไม่มีบริบทดั้งเดิมหลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอาคารแลนด์มาร์กใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ผมยังคิดอยู่เสมอว่างานออกแบบของผมจะนำความเป็นย่าน และชุมชนกลับมาได้อย่างไรบ้าง “ท้องถิ่น” คือคำที่ผมสนใจ “ภูมิทัศน์” และ “ผู้คน” คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ผมให้ความสนใจกับวิถีชิวิตในย่านๆ หนึ่งอย่างมาก เพื่อพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมของย่านนั้นๆ ผมอยากให้มีภาพการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในท้องถิ่น ในแบบที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ ในชนบท เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนนั่นแหละคือวัฒนธรรมของย่าน การพูดคุย และเสียงหัวเราะ การใส่ใจกันและกันของเพื่อนบ้าน สถาปัตยกรรม หรือร้านรวงต่างๆ สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ถ้าเราใส่ใจในจุดนี้ในงานออกแบบของเรา
และแน่นอนว่าผมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพด้วย อย่างทิศทางของแดด และลมธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้ผมออกแบบได้อย่างเหมาะสมบนที่ตั้งโครงการ ซึ่งนั่นคือเรื่องที่สำคัญที่สุด ในการพยายามหลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น เป็นการสร้างระเบียบใหม่ให้กับบริบท
room: คุณพูดถึงความงามในแบบท้องถิ่น แล้วในงานออกแบบของคุณได้สอดแทรกของฝีมือไว้มากน้อยแค่ไหน
Ray: งานคราฟต์บางอย่างเริ่มสูญหายไปในรุ่นของเรา อย่างการทำหินขัดด้วยมือ เราทำพื้นหินขัดในออฟฟิศของเรา โดยมีลุงช่างอายุ 70 ปีเป็นคนทำให้เอง ทุกวันนี้ไต้หวันมีวัสดุให้เลือกมากมายจากทั่วโลก แต่ผมตั้งในจะชุบชีวิตวัสดุดั้งเดิมของเราขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการใช้งาน และรูปลักษณ์แบบใหม่ ตัวอย่างเช่น เราเคยใช้เปลือกหอยกับฟางข้าว สำหรับการทาสีผนัง ซึ่งผลงานล้วนขึ้นกับฝีมือของช่าง และเราคาดหวังว่าจะสร้างรูปลักษณ์ในสไตล์ท้องถิ่นแบบใหม่ให้กับงานดีไซน์ของไต้หวัน
room: มองย้อนกลับไป คุณชอบงานไหนมากที่สุด งานไหนท้าทายมากที่สุด
Ray: ผมคิดว่าผมชอบโครงการ “Zhao-Zhao” Tea Lounge และงาน Life in Tree House อย่างร้านชา Zhao-Zhao ผมประยุกต์บรรยากาศของการดื่มชาแบบดั้งเดิมของไต้หวันในบ้านเก่า ซึ่งมีแนวคิดของธรรมชาติ และวาบิ-ซาบิ ผมไปลองใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้นทุกวัน เพื่อรับรู้ถึงแสงแดด และความรู้สึกของทุ่งหญ้า ผมเปลี่ยนผังพื้นเกือบทุกอาทิตย์ ด้วยแรงบันดาลใจของที่ตั้งและตัวบ้าน ส่วนโครงการ Life in Tree House ถ่ายทอดประสบการณ์ในวัยเด็กกลางป่าเขาของผม ตอนนั้นผมฝันอยากมีบ้านน่าสนุกแบบนี้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
room: งานส่วนใหญ่ของคุณเป็นบ้าน และร้านค้า สำหรับโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น คุณยังใช้แนวทางการออกแบบเดิมด้วยไหม
Ray: ผมขอยกตัวอย่างโครงการสเกลใหญ่อย่างงานสวนสาธารณะ ที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่รกร้าง และกำลังดำเนินการโครงการสร้างอาคารสูง แต่ที่ไต้หวัน ในการสร้างอาคารสูงนั้น เราต้องรอ 1-2 ปี เพื่อจัดการเรื่องเอกสารทางกฎหมายต่างๆ ระหว่างนี้ เราจึงมีเวลา 2 ปีที่พื้นที่ทิ้งร้างยังดำเนินการก่อสร้างไม่ได้ ทางโครงการจึงปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะสำหรับผู้คนในย่าน โดยพยายามเลือกใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไต้หวัน พร้อมกับสร้างร้านน้ำชาเล็ก ๆ ในสวนนี้ด้วย สวนแห่งนี้ก็สะท้อนแนวคิดแบบวาบิ-ซาบิ เช่นกัน ผู้คนจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และเมื่อโครงการนี้เริ่มก่อสร้าง เขาจะย้ายร้านชาแห่งนี้ไปใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผู้คนในย่านก็จะได้รับรู้ถึงกระบวนการ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดโครงการนี้ด้วย
room: ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ Soar Design Studio พบความท้าทายอะไรบ้าง
Ray: เราเปิดบริษัทออกแบบในสไตล์ของเราเองท่ามกลางกระแสหลักของอสังหาริมทรัพย์ในท้องตลาด มันอาจจะยากตอนเริ่มต้น ลูกค้าบางครั้งก็ไม่ได้เข้าใจว่าเรากำลังพยายามทำอะไร แต่ในช่วงหลายปีนี้ดีขึ้นมาก เพราะเรามีงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและความเชื่อของเรา อีกอย่างคือผมยังเป็น “มนุษย์ดินสอ” ที่ชื่นชอบการออกแบบด้วยมือมากกว่าคอมพิวเตอร์ มันช่วยให้ผมคิด และหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ในขณะที่ทุกวันนี้ ผู้คนใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลักในการทำงาน และสื่อสาร ผมก็กำลังพยายามหาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้
room: แนวทางการออกแบบที่สะท้อนปรัชญาตะวันออกนี้ได้รับความนิยมในไต้หวันไหม นักออกแบบรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากแค่ไหน
Ray: แนวทางการออกแบบนี้เหมือนจะเป็นความชอบของคนกลุ่มเล็ก ๆ นอกกระแสหลัก เพราะทุกวันนี้ ความงามที่เราเห็นส่วนใหญ่ล้วนมาจากแนวคิดแแบบตะวันตก ลูกค้าของผมที่เข้าใจความงามแบบตะวันออกจึงมาหาผม แต่การที่ผมเข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติ ก็ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในโลกสากล สร้างความเข้าใจถึงความงามแบบตะวันออกผ่านงานของผมด้วยเช่นกัน
จริง ๆ เราคงไม่อาจปิดกั้นอิทธิพลจากสากลในงานออกแบบของนักออกแบบไต้หวัน แต่ผมคิดว่าการที่ไต้หวันเป็นเกาะ ก็เป็นข้อได้เปรียบ เรามีวัฒนธรรมของตัวเอง มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แต่ขณะเดียวกันทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำอย่างไรเราจะเห็นคุณค่าความงามที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ ผมเองก็เห็นสถาปนิกรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับกลิ่นอายของท้องถิ่น ซึ่งเราน่าจะได้เห็นวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมแบบใหม่ของไต้หวันในอนาคต ซึ่งผมหวังว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างตะวันตก และตะวันออกได้อย่างน่าสนใจ
ติดตามชมผลงานอื่นๆ ของ Soar Design Studio ที่ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award ได้ที่ www.goldenpin.org.tw/en
เรื่อง: MNSD, กรกฎา
ภาพ: Soar Design Studio
————————————