นี่คือ เครื่องพิมพ์ที่เปิดให้โหลดแบบ Open Source และพริ้นต์ใช้เองได้! เพื่อ เปลี่ยนขวดพลาสติก(PET)ให้กลายเป็นวัสดุพร้อมพริ้นต์ได้ทันทีด้วยเครื่องพิมพ์ที่เปิดให้โหลดแบบ Open Source และพริ้นต์ใช้เองได้!
เพราะกว่า 90% ของขยะพลาสติกทั้งโลกนั้นมาจากขวดพลาสติก(PET) จะดีกว่าไหมถ้าเครื่องพิมพ์สามมิติสามารถใช้งานขยะเหล่านี้เป็นวัตถุดิบได้โดยตรง
นักออกแบบ Reiten Cheng ได้ออกแบบเครื่องพิมพ์นี้อย่างมุ่งมั่น เพื่อลดขั้นตอนการรีไซเคิลลงให้สั้นที่สุด เพราะจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ กว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนรีไซเคิลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เวลาที่เสียไป แต่ยังรวมถึงทรัพยากรและพลังงานที่ต้องใช้ไประหว่างทางอีกด้วย
การทำงานของเครื่อง Polyformer นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลักๆก็คือ การสร้างวัตถุดิบสำหรับพิมพ์ หรือที่เรียกว่าเส้นพลาสติก Filament และส่วนที่นำเข้าสู่การพิมพ์นั่นเอง
Filament นั้นส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อความชื้นซึ่งจะเป็นผลให้การพิมพ์นั้นขาดช่วงไม่ราบรื่นได้ การสร้างวัตถุดิบพร้อมใช้โดยตรง ในทางทฤษฏีจึงเป็นการลดขั้นตอนการเก็บที่เสี่ยงต่อความชื้น ทั้งยังสามารถผลิตเพียงเท่าที่ต้องการได้อีกด้วย
ขั้นแรกนั้นเมื่อได้ขวดพลาสติกเก่าที่จะนำมาใช้ป้อนเข้าสู่เครื่อง เครื่องจะเป็นการตัดให้ขวดนั้นกลายเป็นริ้วเส้นก่อน เมื่อเครื่องจับปลายริ้วพลาสติกได้ก็จะเริ่มกรีดเข้าสู่ขั้นตอนผลิตโดยอัตโนมัติ เมื่อริ้วพลาสติกผ่านเข้าไปยังเครื่องทำความร้อนภายใน ริ้วเหล่านั้นจะถูกหลอมและเกลาให้ได้รูปเป็นเส้น Filament จัดเก็บเข้าสู่กระสวยต่อไป เมื่อขวดหนึ่งหมดก็ใส่ขวดต่อไปเครื่องจะเชื่อม Filament เหล่านั้นให้กลายเป็นเส้นต่อเนื่องกันจนเต็มกระสวย หรือเท่าที่ต้องการในการใช้งานนั่นเอง จากนั้นก็นำกระสวยไปติดตั้งลงในเครื่องพิมพ์เพื่อใช้งานเป็นอันจบขั้นตอน
Reiten Cheng ตั้งใจออกแบบเครื่องนี้แบบ Open Source หรือก็คือแพลตฟอร์มเปิดที่ใครก็สามารถโหลดไปพริ้นต์ใช้งาน และร่วมกันพัฒนาได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงต้องการการพัฒนาอีกมาก ซึ่งการเปิดให้เป็น Open Source ยังช่วยให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อวิถีการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนได้นั่นเอง ลองจินตนาการถึงการพริ้นต์อุปกรณ์ในครัวเรือนใช้เอง เช่น ประแจไขก๊อกจากเศษขวดเก่าที่สะสมไว้ในช่วงสุดสัปดาห์ มันง่ายดายขนาดนั้นเลยละ
ออกแบบ: Yang (Reiten) Chengข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.reiten.design/polyformer
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut