“ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ทําให้คนรู้จักสตูดิโอเรา มาจากการใช้สเกลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแบบเรา เพราะผมครุ่นคิดหรือว่าผมสนใจวิธีการใช้สภาพแสงหรือสภาพความร้อนในแบบของบ้านเรา อาจจะทำให้คนมองว่าเป็นลายเซ็น แต่สําหรับผมคิดว่า ผมแค่เข้าใจในระดับหนึ่ง” – คุณเติ้ล Studio Miti
หากคุณเป็นคนในแวดวงออกแบบ เชื่อว่าชื่อของ Studio Miti คงเป็นออฟฟิศสถาปัตย์ที่พูดถึงแล้วต้องร้อง อ๋อ!! ด้วยเส้นทางสายออกแบบที่ยาวนานมากว่า 15 ปี การันตีด้วยรางวัลมากมายจากหลากหลายประเภทอาคาร ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย โรงแรม หรือคาเฟ่
แต่หากคุณเป็นคนนอกวงการ คุณอาจรู้จักผ่านการเข้าไปทิ้งตัวนอนในงานออกแบบของพวกเขา อย่าง ‘บ้านมะขาม’ โฮมสเตย์ไม้ที่มีเพียง 6 หลังท่ามกลางป่าจากใจกลางบางกระเจ้า ซึ่งทีม room Books เองเคยไปเยี่ยมเยียนมาแล้วพร้อมการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองกับ คุณประกิจ กัณหา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Miti หรือจะเป็นโฮมสเตย์ทรงเพิงหมาแหงนที่พร้อมเปิดรับดาวนับล้านของเมืองอุทัยอย่าง “บ้านนับดาว” รวมไปถึง Bonsai House Ratchaburi คาเฟ่ที่เป็นหมุดหมายของคนรักบอนไซ กาแฟ และธรรมชาติกับอาคารที่ปกคลุมไปด้วยเหลืองชัชวาลย์กว่าครึ่ง
วันนี้ room Books ได้ร่วมกับแบรนด์ ตราเพชร เปิดพื้นที่ในการแสดงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมในแคมเปญ “3 ARCHITECTS : INNOVATION THROUGH IMAGINATION” ที่เราเชื่อว่างานออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของนักออกแบบ
โดยในท่านแรก room Books แวะมาพูดคุยกับ คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง Studio Miti และใช้เป็นโอกาสในการอัพเดตแนวทางงาน หลังจากย้ายเข้ามาบ้านหลังใหม่ในรูปแบบของทาวน์เฮ้าส์ขนาด 3 ชั้นครึ่งที่เผยตัวตนความเป็นนักทดลองวัสดุออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม ผ่านฟาซาดเข้มขรึม พร้อมดึงแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แม้จะอยู่ในกล่องคอนกรีตก็ตาม เช่นเดียวกับที่เราสัมผัสได้จากผลลัพธ์ของหลาย ๆ โปรเจกต์ที่มักดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม คำนึงถึงแดด ลม ฝน และต้นไม้เป็นที่ตั้ง
มาร่วมค้นหาคำตอบของ ‘สูตร (ไม่) ตายตัว’ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ Studio Miti ที่มีหัวใจเป็นการเข้าใจพฤติกรรมของภูมิอากาศแบบร้อนชื้น
จากความเชื่อสู่โจทย์ในการออกแบบ
คุณเติ้ลเริ่มเล่าถึงแนวคิด โดยพาเราย้อนไปยังแก่นของสตูดิโอมิติ ที่เชื่อในเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีอัตลักษณ์ หรือความชอบ หรือแบ็กกราวนด์ของความคิดที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้สตูดิโอมิติมีหน้าที่หยิบยกเอาเรื่องราวภายใต้ความเชื่อต่าง ๆ ของลูกค้าแต่ละคนมาเป็นประเด็นในการออกแบบ
“นอกจากนั้นเรายังพยายามหาความเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างผู้คน สภาพแวดล้อม และตัวบริบท เพื่อสร้างให้ก่อเกิดงานของสถาปัตยกรรมชิ้นนั้น โดยสตูดิโอมิติเองไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าจะ ‘เป็นอะไร’ หรือ ‘ไม่เป็นอะไร’ เราค้นหาความเป็นไปได้ในทุกเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขแต่ละอย่าง ตั้งแต่เงื่อนไขของมนุษย์ เงื่อนไขของความเชื่อ หรือเงื่อนไขของความชอบที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้น ๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามันไม่สามารถเอาสูตรสําเร็จไปจับได้ เราคิดใหม่ทุกครั้ง แล้วเราเชื่อว่า ด้วยอัตลักษณ์และความชอบหรือว่าสถานที่ และบริบทต่าง ๆ มันไม่เอื้อให้เกิดผลงานที่เหมือนกัน และความจริงแล้วมันควรจะไม่เหมือนกันด้วย เลยไม่สามารถตอบได้ว่ารูปร่างที่สตูดิโอมิติอยากจะให้คนเห็นและจดจํานั้นเป็นอย่างไร เพราะมัน Flexible มาก
“ซึ่งผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ทําให้คนรู้จักสตูดิโอเรา มาจากการใช้สเกลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย เพราะผมครุ่นคิดหรือว่าผมสนใจวิธีการใช้สภาพแสงหรือสภาพความร้อนในแบบของบ้านเรา ซึ่งอาจจะทำให้คนมองว่าเป็นลายเซ็น แต่สําหรับผม คิดว่าผมแค่เข้าใจในระดับหนึ่ง ยังไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ เป็นแค่การเริ่มต้น แต่เรายังหาต่อว่า ภายใต้สภาวะความร้อนแบบนี้ สเกลของอาคารแบบไหนที่จะเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า”
ออกแบบให้ตอบโจทย์ ด้วยการเข้าใจสภาพแวดล้อมและเข้าใจวัสดุ
เพราะการออกแบบที่ดีต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัย ปัจจัยด้านภูมิอากาศจึงเป็นจุดที่สตูดิโอมิติให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสภาวะน่าสบายให้ผู้ใช้งาน
“สตูดิโอมิติมีความเชื่อเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเงื่อนไขทางอุณหภูมิ ทางสภาพแวดล้อม หรือทางสภาพภูมิอากาศ เป็นเหตุปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่เรานำเข้ามาจัดการคลี่คลายสถาปัตยกรรมชิ้นนั้น ๆ หลาย ๆ ครั้งที่เราพยายามทําความเข้าใจว่า ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หรือฝนตกมาก ฝนตกน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปกติที่เราทํากันอยู่ตลอด”
“ปัจจัยเรื่องภูมิอากาศ หรือความทรอปิคัลที่เราพูดถึงกันนี้มันทําให้เราต้องคำนึงถึงสถาปัตยกรรมที่มีความเย็นพอดี ไม่ร้อนเกินไป ไม่ชื้นเกินไป เพื่อการอยู่อาศัยที่สบาย เพราะฉะนั้น ทําให้เงื่อนไขการออกแบบของเราเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ถ้าเราอยู่ใกล้ความร้อนมาก ทําให้ตัวเราร้อน เราก็ต้องทําชายคายื่นออกมามากขึ้นเพื่อให้เกิดเงาของพื้นที่นั้นมากขึ้น ให้ผู้ใช้สามารถขยับเข้ามาใช้งานในพื้นที่ที่เย็นขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่พวกเราใช้ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัสดุใดก็ตาม”
เมื่อทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมแล้ว คุณเติ้ลเสริมว่า อีกประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจวัสดุ เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามเงื่อนไขและรูปแบบของงานออกแบบ
“เงื่อนไขในการเลือกวัสดุ จริง ๆ แล้วสถาปนิกทุกท่านมีความเข้าใจในการเลือกวัสดุอยู่แล้วเป็นอย่างดี สำหรับสตูดิโอมิติ เราเลือกวัสดุตามเงื่อนไขและรูปแบบของการออกแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น บางทีเราอยากได้ชายคาที่ยื่นยาวมาก หรือเราอยากได้พื้นที่ที่กันแดดกันฝนได้ไกลหรือกว้างขึ้น เพราะฉะนั้นน้ําหนักในส่วนของงานหลังคาก็ควรมีความเบา หรือว่ามี Texture ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ําได้ดี สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการออกแบบทั้งนั้น”
“เพราะฉะนั้นก็จะพยายามทําความเข้าใจกับแต่ละวัสดุ หรือว่าแต่ละเงื่อนไขในการใช้วัสดุ อย่างหลังคาเองก็มีหลายรูปแบบ มีทั้งเป็นลอนบ้าง เป็นแบบไม่มีลอนบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ความเหมาะสมในการใช้งานเป็นหลัก”
มากกว่าฟังก์ชัน คือหลังคาที่ตอบโจทย์ทุกความชอบ
การอยู่เส้นทางการออกแบบมาเป็นเวลานานของคุณเติ้ล เขาสังเกตเห็นว่า ปัจจุบันนี้ตัวสถาปัตยกรรมเปลี่ยนรูปแบบไป มีความเป็นสากลมากขึ้น มีมาตรฐานความงามที่ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กันทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ทําให้การเลือกรูปแบบหลังคาเปลี่ยนไป
“เพราะฉะนั้นเงื่อนไขของหลังคาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้สถาปนิกต้องเลือกให้เหมาะสมไปตามรูปแบบนั้น ๆ แต่บางที ในภาษาของสถาปัตยกรรมเอง ในความเป็นทรอปิคัลเอง หรือว่าในรูปแบบโมเดิร์นก็ตาม มันน่าจะทําให้เงื่อนไขของการเลือกหลังคาเป็นได้ทั้งทางกว้างขึ้น แล้วก็แคบลง ได้ทั้งสิ้น
“ผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกท่าน เวลาเลือกหลังคาไม่ได้มีแค่เงื่อนไขของการระบายอากาศหรือการทําความเข้าใจเชิงทรอปิคัลอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องความเชื่อที่ซ้อนอยู่ในแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เวลาที่เราจะเลือกอะไร มันก็ต้องดูให้สอดคล้องกับบริบทนั้น ๆ ดังนั้นหลังคาเองก็ต้องตอบโจทย์ทุกความชอบ ทุกความเชื่อนั้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้หลังคาสูงเพราะอยากให้อาคารนั้นดูโปร่ง ในขณะเดียวกัน มันก็ทำหน้าที่รับแดดรับลมเหมือนกัน ปกป้องเหมือนกัน แต่รูปทรงหลังคาที่ชันมาก กับชันน้อย ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง
“เราจะเห็นว่า เวลาที่เราอยากได้ความสูงมาก หลังคาชันขึ้น อาคารก็จะเป็นอาคารประเภทหนึ่ง แต่ถ้าหลังคาแบน ๆ องศาน้อย ๆ อาคารนั้นก็จะกลายเป็นอาคารอีกประเภทหนึ่ง อย่างบ้านหรือเป็นอาคารที่ไม่อยากปรากฏตัวเยอะ ก็จะมีเงื่อนไขในการเลือกคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มเติมเข้ามา”
เมื่อ ‘หลังคา’ เท่ากับ ‘เสื้อผ้าหน้าผม’
สําหรับการเลือกวัสดุหลังคาให้มันเพิ่มมูลค่าของตัวงานออกแบบ คุณเติ้ลเชื่อว่าระหว่างการออกแบบ เป็นปกติที่สถาปนิกก็ต้องค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมกับการดีไซน์ของตัวเอง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเหมาะสมในเชิงรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ การติดตั้ง รวมถึงราคาที่เหมาะสมกับโครงการนั้น ๆ
“ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุปัจจัยทั้งนั้นเลย บางทีความชอบของแต่ละคนมีน้ําหนักมากกว่าราคาด้วยซ้ํา เพราะว่าบนความชอบนั้นจะประกอบไปด้วย การใช้งานที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของไทย หรือแม้กระทั่งทําให้การใช้งานภายใต้หลังคาเหมาะสมหรือยืดหยุ่นเพียงพอกับการใช้งานภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบไทย หรือภายใต้การใช้งานที่ยืดหยุ่นในพื้นที่นั้น ๆ
“สําหรับความท้าทายในการออกแบบโดยที่มีเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์มาเกี่ยวข้อง จริง ๆ ทุกงานมีเนื้อหาของการจัดการการออกแบบไม่เหมือนกัน ในส่วนที่จําเป็นต้องโชว์หลังคาหรือในส่วนที่จําเป็นต้องเอามาใช้งานเพื่อให้มองเห็น ผมว่าส่วนหนึ่ง หน้าตาหรือว่าความเป็นมิตรของหลังคาคงจะต้องเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือก บางทีอาจทําให้งานดูเปลี่ยนทิศทางไปเลยก็มี หรือบางทีมันก็ดูเป็นมิตรกับงานของเราก็มี
“เพราะฉะนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ข้อแรกสถาปนิกควรต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่าเรากําลังใช้อะไรและมีผลอย่างไร โดยเฉพาะสภาวะแวดล้อมแบบไทยเรา บางสถานที่ฝนตกเยอะ บางสถานที่มีแดดร้อนมาก เพราะฉะนั้นทั้งความสูง ทั้งความเอียงมีผลหมด รวมถึงวัสดุด้วยก็ตาม”
ในช่วงท้ายที่ใกล้จบบทสนทนา คุณเติ้ลได้พาเราย้อนเวลากับไปค้นหาโปรเจกต์ในความทรงจำ ที่ชวนให้นึกถึงงานออกแบบสนุก ๆ และการคลี่คลายโจทย์ต่าง ๆ ที่เขาได้รับมา
SEEN HOUSE (Private Residence)
“ที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้คือเราทําบ้านสําหรับครอบครัวที่กําลังก่อร่าง ณ วันนั้นที่ลูกยังไม่ได้เกิด สมาชิกเป็นสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน 2 คน โดยมีแบ็กกราวนด์คือ เจ้าของบ้าน มีคุณแม่ที่ต้องดูแลอยู่ แล้วก็มีน้องสาวที่อยากพามาอยู่ด้วยกัน
“บ้านนี้เลยมีรูปแบบเพื่อรองรับครอบครัวเชิงขยาย คือมีครอบครัวเดิม แล้วก็ครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราก็เลยออกแบบบ้านหลังนี้ให้สองครอบครัวอยู่พร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ โดยที่ทุกคนต่างมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเอง และก็มีพื้นที่ส่วนของคุณแม่เจ้าของบ้าน และเจ้าของบ้านที่กําลังจะกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้ทั้งหมดอยู่แยกกัน
“ความโชคดีคือบ้านหลังนี้ติดน้ํา ผมก็เลยดีไซน์ให้ลมสามารถผ่านมาจากน้ํา เอาความชื้น เอาอากาศเย็น ๆ เข้ามาในตัวบ้านได้ ขณะเดียวกันก็แยกส่วนบ้านออกเป็น 2 ส่วนขนานกัน และเชื่อมต่อกันด้วยตัว L ที่เป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่เตรียมอาหาร แล้วก็พื้นที่ทานอาหารเข้าด้วยกัน
“ณ วันนั้นผมเชื่อว่า หลังคามีส่วนสําคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ นำมาสู่การออกแบบหลังคาให้รับแสงแดดที่ไม่เท่ากัน ในเวลาที่ต่างกัน ผมเชื่อว่าหลังคาเป็นพื้นที่รับความร้อนโดยตรง ก็เลยทําให้หลังคาส่วนที่รับความร้อนมีขนาดน้อยกว่าหลังคาที่ไม่รับความร้อน เพื่อให้โอกาสรับความร้อนน้อยลง
“สอดคล้องไปกับบริเวณตรงกลางของพื้นที่ที่จัดการแล้วให้เป็นสวน ให้ความร่มรื่นมากขึ้น เราก็ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ ใช้ปูนที่โชว์เม็ดทราย ใช้บานไม้ ใช้พื้นไม้หรือพื้นคอนกรีต ส่วนนี้ก็ทําให้บ้านสามารถแยกกันอยู่ได้ แล้วก็ประกอบกันกับเวลาที่เขา (สมาชิกครอบครัว) อยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่ตรงกลาง”
BONSAI HOUSE RATCHABURI : CAFE, HOMESTAY AND WORKSHOP SPACE
“โปรเจกต์ที่เจ้าของบ้าน ประกอบไปด้วยคุณพ่อซึ่งเป็นนักเล่นบอนไซ ท่านเป็นคนมือเย็นมาก ชอบปลูกต้นไม้ แล้วก็ทําให้ต้นไม้เติบโตไปในรูปฟอร์มที่ตัวเองชอบ เป็นบอนไซขนาดเล็ก เจ้าของบ้านเองก็อยากจะทําโรงเรียนให้คุณพ่อได้สอนเรื่องบอนไซ ให้คนมาเรียนรู้การปลูกเลี้ยงบอนไซ แล้วก็มีที่พักด้วย เผื่อใครจะมาอยู่ได้วันสองวัน ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สําหรับเจ้าของบ้านเอง ที่อยากทําร้านกาแฟให้เป็นที่นั่งเสวนากันของคนชื่นชอบทั้งกาแฟและบอนไซ
“ผมก็เลยอยากจะเอาความชอบสิ่งเล็ก ๆ นี้มาใช้ ซึ่งจากปกติที่เราปลูกพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก แต่ผมอยากเปลี่ยนสเกลของพันธุ์ไม้ขนาดเล็กให้กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็เลยใช้หลังคาเป็นตัวแยกหน้าที่กัน โดยเลือกใช้หลังคาใสเพื่อกันฝน ในขณะเดียวกันผมเชื่อว่าต้นไม้ชอบแดด ก็ใช้ต้นไม้ที่ชอบแดดมาสร้างเป็นร่มเงา เพราะฉะนั้นเราจะได้อาคารที่มีต้นไม้คลุมในส่วนของหลังคา
“แล้วก็จะทําให้ร่มเงาข้างใต้อาคารมีความร่มรื่นเหมือนกับที่อยู่ใต้ต้นไม้ เพื่อจะสร้างประสบการณ์ของคนที่มาใช้โครงการ อยากให้เขามีความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้บอนไซขนาดใหญ่ ก็เลยทําให้อาคารมีหน้าตาแปลกเป็นเหมือนบ้าน 2 ชั้น หันหลังมาชนกัน โดยที่ส่วนของร้านกาแฟ อยู่ในพื้นที่ด้านหน้าบ้านให้รับแขกได้ง่าย ในส่วนของบอนไซอยู่ตรงด้านหลัง แล้วก็มีห้องใต้หลังคา ทําให้ส่วนที่พักอาศัยมีความน่ารักอยู่พื้นที่ใต้หลังคา
“จากความชอบของเจ้าของที่ชอบปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก ผมทําให้สเกลของความชอบใหญ่ขึ้นด้วยการทําให้ต้นไม้คลุมอาคารและคนมองเห็นจากระยะไกลด้วย ทําให้เกิดความน่าสนใจ ในขณะเดียวกันผมก็พยายามทําให้อาคารรับแดด รับลมได้โดยธรรมชาติ
“ในส่วนของร้านกาแฟ ผมใช้ลักษณะของการโชว์โครงสร้าง เพราะอยากให้คนเห็นโครงสร้างการติดตั้งแบบเปลือย และเพื่อเปิดโอกาสให้แสงทํางานกับต้นไม้ที่เราเตรียมไว้ ให้เงามันตกมาที่พื้นข้างล่างได้ เพราะฉะนั้นการเปลือยโครงสร้างเลยจําเป็นสําหรับโปรเจกต์นี้ โดยใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่และสูงถักเข้าไป เพื่อทําให้ความร้อนตกถึงตัวคนน้อยและช้าลง”
ภาพ: Spaceshift Studio, room Books