บ้านชั้นเดียว แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัด เชียงใหม่ ออกแบบโดย Housescape Design Lab เป็นบ้านที่ผู้ออกแบบนิยามว่าเป็น “กระท่อม” ของเจ้าของที่เป็นคนกรุงเทพฯ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Housescape Design Lab
สร้างไว้สำหรับพักผ่อนตากอากาศในช่วงเวลาสั้น ๆ ในบรรยากาศที่เชื่อมโยงบ้านกับธรรมชาติโดยรอบด้วยการทำช่องเปิดรอบบ้าน และรับวิวน้ำ หรือทะเลสาบที่อยู่หลังบ้าน วัสดุการสร้าง บ้านชั้นเดียว หลังนี้ เกือบทั้งหมดหาได้ง่ายในท้องถิ่น ข้อความที่สถาปนิกตั้งใจสื่อสารลงไปในบ้านหลังนี้ คือ การออกแบบบ้านรูปทรงคล้ายหินจริง แต่สร้างด้วยวัสดุคอนกรีต ครอบเสานอกบ้าน และในบ้านที่ใต้อ่างล้างจาน เป็นการสร้างสิ่งคล้ายธรรมชาติให้เกิดคำถามถึงการมีอยู่ระหว่าง “ของจริง” และ “ของสังเคราะห์” ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา


ผู้ออกแบบได้ทดลองเทคนิคการผลิตที่มากขึ้นจากผลงานก่อนหน้านี้ นอกจากหลังคาและคอนกรีตที่ใช้เป็นวัสดุจากโรงงาน วัสดุอื่นนอกจากสองอย่างนี้ ผู้ออกแบบได้เลือกใช้วัสดุจากท้องถิ่นรอบรัศมี 10 กิโลเมตร รวมไปถึงรายละเอียดอย่างประตู หน้าต่าง งานเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ กลอนประตู และก๊อกน้ำได้รับการออกแบบรายละเอียดและผลิตขึ้นด้วยวิธีการคราฟต์ โดยเป็นการทำงานร่วมกับทีมช่างท้องถิ่น หรือใช้ช่างในพื้นที่
แนวคิดการทำงานนี้มีข้อดี คือสามารถจัดการซ่อมแซมบ้านในอนาคตได้ไม่ยาก แถมเป็นการสร้างมั่นคงให้กับบ้านแม้ผ่านกาลเวลา ผ่านกระบวนการผลิตวัสดุก่อสร้างที่สถาปนิกออกแบบระบบขึ้นมา ช่วยสร้างงานให้แก่ช่างท้องถิ่น นับเป็นอีกหน่วยที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำออกจากระบบการผลิตทั้งหมดที่รวมอยู่แค่ศูนย์กลางอย่าง โรงงาน ให้กระจายไปสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง















ซึ่งวัสดุจากโรงงานและวัสดุคราฟต์ ทั้งสองอย่างได้รับการผสมกลมกลืนกัน จนกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปแล้วในอาคารหลังหนึ่ง เช่น ในอาคารใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้า ผนังกรุด้วยวัสดุหน้าตาเหมือนกับหินจริง แต่ความจริงแล้วกลับเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาให้ดูเหมือนของจริง แต่ในความรับรู้ของคนที่ใช้งานเข้าใจว่านั่นคือ หินจริง เป็นการตั้งคำถามที่เกิดจากความสงสัยของสถาปนิกที่ออกแบบเป็นรูปทรงเหมือนหิน ให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นวัสดุธรรมชาติอยู่ภายในบ้าน แต่เป็นวัสดุอื่นที่ผ่านการสังเคราะห์ขึ้นมา ทำให้คนที่มองเห็นก้อนวัตถุนั้นกิดคำถามว่า จะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร?
นำเสนอเทคนิคการก่อสร้างที่สถาปนิกเลือกใช้ในบ้านหลังนี้ โดยใช้วิธีเดียวกับบ้านของชาวบ้านในชนบท เช่น หลังคา ใช้เป็นทรงจั่ว และใช้วัสดุมาตรฐานที่ผ่านการพิสูจน์จากการใช้งานในบ้านของชาวบ้านในท้องถิ่นมาแล้ว สามารถใช้ได้อบ่างทนทาน เหมาะกับสภาพแวดล้อม แดด ฝนของท้องถิ่นได้ จึงออกมาเป็นรูปแบบดีไซน์ที่เรียบง่าย คุ้นตา แต่ใช้งานได้ดี
ออกแบบ: Housescape Design Lab
เจ้าของ : K.New
ภาพ: Jeng Pheera
เรื่อง: Natthawat Klaysuban
Tree’s House บ้านชั้นเดียว พื้นที่อาศัยที่เติบโตไปพร้อมกับต้นไม้ใหญ่
