เมื่อสถาปัตยกรรมขอทำหน้าที่ชักชวนให้ผู้อยู่อาศัยอยากสัมผัสกับธรรมชาติและภูมิอากาศของเชียงใหม่ นี่คือผลลัพธ์ของบ้านที่มีสายลมพัดโชย แสงแดดรำไร และเรื่องราวของกาลเวลา อันเป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน ที่ได้รับการออกแบบโดย Out & About Architects
ผู้ออกแบบเริ่มต้นจากคำถามว่า ทำไมบ้านปัจจุบันต้องอยู่อาศัยเพียงในห้องปรับอากาศสี่เหลี่ยม ย้อนกลับไปยังภาพจำในวัยเยาว์ มิติของคำว่าบ้านมีความหลากหลายมากกว่านั้น เพราะเต็มไปด้วยโมเมนต์ของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในบ้านที่สร้างให้เกิดความปิติและผูกพัน พร้อมบรรยากาศที่เปลี่ยนไปตามเวลา และสิ่งสำคัญคือภูมิอากาศแสนสบายแบบเชียงใหม่ นั่นจึงทำให้บ้านหลังนี้ ผู้ออกแบบตั้งใจที่จะสร้างบรรยากาศดีให้เกิดขึ้น เพื่อชักชวนให้ผู้อยู่อาศัยอยากเปิดหน้าต่างบานใหญ่ออกไปรับสายลมและแสงแดดดรำไร ให้บ่อยขึ้นเท่าที่จะทำได้
#ผนังที่ไม่ทึบ
บ้านหลังนี้โดดเด่นด้วยหลังคาสูงแต่ไม่สูงชะลูดจนเกินไป พร้อมการยกพื้นขึ้นมาเล็กน้อยให้สามารถนั่งเล่นได้ แม้จะมีความเป็นส่วนตัวแต่ยังมองเห็นกันและกันได้ผ่านการจัดการพื้นที่ ด้วยการออกแบบโถงทางเดินให้เชื่อมถึงกัน และแบ่งพื้นที่ของบ้านหลังนี้เป็นปีกพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรับแขก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการดูแลจัดการและทำความสะอาดได้ง่าย และยังช่วยจำกัดการเข้าถึงของแขกที่มาเยือน ด้วยการออกแบบห้องรับแขกไว้ที่ด้านหน้าของบ้าน มีบานเปิดที่สามารถมองเห็นจากหน้าบ้านสู่สวนด้านหลังได้สะดวก
ยกพื้นที่เป็นทั้งพื้นที่นั่งเล่น และทางสัญจรหลักของบ้าน กั้นด้วยแนวผนังบล็อกช่องลม เพื่อทำหน้าที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังพรางสายตาไม่ให้มองเห็นพื้นที่ห้องนอน และพื้นที่ส่วนตัวอื่น ๆ แต่บานเปิดและบล็อกช่องลม ก็โปร่งเพียงพอที่จะให้อากาศและลมไหลเวียนเข้ามายังพื้นที่ภายในตัวบ้านได้สะดวก เปิดโอกาสให้การอยู่อาศัยในบ้านมีการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น
พื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวมาจะถูกปกคลุมด้วยผืนหลังคาจั่วต่อเนื่อง ลอยตัวสูงคลุมทุกพื้นที่ด้วยหลังคายื่นยาวคุ้มแดดคุ้มฝนได้อย่างดี การออกแบบในส่วนนี้ตั้งใจสร้างให้หลังคานั้นเกิดเป็นเพดานสูงภายใน นำพาอากาศร้อนให้พ้นจากพื้นที่อยู่อาศัย ปล่อยให้พื้นที่ด้านล่างยังคงเป็นภาวะสบาย แต่หากทำเป็นหลังคาผืนเดียว รูปฟอร์มของอาคารจะดูใหญ่โตจนเกินไป ทั้งยังรบกวนเพื่อนบ้าน หลังคาจั่วที่ต่อเนื่องกันเช่นนี้ ยังดูอ่อนน้อม ให้ความรู้สึกเป็นมิตรแก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
#วัสดุทั่วไปแต่ดีไซน์ให้ลงตัว
นอกจากความตั้งใจในการใช้วัสดุต่าง ๆ ของบ้านหลังนี้ ให้ลงตัว ไม่มีเศษเหลือทิ้ง การใช้วัสดุเช่นนี้ยังเอื้อให้งานออกแบบสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย ผู้ออกแบบได้ศึกษาถึงความชำนาญของช่างในพื้นที่เพื่อเลือกวัสดุที่ช่างสามารถทำงานได้ดีที่สุด ผลพลอยได้คือการที่ค่าก่อสร้าง และค่าวัสดุจะสมเหตุสมผลมากขึ้น
การใช้งานที่ไร้เศษเหลือจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในทางอ้อม กล่าวคือการไม่สร้างขยะจากงานก่อสร้าง และการผลิตวัสดุที่ถูกจัดสรรเพื่อประโยชน์ในหมู่มาก ไม่ใช่การผลิตเพื่อความงาม หรือการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ งานตกแต่งของบ้านหลังนี้ จึงเกิดขึ้นในทางที่ใช้วัสดุตามการใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเสาเหล็กกลม กระเบื้อง บล็อกช่องลม บล็อกปูพื้น หรือแม้แต่การใช้เทคนิคปูนฉาบเท็กซ์เจอร์บนผนังที่รับแสงแดด
#จังหวะที่สร้างความอบอุ่นใจ
สังเกตได้ว่าในบ้านหลังนี้จะมีพื้นที่เฉลียง ระเบียง ชาน ซ้อนทับรับกันในหลากหลายมุม จากห้องนอนจะมีโฟเยอร์เล็ก ๆ ก่อนออกมายังพื้นที่สัญจร รายละเอียดของการออกแบบเหล่านี้จะช่วยสร้างให้แต่ละห้องรู้สึกเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างสภาวะน่าสบายให้แก่แต่ละห้อง โดยโฟเยอร์นี้จะช่วยสร้างร่มเงา ให้แสงแดดไม่สาดเข้าสู่ห้องโดยตรงนั่นเอง
#บ้านที่เป็นธรรมชาติ
บ้านหลังนี้ คือบ้านที่ตั้งใจสร้างพื้นที่ “อยู่อาศัย” ให้แก่เจ้าของบ้านในการมองไปในระยะเวลาอันยาวนาน การใช้ชีวิตในมุมต่าง ๆ ของบ้าน การเปลี่ยนบรรยากาศ ช่วงเวลาที่แตกต่าง การใช้งานในแต่ละสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้คือ “ธรรมชาติของการใช้ชีวิต” เมื่อองค์ประกอบความคิดทั้งหมดนั้นได้ค่อย ๆ ก่อร่างขึ้น ผู้ออกแบบได้กล่าวว่ามีบางช่วงเวลาที่ต้องทบทวนแบบก่อนจะเริ่มก่อสร้างจริง เพราะส่วนหนึ่งนั้นจะมีสักกี่ครั้งที่ครอบครัวหนึ่งจะได้สร้างบ้านหลังใหม่ ไม่ใช่แค่ 10 ปี แต่บ้านหลังนี้อาจอยู่ไปถึง 30 ปี หรือ 50 ปี ตลอดชีวิตของเขา การออกแบบที่มองไปถึงกิจวัตรของผู้อยู่จึงเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งเหล่านี้จึงสร้างให้บ้าน ผู้อยู่อาศัย และธรรมชาติ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด สมชื่อบ้าน “Flow House”
ออกแบบ: Out & About Architects
Styling: Out & About Decor
Site Architect: Pakkaphong Nawasit
Bim Assistant: WE DWG.
Contractor: Nava Construction & Design Co.,Ltd
ภาพ: SkyGround architectural film & photography
เรื่อง: Wuthikorn Sut