Win-Win Situation ปรับดีไซน์ให้วินมอเตอร์ไซค์ แบบสร้างจริงใช้จริง! - room

Win-Win Situation ปรับดีไซน์ให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แบบสร้างจริงใช้จริง!

วินมอเตอร์ไซค์ พื้นที่กึ่งสาธารณะที่พบได้มากมายในกรุงเทพมหานครแห่งนี้ บ้างก็มีการจัดการที่ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วมักถูกก่อร่างขึ้นแบบตามมีตามเกิด วันนี้ ในวิชา Design Build ของหลักสูตร INDA Summer Programs คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ thingsmatter ได้ลงพื้นที่ ออกแบบวินมอเตอร์ไซค์ หน้าปากซอยเอกมัย 4 เพื่อเป็นตัวอย่าง และทดลองดีไซน์แบบใช้งานจริงไปพร้อมกัน!

เชื่อหรือไม่ว่า มีมอเตอร์ไซค์วินในกรุงเทพฯกว่า 5,000 คัน และพวกเขาเหล่านั้นล้วนใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนสถาปัตยกรรมที่ไร้การออกแบบควบคุม นิสิตจาก INDA จึงได้เริ่มสำรวจ และเลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แรกในการ “ทดลอง” สิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่การ “แก้ไข” หรือชี้ผิดถูกว่าอะไรคืองานออกแบบ หรือดีไซน์ที่ดี แต่แท้จริงแล้วคือการแยกส่วน และประกอบสิ่งสำคัญของการเป็น “วินมอเตอร์ไซค์ที่ดี” ลงไปในพื้นที่ใหม่เท่านั้น

พื้นที่ที่แตกต่าง กฏระเบียบ และลักษณะเฉพาะของกรุงเทพฯ ได้พาให้นิสิตจาก INDA ได้เผชิญความจริงอันยุ่งเหยิงของเมืองแห่งนี้ การต้องลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับกายภาพของเมือง ของสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้เป็นเหลี่ยมมุมตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นสิ่งที่เกาะเกยกันเกิดเป็นพื้นที่เฉพาะหนึ่งๆ การต้องสื่อสารกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เจ้าของพื้นที่ เจ้าหน้าที่เขต และแน่นอนที่สุด เหล่าเพื่อนบ้านในละแวก เพื่อตามหาซึ่งความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดร่วมกัน ก่อนจะก่อร่างวินมอเตอร์ไซค์แห่งนี้ขึ้นใหม่ จากเหล็ก ไม้ และผ้าใบกันฝน

ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นระบบที่นั่งซึ่งยื่นออกจากกำแพง ด้วยสีส้มสดใส เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่มากขึ้นแก่ผู้สัญจร ตลอดจนทำให้จัดการกับพื้นที่ได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น โครงสร้างใหม่นี้ เปลืองพื้นที่บนพื้นถนนน้อยลง นั่นแปลว่ากีดขวางการจราจรน้องลงไปเช่นกัน และเลือกที่จะทำให้สอดคล้องไปกับแนวเสาไฟที่มีอยู่เดิม จนเกิดเป็นที่นั่งและระบบจัดคิวที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเสาไฟฟ้าในแบบชั่วคราว เกิดเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะที่ ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่าง ผู้ใช้งาน เพื่อนบ้าน และนักออกแบบ

แม้อาจกล่าวไม่ได้เต็มปากนักว่านี่คือ “ดีไซน์ที่ดีที่สุด” แต่นี่คือดีไซน์ที่ดีกว่า ที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันในแบบ “วินวิน” และมากกว่านั้นคือประสบการณ์แก่นักออกแบบรุ่นเยาว์ที่จะได้ลงพื้นที่ เรียนรู้อุปสรรคในโลกจริง ต่อรองเจรจาเพื่อสร้างความเป็นไปได้ที่ดีกว่า และได้เห็นผลงานเหล่านั้นถูกใช้งาน อาจมีข้อดี และข้อตำหนิตามปกติของงานออกแบบโดยทั่วไป แต่ในวันนี้ แน่นอนว่า งานออกแบบที่เกิดขึ้น ได้เป็นตัวอย่างของความพยายามสร้างให้เมืองที่เราอยู่ร่วมกันนั้น “ดีขึ้น” อย่างแน่นอน

นิสิตจาก วิชา Design Build ของหลักสูตร INDA Summer Programs คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  Buabusba Amatyakul, Tanakorn Anongpornyoskul, Ploy Catalina Ploysongsang, Ramida Prasitpurepreecha, Chawanya Pridaphatrakun, Picha Riyasan, Apichaya Siriseth, Napat Tangvessakul, Pawin Thanatit, Chomdao Wongthawatchai, Pitchayapa Wongvitaya 

Instructor: thingsmatter

Steel Fabricator and Installer: Thaisathavorn Factory

Wood Fabricator: Vana Suwan Timber

Fabric Fabricators: G. Charoen PVC, Wabi Sabi Shop and Service 

ภาพปก thingsmatter

ภาพ และเนื้อหา Wuthikorn Sut