บ้านอิฐ Nam House ที่ภายในเย็นสบายจากลมธรรมชาติ - room

Nam House บ้านอิฐเย็นสบาย ด้วยสเปซช่วยดึงลมธรรมชาติ

Nam House บ้านอิฐสี่เหลี่ยมในสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองโฮจิมินห์ ที่อยู่สบายด้วยการใช้วัสดุอิฐ เสริมด้วยสเปซช่วยดึงลมธรรมชาติ

บ้านอิฐชั้นเดียวบนพื้นที่ใช้สอย 180 ตารางเมตรหลังนี้ ได้รับการออกแบบโดย CTA (Creative Architects) สถาปนิกจากเวียดนาม เพื่อให้ตอบสนองต่อสภาพอากาศของเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะสูงกว่า 8 – 11 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับพื้นที่ชนบท นำมาสู่การออกแบบบ้านหลังนี้เพื่อรองรับกับสภาพอากาศดังกล่าวให้ผู้อาศัยได้อยู่สบาย และมีส่วนเชื่อมต่อกับบ้านของแม่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน มีแนวคิดหลัก คือ การเลือกอิฐดินเผามาเป็นวัสดุหลักที่ใช้เป็นกรอบอาคาร แล้วออกแบบผังให้ปรับตัวไปตามทิศทางของแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับอากาศร้อน

บ้านอิฐ
อิฐดินเผาซึ่งเป็นวัสดุหลักช่วยป้องกันและลดความร้อนที่จะเข้าสู่ภายในบ้าน
บ้านอิฐ
วางตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั่งเล่นให้สามารถผ่อนคลายจากวิวที่บ่อน้ำได้ ผ่านผนังกระจกที่เปิดออกได้สุดทำให้ใช้งานห้องอย่างโปร่งสบายคล้ายพื้นที่กลางแจ้ง

ก้อนอิฐดินเผาวางก่อเชื่อมต่อกันกลายเป็นบ้านอิฐที่มีพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 บล็อก ตรงกลางเป็นพื้นที่ส่วนรวมประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว โดยบล็อกกลางนี้มีการออกแบบผังให้เป็นโอเพ่นสเปซ มีช่องเปิดรับบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่นำพาอากาศเย็นสบายเข้ามาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วยให้มองเห็นบ้านของแม่ที่อยู่ติดกันด้วย

พื้นที่สีเขียวเป็นจุดพักสายตาและนำอากาศเย็นสบายเข้าสู่ห้องนั่งเล่น
บ้านอิฐ
บ้านอิฐ
ทางเข้าบ้านมีชายคายื่นออกมาบังแดดบริเวณบันไดเข้าสู่ตัวบ้าน

จากบล็อกกลางนี้ ได้มีการเชื่อมสเปซกับบล็อกอีกสองฝั่ง ได้แก่ บล็อกหน้าเป็นทางเข้าตัวบ้านตรงกลาง ประกอบด้วยปีกซ้ายแยกเป็นโรงจอดรถ มีห้องนอนและห้องอ่านหนังสืออยู่ในปีกขวา ซึ่งเพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยกำแพงหนา ส่วนบล็อกหลังเป็นพื้นที่ของห้องนอนอีก 2 ห้อง และห้องซักรีด

บ้านอิฐ
ห้องนั่งเล่นในลักษณะโอเพ่นแปลนสร้างความปลอดโปร่งและเย็นสบายจากบ่อน้ำ

จุดเด่นของบ้านอิฐ Nam House คือ โครงสร้างผนังอิฐหนา 250 มิลลิเมตรล้อมรอบอาคาร ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ช่วยกันความร้อนจากภายนอก โดยก่อผนังอิฐ 2 ชั้นให้มี 3 เลเยอร์เรียงจากด้านนอกสุดเข้ามา คือ ผนังอิฐเลเยอร์ด้านนอกป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์

ถัดมาเป็นช่องอากาศระหว่างผนังภายนอกและภายใน เป็นเหมือนฉนวนช่วยกันการถ่ายเทอุณหภูมิก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน สุดท้ายคือเลเยอร์ผนังอิฐด้านใน ที่ก็ยังใช้ประโยชน์จากรูของอิฐในการลดการถ่ายเทความร้อนเพิ่มเติมด้วย

บ้านอิฐ
ห้องนอนเปิดรับอากาศเย็นสบายจากบ่อน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน ขณะเดียวกัน ยังมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกด้วยหน้าต่างบานที่สามารถมองเห็นกันได้
บ้านอิฐ

นอกจากนั้น ได้มีการใช้เทคนิคก่อสร้างวางองศาของอิฐด้านนอกสุดให้ช่วยบังแดด ร่วมกับการวางตำแหน่งช่องเปิดแต่ละตำแหน่งช่วยดึงลมเย็นเข้ามา เช่น มีช่องเปิดที่อยู่สูงกว่าใช้ในการระบายลมร้อนจากเบื้องล่าง ระบบนี้สอดประสานกับตำแหน่งของห้องต่าง ๆ ของบ้านและกิจกรรมของคนที่ถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับการขึ้น-ตกของพระอาทิตย์ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายในช่วงเวลาที่ไม่ร้อนเกินไปในแต่ละวัน

บ้านอิฐ
บ้านอิฐ

เทคนิคการก่อสร้างผสานกับการออกแบบแปลนให้สอดรับกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตแสนสบาย คือจุดเด่นของบ้านอิฐ Nam House ที่ผู้ออกแบบตั้งใจสื่อสารกับผู้อยู่อาศัย และต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นตัวแทนของงานออกแบบที่สามารถยืดหยุ่นและปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคจึงถูกหยิบมาใช้ในการก้าวข้ามขีดจำกัดดังกล่าวได้อย่างแยบยล

ออกแบบสถาปัตยกรรม: CTA (Creative Architects)
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Phúc Garden
ภาพ: Hiroyuki Oki
เรียบเรียง: Kangsadan K.


อ่านเพิ่มเติม PHU YEN HOUSE บ้านชั้นเดียว บรรยากาศแสนสบายกลางชนบทเวียดนาม