Dream House Thai Massage and Spa สะท้อนสัจวัสดุผ่านงานออกแบบสปา

Dream House Thai Massage and Spa สะท้อนสัจวัสดุผ่านงานออกแบบสปา

Dream House Thai Massage and spa ใช้แนวคิดการสร้างความเป็นส่วนตัวผ่านกำแพงอิฐ ออกแบบโดยใช้อิฐดินเผาสีส้มเป็นวัสดุหลัก อิฐเหล่านี้ถูกเลือกจากความหาง่ายและการผลิตที่มีจำนวนมากในประเทศไทย อีกทั้งยังมีสีสันเป็นเอกลักษณ์ ทนทาน และราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเป็นท้องถิ่นผ่านวัสดุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับงานออกแบบสปาในย่านสุขุมวิทแห่งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศสงบในท่ามกลางศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง

Dream House Thai Massage and spa

Dream House แบ่งพื้นที่อาคารออกเป็นสองโซนหลักตามแนวความคิดการใช้แสงสว่าง ได้แก่ โซนสว่าง (ล็อบบี้) หมายถึง โซนรับแสงธรรมชาติผ่านลวดลายอิฐต่างๆ และโซนที่มืด (ห้องนวด) ให้ความหมายถึงพื้นที่สำหรับความสงบและการผ่อนคลาย

ด้านหน้าของอาคารใช้โครงสร้างเหล็กที่ติดตั้งและถอดประกอบได้ง่าย โดยซ่อนเสาเหล็กไว้หลังแผ่นผนังอาคารเพื่อให้พื้นผิวอิฐที่ภายนอกมีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ การก่อสร้างยังเป็นการใช้กระบวนการแบบแห้ง (Dry process) เพื่อเร่งการก่อสร้างให้เร็วกว่า และสามารถถอดและนำชิ้นส่วนและวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ในอนาคต แนวคิดนี้ยังแสดงถึงการใช้วัสดุอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพ เมื่อวัสดุก่อสร้างถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้

Dream House Thai Massage and spa
Dream House Thai Massage and spa

เอกลักษณ์การออกแบบที่ด้านหน้าอาคารยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้ ขณะเดียวกันก็ยังเปิดรับแสงธรรมชาติผ่านการจัดเรียงลวดลายอิฐเป็นช่องตาราง การออกแบบนี้สร้างพื้นที่ให้แสงสามารถส่องเข้าสู่ภายในอาคารได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดสรรโซนต่าง ๆ ของสปา โดยรวมจึงทำให้งานออกแบบแห่งนี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและไม่ซ้ำใคร โดยสะท้อนบรรยากาศของสปาไทยผ่านวัสดุท้องถิ่น ด้วยการเน้นความเป็นสัจวัสดุประกอบกับการใช้องค์ประกอบแสงสว่าง ทำให้สปาแห่งนี้ทั้งสงบและโดดเด่นท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองกรุง

Dream House Thai Massage and spa


ออกแบบ: TASA NA
ภาพ: Rungkit Charoenwat.

YUNOMORI ONSEN & SPA SATHORN พลิกโฉมอพาร์ตเมนต์เก่าให้กลายเป็นสปาสะท้อนปรัชญา “วะบิ-ซะบิ”