COTH studio กับผลงาน THOC หัตถกรรมกระเป๋าจากเส้น “ตอกไม้ไผ่” ที่ตั้งใจหยิบใช้เทคนิคของงานจักสานโบราณ “ไม้ไผ่ขด” ที่ซ่อนอยู่ในงานเครื่องเขิน มาผสมกับเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของยุคปัจจุบัน
จากความชื่นชอบและคุ้นเคยในการทำงานคราฟต์ ร่วมกับชุมชนมาตลอด 6 ปี ในฐานะ COTH studio ทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนเมื่อ 4 ปีก่อน ดีไซเนอร์ได้เดินทางไปพบกับป้าสร้อย ซึ่งเป็นทายาทของบ้านกันธิมาที่ทำไม้ไผ่ขดเป็นบ้านแรก และเกือบจะเป็นบ้านสุดท้ายในชุมชนศรีปันครัว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พวกเขาได้มองเห็นศักยภาพของงานหัตถกรรมที่สามารถผลักดันให้ไปได้ไกลกว่าการเป็นแค่โครงสร้างภายในของงานเครื่องเขินที่ปัจจุบันความนิยมน้อยลง
กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ COTH studio ได้เข้าไปศึกษา และทดลองเทคนิคร่วมกับป้าสร้อยและครอบครัว โดยพัฒนาและใส่คุณค่าใหม่ให้กับเทคนิคนี้ จนออกมาเป็นไอเดียกระเป๋าแบรนด์ THOC มีที่มาจากเส้น “ตอกไม้ไผ่” โดยคอลเล็กชั่นแรกชื่อ BARE เด่นด้วยการเล่นกับโครงสร้างสัจวัสดุของเทคนิคไม้ไผ่ขดที่ไม่ถูกปิดทับหรือซ่อนอยู่ภายในแบบเดิมอีกต่อไป
จากการทำงานในฐานะ COTH studio เป็นเวลากว่า 6 ปี และได้ทำงานร่วมกับชุมชนหัตถกรรมในการทำงาน Functional Art เช่น ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ทำให้ได้มีโอกาสเจอชุมชน หัตถกรรมที่มีทักษะและเทคนิคที่น่าสนใจใหม่ ๆ อยู่ตลอด
จนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้มีโอกาสเข้าไปเจอกับคุณป้าสร้อยสิน ทายาทของบ้านกันธิมาซึ่งเป็นครอบครัวผู้บุกเบิกการทำ “ไม้ไผ่ขด” เป็นบ้านแรก และแทบจะเหลือเป็นบ้านหลังสุดท้ายแล้วที่ยังทำอยู่ในชุมชน “ศรีปันครัว” จังหวัดเชียงใหม่ พอได้เห็นชิ้นงานและเทคนิคก็รู้สึกสนใจตั้งแต่แรกเห็น ด้วยที่มีพื้นฐานเป็นสถาปนิกซึ่งชื่นชอบทำงานแนวสัจวัสดุอยู่แล้ว
ทำให้ COTH studio รู้สึกถึงเสน่ห์ของการใช้เพียงแค่เส้น “ตอกไม้ไผ่” กับมือ สามารถสร้างออกมาเป็นโครงสร้างที่มีฟอร์ม และลวดลายน่าสนใจ เป็นงานที่การขึ้นรูปแทบไม่ได้ต้องใช้พลังงานอะไรเลยนอกจากจังหวะของมือ แต่น่าเสียดายที่โดยปกติแล้วงานไม้ไผ่ขดถูกใช้เป็นเพียงโครงสร้างภายในของงานเครื่องเขินที่ปิดทับด้วยยางรัก หรือสีเคลือบหนา ๆ ทำให้เรามองไม่เห็น
หลังจากนั้น ทีมดีไซเนอร์ได้ขอเข้าไปศึกษาเรียนรู้การทำกับ คุณป้าสร้อยสิน และเริ่มทดลองวิธีใหม่ ๆ ในการเล่นกับเทคนิคไม้ไผ่ขดต่าง ๆ ร่วมกัน โดยได้ทดลองเป็นงาน Functional Art ต่าง ๆ ในช่วงแรกได้เริ่มสังเกตเห็นว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ คนนิยมไปซื้อกระเป๋าสาน ทำให้มีสินค้ากระเป๋าสานในรูปแบบต่าง ๆ วางขายอยู่ทั่วจังหวัด จนเป็นที่มาของแนวคิดการนำไม้ไผ่ขดนั้นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีการนำไม้ไผ่มาขดขึ้นรูปเป็นภาชนะจักสานต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น จำพวกพานขันดอก หรือตะกร้า ทำให้ COTH studio เกิดตั้งคำถามว่า หากนำไม้ไผ่ขดมาทำเป็นกระเป๋าในยุคปัจจุบันจะเป็นอย่างไร จนได้เริ่มพัฒนาและแตกแบรนด์ย่อยออกมาเป็น THOC (ตอก) ซึ่งมีที่มาจาก “ตอกไม้ไผ่” นั่นเอง
Collection BARE คือคอลเล็กชั่นแรกของ COTH studio เพราะอยากจะพูดถึงการเปิดเผยความงามของไม้ไผ่ขด ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ข้างในของงานเครื่องเขิน โดยปกติแล้วงานเครื่องเขินมักถูกมองว่าเป็นงานหัตถกรรมเชิงช่างชั้นสูง แต่งานไม้ไผ่ขดกลับถูกมองว่าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ไม่ได้มีราคาสูง ดังนั้นกระเป๋าคอลเล็กชั่นนี้จึงตั้งใจจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยการลบภาพการเคลือบผิวทึบหนา ๆ ออกไป และชูความงามของสัจวัสดุทางโครงสร้างของเทคนิคไม้ไผ่ขด
กระเป๋าทุกใบในคอลเล็กชั่นนี้ จึงถูงขึ้นรูปทรงจากมือของคุณป้าสร้อยสินอย่างพิธีพิถัน ขดขึ้นรูปจากเส้นไม้ไผ่ทีละเส้น ๆ โดยรูปทรงชิ้นงานเกิดจากการนำองค์ประกอบที่มักพบในงานเครื่องเขินล้านนา หรือการทำข้อกิ่ว โดยได้หยิบจับการทำกิ่วมาปรับให้เป็นเส้นสายที่มีความเป็นเรขาคณิตมากขึ้น นอกจากนี้ ยังนำเศษเหลือจากการขัดผิวไม้ไผ่มาทำเป็นสีถ่านสมุกอุดร่องไม้ไผ่ ซึ่งให้สีดำตามธรรมชาติขัดกับสีของไม้ไผ่ สร้างออกมาเป็นลวดลายแทนการใช้สีสังเคราะห์ หรือยางรักที่มีราคาสูง
ส่วนการออกแบบแพตเทิร์นหนังที่นำมาเสริมในชิ้นงาน ยังได้คำนึงการวางลายให้เหลือเศษหนังเหลือใช้น้อยที่สุด การออกแบบของแบรนด์ COTH studio จึงนับเป็นชิ้นงานที่ดู Timeless ไม่ได้วิ่งตามแฟชั่น เป็นกระเป๋าที่ยังสามารถคงคุณค่าแห่งรสนิยมข้ามผ่านได้ทุกยุคสมัย
โดยงานไม้ไผ่ขดนี้ นับเป็นงานฝีมือสกุลช่างพื้นบ้านที่สืบถอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากสิบสองปันนา เมื่อย้อนไปในยุคอดีตครอบครัวกันธิมาของคุณป้าสร้อยสิน คือหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำไม้ไผ่ขดที่ชุมชนศรีปันครัว จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนถ่ายทอดวิชาไปให้กับผู้คนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน จนทำให้หมู่บ้านศรีปันครัว ขึ้นชื่อเรื่องการทำไม้ไผ่ขดเรื่อยมา
ด้วยความเป็นผู้บุกเบิกวิชาที่ถ่ายทอดในครอบครัวจึงแสดงได้เด่นชัดในเรื่องคุณภาพของชิ้นงานที่มีความปราณีตเรียบร้อย จนทำให้คุณยายขันแก้ว กันธิมา คุณแม่ของคุณป้าสร้อยสินได้รับการยกย่องเป็นศิลปินดีเด่น สาขาช่างฝีมือ ปี 2542 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จังหวะของมือที่ปราณีตได้ถูกส่งต่อให้คุณป้าสร้อยสิน และครอบครัว ยังคงดำเนินหัตถกรรมไม้ไผ่ขดต่อ ในขณะที่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึงห้าครัวเรือนที่ยังทำธุรกิจนี้ แม้ว่าลูกค้าหลักจะเหลือเพียงแต่การทำรับใช้พิธีทางศาสนาของทางวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น พานขันดอก ก็ตาม
COTH studio พวกเขามักจะหยิบแรงบันดาลใจจากทรัพยากรในท้องถิ่น บริบท หรือเรื่องราวในพื้นที่ มีความหลงใหลในงานฝีมือแบบดั้งเดิม ที่ให้เสน่ห์ของสุนทรียศาสตร์ที่เน้นสัจวัสดุตามธรรมชาติ ความหยาบกระด้างและความไม่สมบูรณ์ของสิ่งต่าง ๆ และมักจะทำงานร่วมกับชุมชนหัตถกรรมท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อสร้างผลงานที่เคารพจิตวิญญาณแห่งงานฝีมือ ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกถึงความเรียบง่ายและร่วมสมัย
ภาพ และเนื้อหา: COTH studio
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut