Forest Villa บ้านโมเดิร์น สะท้อนจิตวิญญาณจีนยุคใหม่ - room

Forest Villa บ้านโมเดิร์น กลางธรรมชาติ ที่พลิกมุมมองการอยู่อาศัยของครอบครัวจีนยุคใหม่

บ้านโมเดิร์น กลางธรรมชาติ ตั้งอยู่ย่านชานเมืองเหอเฝย์ (Hefei) เมืองหลวงของมณฑลอานฮุย (Anhui) ทางฝั่งตะวันออกของจีน โดยที่ตัวบ้านอยู่ไม่ไกลนักจากวนอุทยานแห่งชาติต้าซู (Dashu Mountain National Forest Park) จึงโอบล้อมด้วยบรรยากาศธรรมชาติของเทือกเขาหวงซานอันงดงามราวภาพวาด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: HAS design and research

กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมสถาปนิกจาก HAS design and research (HAS) สร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัย ที่สะท้อนวิถีชีวิต และจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมจีนในยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ

บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างด้วยพื้นที่เปลี่ยนผ่าน
จากบ้านสำเร็จรูปเดิมมี 3 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น ได้รับการออกแบบใหม่ให้รองรับการอยู่อาศัยของครอบครัวขนาดกลาง โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยโดยอิงกับโครงสร้างเดิม ภายใต้โจทย์ที่ต้องการหลอมรวมภูมิประเทศธรรมชาติโดยรอบให้เชื่อมโยงกับสเปซภายใน ผนวกกับแรงบันดาลใจจากบ้านจีนโบราณ ที่มักมีพื้นที่เปลี่ยนผ่าน เช่น โถงหรือคอร์ตก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ใช้สอย สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่เปลี่ยนผ่านหรือเชื่อมต่อ (transition space) ระหว่างพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ โดยใช้องค์ประกอบหลักอย่างเปลือกหุ้มอาคาร (shell) ช่องทางเดิน (hole) และช่องเปิด (void) ที่สร้างเลเยอร์ของสเปซภายในบ้าน

เปลือกหุ้มอาคารชั้นนอก มีช่องเปิดเป็นจังหวะ จงใจสร้างกรอบภาพที่มองเห็นจากภายในเป็นภาพต่อเนื่องของทิวทัศน์สวนป่าซึ่งโอบล้อมบ้านไว้ จากประตูทางเข้านำเข้าไปสู่ระเบียงทางเดิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่ว่างแห่งการเปลี่ยนผ่านทางประสาทสัมผัส และการรับรู้ของผู้ใช้งาน พร้อมช่วยกรองแสงแดดแรงจากทิศตะวันตก ลึกเข้าไปในส่วนของห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหาร ช่องทางเดินที่เจาะทะลุเรียงต่อเนื่องตลอดแนวผนังสลับซ้อนเหลื่อมกันดูราวกับช่องแสง ที่ลอดผ่านระหว่างพุ่มเรือนยอดไม้กลางป่า เกิดเป็นมุมมองของสเปซที่ลื่นไหล และมีชีวิตชีวา

บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ

พื้นที่ส่วนตัวบนชั้นสาม แนวทางการออกแบบข้างต้นยังปรากฎในรูปแบบของบานเปิด ที่ทำให้สเปซใช้งานได้หลากหลายและยืดหยุ่น ในช่วงเช้า เมื่อบานเปิดทั้งหมดเปิดโล่ง จึงเปิดรับแสงธรรมชาติ และกระแสลมตามฤดูกาลให้ผ่านเข้าสู่อาคาร สร้างบรรยากาศที่โปร่งสบาย ในช่วงบ่าย บานเปิดทำหน้าที่เหมือนฉากกั้นที่ถูกปิดไว้บางส่วน ช่วยกรองแสงแดดบ่าย และทำให้พื้นที่เหมาะสำหรับการนั่งสมาธิ เล่นโยคะหรือไทเก็ก ส่วนในช่วงค่ำ บานเปิดที่ปิดสนิททั้งหมด ทำให้เกิดพื้นที่ห้องโถงส่วนตัวสำหรับการพักผ่อน และห้องโถงอเนกประสงค์นี้เอง ได้สร้างประสบการณ์การใช้ชีวิต ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน

บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ

โถงใต้ดินเปิดรับแสงธรรมชาติ
จากเดิมชั้นใต้ดินมี 2 ชั้น แต่บางส่วนได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นโถงสูง พร้อมคอร์ตเปิดโล่ง ที่นอกจากจะช่วยพาแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ใช้สอยภายใน ป่าไผ่กลางคอร์ตยังสร้างบรรยากาศเหมือนภาพวาดภูมิทัศน์แบบจีน และแม้ชั้นใต้ดินจะประกอบด้วยผนังที่มีความหนา แต่ช่องทางเดินช่วยสร้างมุมมองที่ต่อเนื่องและไม่ทึบตัน แต่ก็ยังคงความรู้สึกอบอุ่นเหมือนการอยู่ในถ้ำหิน แตกต่างจากบรรยากาศสว่างไสวของชั้นบน

รายละเอียดในการออกแบบ และก่อสร้างคือปัจจัยหลักที่สร้างความแตกต่างให้กับ Forest Villa บานกรอบประตูหน้าต่างที่เฉียบเรียบ ซ่อนรอยต่ออย่างแนบเนียน การออกแบบแสงสว่างที่เน้นแบบ Indirect Light ไม่เห็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างที่รบกวนสายตา พร้อมการออกแบบฝังงานระบบไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศทั้งหมด ทำให้บรรยากาศภายในบ้านดูสะอาดตา ไร้เส้นสายรบกวน พร้อมสะท้อนภาพความงาม ที่ปลอบประโลมจิตใจได้อย่างแท้จริง

บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ
บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ

ด้วยแนวคิดการเทียบเคียง (analogy) กับธรรมชาติ สถาปัตยกรรมได้เลียนแบบการเติบโตของต้นไม้ในป่า เช่น ลำดับต่อเนื่องของเสาอาคาร โดยแต่ละเสาจะมีพื้นผิว และสัดส่วนไม่เหมือนกัน สร้างประสบการณ์ทางการสัมผัส และการมองเห็นที่แตกต่าง นอกจากนี้ ภูมิทัศน์อันเป็นจุดเด่นของบ้านหลังนี้ ยังต่อเนื่องไปยังชั้นใต้ดิน และสวนบนชั้น 3 ซึ่งเป็นที่อยู่ของแมลงและนกนานาชนิด ช่วยเพิ่มบรรยากาศการพักผ่อน ทั้งทางประสาทสัมผัสทางกลิ่น และเสียง Forest Villa จึงตอบสนองการใช้ชีวิตยุคใหม่ โดยยังคงให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ และปรัชญาการใช้ชีวิตอันลึกซึ้งของชาวจีนได้อย่างในรูปแบบที่น่าสนใจ


ออกแบบ: HAS design and research โดย Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Atithan Pongpitak และ Zhihui Jiang
วิศวกรรม: Hefei Botuo Decoration Engineering Co., Ltd.
รับเหมาก่อสร้าง: Hefei Botuo Decoration Engineering Co., Ltd.
ภาพ : Fangfang Tian


Yellow House บทกวีที่เรียกว่า “บ้าน”