MN HOUSE บ้านมินิมัล สีขาว เปรียบการใช้ชีวิตในบ้านดั่งงานศิลป์ - room

MN HOUSE บ้านมินิมัล สีขาวราวผืนผ้าใบ เปรียบการใช้ชีวิตในบ้านดั่งงานศิลป์

แนวคิดการออกแบบ บ้านมินิมัล ให้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา หลังนี้ เกิดจากการเปรียบเทียบภาพชีวิตเป็นดั่งศิลปะ ด้วยการเชื่อมโยงศิลปะกับการใช้ชีวิตประจำวันผ่านสถาปัตยกรรมสีขาว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ:  สถา ณ – SaTa Na

บ้านหลังนี้ จึงเสมือนกำลังห่อหุ้มด้วยผืนผ้าแคนวาส ซ่อนความสงบไว้ด้านในท่ามกลางบริบทเมืองกรุงเทพฯ ที่พลุกพล่าน โดย สถา ณ – SaTa Na ตั้งใจสร้างสเปซเพื่อขับเน้นประสบการณ์การใช้งานในแต่ละพื้นที่ของบ้านให้เกิดความรู้สึกราวกับอยู่ในแกลเลอรี่อย่างไรอย่างนั้น

บ้านสีขาวที่ดูเรียบง่ายตั้งอยู่ในบริบทชุมชนที่พลุกพล่าน
รูปทรงตัวอาคารหลักๆของบ้านมีช่องเปิดโค้งเว้าช่วยนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน สร้างมิติของแสงที่มีเอกลักษณ์

จุดเด่นของบ้าน คือการออกแบบแสงในบ้านนี้มุ่งเน้นให้สร้างประสบการณ์ที่เหมือนกับการอยู่ในแกลเลอรี่ศิลปะ โดยรูปร่างของตัวอาคารได้รับแรงบันดาลใจจากโค้งของกระดาษพับครึ่ง ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน นอกจากนี้ ผนังโค้งยังจะช่วยกระจายแสงออกไปได้มากขึ้น สร้างมิติของแสงที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากผนังแบนแบบดั้งเดิม และความโค้งก็ยังจะช่วยให้ผนังสีขาวดูละเอียดอ่อนและอบอุ่นมากขึ้น

พื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องทำงาน การออกแบบนี้ทำให้ห้องต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์คนในครอบครัว
พื้นที่ห้องนั่งเล่นได้รับการออกแบบให้รับแสงธรรมชาติเต็มที่จากช่องเปิดขนาดใหญ่
แสงสว่างจากด้านบนส่องเข้ามาผ่านช่องแสงบนหลังคา กระทบผนังและกระจายเข้าสู่ภายใน ทำให้ดูเหมือน “กล่องขาว” ในแกลเลอรี่ศิลปะ

พื้นที่ห้องนั่งเล่นได้รับการออกแบบให้รับแสงธรรมชาติผ่านช่องเปิดขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งของห้องนั่งเล่นหันไปทางบ้านข้างเคียง จึงมีผนังชั้นสองบังทัศนวิสัยข้างเคียงเพื่อความเป็นส่วนตัว โดยกำหนดให้มีแสงสว่างจากด้านบนส่องเข้ามาผ่านช่องแสงบนหลังคา เมื่อแสงจากด้านบนกระทบผนังและกระจายเข้าสู่ภายในจะทำให้ภายในห้องดูเหมือน “กล่องขาว” ในแกลเลอรี่ศิลปะ

บนชั้น 2 มีพื้นที่ลานภายในพร้อมสระว่ายน้ำ เป็นที่ที่ครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากที่สุด ลานนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านที่เปิดโล่งทะลุให้คอร์ตยาร์ดกลางแจ้งในใจกลาง เชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร และห้องทำงาน วิธีการออกแบบเช่นนี้ทำให้ห้องต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านการมองทะลุถึงกัน แม้จะอยู่จากชั้นที่ 3 ก็ยังสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้

ช่องเปิดโปร่งช่วยให้แสงธรรมชาติส่องถึงพื้นที่ต่าง ๆ ของชั้น 2 เป็นส่วนสระว่ายน้ำเพิ่มประสบการณ์การอยู่อาศัยด้วยเสียงน้ำ แสงแดด และลมที่พัดผ่านในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด

ลานภายในช่วยให้แสงธรรมชาติส่องถึงพื้นที่ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สระว่ายน้ำเพิ่มประสบการณ์การอยู่อาศัยด้วยเสียงน้ำ แสงแดด และลมที่พัดผ่านสร้างบรรยากาศที่โปร่งกว้างขวางแม้ในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด

ช่องแสงต่างๆ ภายในบ้านที่ถูกออกแบบมาจากรูปทรงโค้งเว้า

ในเชิงการออกแบบสเปซ ทุกมุมของบ้านได้รับการออกแบบให้เป็น “ฉากต่อฉาก” ผ่านแสงและเส้นสาย สร้างความรู้สึกที่แตกต่างในทุกมุมเหมือนกับนำกรอบภาพมาเรียงร้อยต่อกัน เส้นโค้งถูกนำมาประยุกต์ใช้กับผนังและเพดาน สร้างความกลมกลืนและความเป็นหนึ่งเดียวให้พื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งเส้นสายที่คดโค้งก็เป็นเทคนิคหลักที่ปรากฏในองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ จนถึงสไตล์ของการตกแต่งภายในด้วย

เมื่อเข้ามาจะเจอกับอาคารจอดรถที่ใช้บล็อกแก้วเป็นวัสดุ ให้ความรู้โปร่งโล่งก่อนเข้าไปในพื้นที่ภายในบ้าน

ทุกพื้นที่ในบ้านถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งให้บ้านหลังนี้ไม่ใช่เพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นสถานที่ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความชอบ และประสบการณ์ผ่านการออกแบบที่ใช้สเปซแบบแกลเลอรี่ศิลปะให้เป็นตัวแทนของสถานที่แห่งความสงบ ใช้ผนังสีขาวแข็งแรงสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านในท่ามกลางบริบทเมืองกรุงเทพฯ ที่ยุ่งเหยิง เป็นการออกแบบที่ทั้งคำนึงถึงบริบท ฟังก์ชั่นการใช้งาน และพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย พร้อม ๆ กับสร้างบรรยากาศที่คล้ายกับแกลเลอรี่ศิลปะที่สงบและมีชีวิตชีวาในเวลาเดียวกัน

ออกแบบ: สถา ณ – SaTa Na
ภาพ: Rungkit Charoenwat
เรียบเรียง: Lily J.


Lasalle House ออกแบบบ้านแคบให้น่าอยู่ เรียบง่าย สไตล์โมเดิร์น