Material Innovation Lab เป็นอาคารเรียนอเนกประสงค์ ของคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง รีโนเวตอาคารปฏิบัติการหลังเดิมอายุ 50 ปี ให้ไปต่อในยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Teerachai Leesuraplanon (ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์) และคณะผู้ออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
ผสานไอเดียเก่าและใหม่เพื่อมุ่งสู่อนาคต
“แนวทางการออกแบบ เราผสานของเก่ากับของใหม่ ซึ่งอาคารเดิมของคณะ วางรากฐานที่ดีไว้อยู่แล้ว การรีโนเวตอาคารใหม่ ก็เอาไอเดียที่ดีจากของเดิม คือ การออกแบบอาคารให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ มาผสานกับการออกแบบใหม่ วัสดุใหม่ ออกมาให้ไปต่อได้”
ข้อความจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน และสถาปนิกผู้นำในการออกแบบรีโนเวตอาคารหลังนี้ ข้อความนี้เป็นเหมือนการสรุปไอเดียภาพรวมการปรับปรุงอาคารหลังเดิม ที่ยังคงโครงสร้างเดิม สัดส่วนของอาคารเดิมเอาไว้ ในจุดที่ใช้งานได้ดีอยู่ รวมถึงไอเดียจากอาคารหลังอื่นภายในคณะ ที่ใช้งานได้ดี ที่สร้างขึ้นในยุคเมื่อราว 50 ปีก่อน ที่อาจจะไม่ได้คิดถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ กล่าวคือ เป็นยุคสถาปนิกออกแบบอาคารมาเพื่อรองรับการเรียนการสอน ในสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศธรรมชาติแท้จริง โดยไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศช่วย อย่างเช่น การเรียงอิฐผนังอาคารให้มีช่องระบายอาคาร การใช้หน้าต่างบานเกล็ดเปิดช่องให้ระบายลมได้
การรีโนเวตอาคารหลังนี้ จึงนำไอเดียเดิม ที่ใช้ได้ดีมาต่อยอดใหม่ ควบคู่ไปกับวสดุ เทคโนโลยี และวิธีคิดทางการออกแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของยุคสมัยปัจจุบัน และอนาคต
ต่อยอดงานออกแบบจากโครงสร้างเดิม
การรออกแบบ ทำการเก็บโครงสร้างอาคารเดิมไว้ ด้วยข้อดีของโครงสร้างเดิม คือ โครงสร้างยังแข็งแรง ใช้งานได้ดีอยู่ และความสูงภายในอาคาร ที่ค่อนข้างสูง ทำให้พื้นที่ภายในโปร่ง สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
ฟังก์ชั่นการใช้งาน
ทำเป็นห้องเรียน ซ้อนอยู่ภายในอาคารปฏิบัติการเดิมอีกชั้นหนึ่ง ยกสูงเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างออกแบบเป็นพื้นที่ใต้ถุนโล่ง และมีห้องอเนกประสงค์อยู่ชั้นบน ฟังชั่นพิเศษ บริเวณบันได ออกแบบให้มีพื้นที่นั่ง เป็นเหมือนอัฒจรรย์ สำหรับทำกิจกรรมได้หลากหลาย
ออกแบบอาคารสอดรับกับสภาพแวดล้อม
“ผนังหายใจได้” เป็นคำนิยามของการออกแบบอาคาร ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม ที่ส่งต่อจากอาจารย์ของคณะ สู่การออกแบบผนังอาคาร ที่เปิดให้ลมระบายได้อย่างทั่วถึง โดยการใช้แผ่นระแนงไม้เทียม มาออกแบบเป็นผนังบานเกล็ดวางองศาเปิดในช่วงล่างของตัวอาคาร ในส่วนด้านบนค่อย ๆ ปิดทึบจนกลายเป็นผนัง และที่ผนังด้านอื่น ๆ ก็ใช้วัสดุที่กึ่งโปร่ง ช่วยให้แสง ลม เข้าสู่อาคารได้ เช่น ตระแกรงเหล็กฉีก ผนังอิฐเรียงให้เป็นช่องโล่ง ให้แสงเข้าได้ แต่ก็ช่วยกันแสงแดดไม่ให้ร้อนเกินไป
จัดเรียงวัสดุพื้นฐานให้ดูดี
อาคารใช้วัสดุพื้นฐาน ที่หาได้ไม่ยาก เช่น อิฐ ไม้เทียม กระจกบานเกล็ด เหล็ก เป็นวัสดุที่ราคาไม่สูง แต่มาจัดเรียง ให้เกิดระนาบที่แตกต่างกันให้ดูน่าสนใจ รวมถึงสี ก็ใช้สีจากตัววัสดุโดยตรงเลย เป็นสีธรรมชาติของตัววัสดุเอง
การปรับปรุงอาคารหลังนี้ คือตัวอย่างที่ดี ของการรักษามรดกในความเป็นสถานที่หรือ Sense of Place ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากคุณค่าเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว ยังเป็นความทรงจำ ความผูกพันธ์ ของผู้คนในขณะอีกด้วย คุณค่าเหล่านี้อาจวัดค่าได้ยาก แต่มีอยู่จริง จับต้องไม่ได้ แต่ชัดเจนในความรู้สึก ซึ่งน่าเสียดายที่ผ่านมาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในแนวทาง Modernist ซึ่งมีอายุราว 50-60 ปี ได้ถูกทุบรื้อทิ้งไปเสีย เวลาผ่านไป สถาปัตยกรรมเหล่านี้ก็กลับเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจได้ในอีกมิติหนึ่ง การพาอาคารเหล่านี้ รวมถึงองค์ความรู้ ที่ได้ออกแบบมาเป็นอย่างดีในยุคสมัยนั้น ไปต่อสู่อนาคต ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ ให้ใช้งานร่วมสมัยกับนักเรียน นักศึกษา แะอาจารย์ ที่เป็นคนรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นต่อไปที่กำลังจะเข้ามา ถือเป็นวิธีที่น่าสนใจ
ภาพ: Rungkit Charoenwat
เรื่อง: Natthawat Klaysuban
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ได้ที่: School of Architecture, Art, and Design – KMITL