บ้านชนบท ท่ามกลางธรรมชาติที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบ้านหลังใหม่ที่อยู่เคียงข้างบ้านหลังเก่าอันเปี่ยมความทรงจำ ทั้งยังสวยงาม ร่มรื่น เปิดรับธรรมชาติได้รอบทิศทาง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ : WOS Architects และ Estudio
บ้านชนบท ขนาด 4 คนอยู่หลังนี้ มีโจทย์ใหญ่คือการนำข้าวของเครื่องใช้จากบ้านเดิมที่กรุงเทพฯ มาใช้เกือบทั้งหมด บ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านตากอากาศที่มีขนาดใหญ่กว่าบ้านตากอากาศทั่วไป ทั้งยังต้องการความมิดชิดเป็นส่วนตัวแบบบ้านในเมือง แต่สามารถเปิดรับธรรมชาติโดยรอบได้อย่างเต็มที่
เพราะในบ้านหลังนี้แทบทั้งหมดเป็นของที่ขนย้ายมาจากบ้านเดิมที่กรุงเทพฯ เป็นของที่ผูกพันกับครอบครัว หรือเป็นของสะสมตั้งแต่สมัยยังใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้โทนสีน้ำตาลเทา (Taupe) ที่สามารถเข้ากันได้ดีกับเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้หลากหลายรูปแบบทั้งเก่าและใหม่ รวมไปถึงธรรมชาติรอบ ๆ บ้านมาใช้ทั้งภายนอกและภายใน
การออกแบบบ้านหลังนี้ จึงมีความโดดเด่นของการใช้หลังคาจั่ว ครอบทับลงไปบนอาคารรูปสี่เหลี่ยมทรงกล่อง การกดหลังคาจั่วให้ลาดต่ำลงนั้น นอกจากจะทำให้สัดส่วนบ้านดูเป็นมิตรขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอีกด้วย
พื้นที่ส่วนตัวที่สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดจั่วหลังคา และอาคารทรงกล่องด้านล่าง แท้จริงแล้วมีการเชื่อมต่อกันในแบบ Double Height เกิดเป็นพื้นที่ใช้สอยแบบผังเปิด (Open Plan) ขนาดใหญ่ ที่รวมเอาพื้นที่ครัวและนั่งเล่นไว้ด้วยกัน
พื้นที่นั่งเล่นนี้สามารถเปิดออกสู่ชานบ้านที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้อย่างดี ทั้งโถงสูงนั้นช่วยให้สามารถสร้างการไหลเวียนของอากาศ และระบายความร้อนได้ ด้วยพัดลมเพดานที่กลางห้อง จึงทำให้บ้านหลังนี้ แทบไม่ต้องพึ่งพาการปรับอากาศเลยตลอดทั้งวัน
ส่วนห้องนอนใต้หลังคารับวิวภูเขาและแม่น้ำ ออกแบบให้อยู่ฝั่งทิศเหนือและใต้ของบ้าน โดยแบ่งห้องนอนเป็นห้องสำหรับผู้สูงอายุที่ชั้นล่าง และห้องนอนสไตล์ห้องใต้หลังคาที่ชั้นบน ห้องนอนทั้งสองฝั่งจะหันออกสู่วิวภายนอกอาคาร รวมทั้งการแยกห้องนอนออกเป็นสองฝั่งเช่นนี้ ก็ทำให้แต่ละห้องรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวมากขึ้นอีกด้วย
Design Tips
แสงตกกระทบเชื่อมโยงภายในและภายนอก
ไฟแสงสว่างในบ้านหลังนี้ แทนที่จะใช้โคมดาวน์ไลท์ซึ่งเป็นแสงแบบ Direct Light ส่องจากฝ้าลงมาพื้นตามปกติ ผู้ออกแบบเลือกใช้ไฟ Indirect Light เป็นหลัก โดยใช้วิธีการส่องขึ้นให้สะท้อนกับฝ้าเพดานทรงจั่วสูง และใช้โคมไฟกิ่งติดผนังหรือโคมไฟตั้งพื้นช่วยอีกส่วหนึ่ง แสงไฟสลัว ๆ นี้ ช่วยให้บรรยากาศภายในและภายนอกในเวลาพลบค่ำ หรือยามเช้า ยังคงเชื่อมโยง ไม่เจิดจ้า แตกต่างกันจนเกินไป ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสัมผัสบรรยากาศดี ๆ ของธรรมชาติ ได้อย่างใกล้ชิด
ออกแบบสถาปัตยกรรม: WOS Architects
ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน: Estudio
ภาพ: Add Peerapat Wimolrungkarat Something Architecture
เรื่อง: Wuthikorn Sut