NORIKO ร้านผ้าไทย ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวัสดุตกแต่งสุดคราฟต์ - room

NORIKO ร้านผ้าไทย สานต่อความตั้งใจของคุณยายช่างตัดเย็บเสื้อชาวญี่ปุ่น

NORIKO ร้านผ้าไทย แห่งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการสานต่อความตั้งใจอยากถ่ายทอดเอกลักษณ์ผ้าทออีสานอันเปี่ยมด้วยความละเมียดละไม โดยได้รับการส่งต่อสู่งานออกแบบร้านสุดคราฟต์ ไม่ต่างไปจากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าแต่ละชุด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Southson Design

แม้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ NORIKO ร้านผ้าไทย จะเป็นผ้าทออีสาน แต่สตูดิโอออกแบบจากหาดใหญ่อย่าง Southson Design กลับสามารถสานต่อเรื่องราวความคราฟต์ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยการนำวิธีการทอผ้าแบบต่าง ๆ มาร้อยเรียงเรื่องราวกลายเป็นคอนเซ็ปต์ที่ใช้ในการรีโนเวต เปลี่ยนอาคารย่านสุขุมวิทให้กลายเป็นร้านผ้าไทยได้อย่างโดดเด่น

ใช้อิฐบล็อกเพื่อยกสเต็ปบันไดให้สูงกว่าถนน 90 เซนติเมตร ลวดลายและสีที่ไม่เท่ากันของอิฐแต่ละก้อน สื่อถึงความเป็นธรรมชาติและความอบอุ่น
โถงต้อนรับที่เน้นตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว โดดเด่นด้วยโต๊ะไม้ทรงกลมจากไม้ท่อนเดียวเปรียบเสมือนงานประติมากรรม ด้านบนทำฝ้าหลุมลักษณะวงรีซ่อนไฟ

โดยผู้ออกแบบต้องการเล่าความคิดลึกซึ้งของงานหัตถศิลป์ หรือ Craftmanship ให้เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ผ่านวิถีชีวิตที่ใกล้ตัว พวกเขานึกถึงภาพการทอผ้าใต้ถุนบ้านของคนไทย ไม่เพียงแต่เป็นภาพที่พบเห็นทั่วไปในชนบทที่แต่ละบ้านต่างผลิตผ้าไว้ใช้เอง เหนือกว่านั้นภูมิปัญญานี้ ยังได้รับการถ่ายทอดความรู้และสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือชุมชนอีกด้วย

นำอิฐช่องลมสั่งทำพิเศษรูปตัว N มาตกแต่งที่ฟาซาด เพื่อสื่อถึงชื่อแบรนด์ Noriko ความโค้งของตัวอิฐจะช่วยลดทอนรูปทรงอาคารเดิมที่มีความเหลี่ยมมุม
อิฐยังเป็นตัวแทนสื่อถึงงานผ้าอีสาน และเรื่องราววิถีชีวิตการทอผ้าที่ผู้ออกแบบต้องการสื่อสารให้ล้อไปด้วยกัน

ภาพการทอผ้าใต้ถุนบ้านที่สถาปนิกต้องการสื่อสารผ่านงานออกแบบ คือการใช้กี่ทอผ้า (เครื่องมือที่ใช้ทอผ้า) ในพื้นที่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีอากาศถ่ายเทสะดวก และกว้างขวาง โดยผู้ทอมักเป็นสมาชิกหญิงในครอบครัวที่มีฝีมือการทอผ้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหม หรือผ้าทอลายต่าง ๆ ที่มีขั้นตอนละเอียดอ่อน ตั้งแต่เตรียมวัสดุ การตั้งกี่ทอผ้า การทอผ้า การย้อมสี ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนช่วยให้เห็นถึงองค์ประกอบที่น่าสนใจว่า กว่าผ้าหนึ่งผืนจะสำเร็จออกมา จนนำมาใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงนำมาสู่แนวคิดการผสมผสานเรื่องราวเหล่านี้เข้ากับการเลือกวัสดุที่ใช้ในการออกแบบภายในร้านให้แต่ละส่วนออกมาน่าสนใจ

ตกแต่งด้วยแผ่นไม้สีดำลายก้างปลา เพิ่มความคอนทราสต์ให้พื้นที่ดูมีมิติ ตัดกับวัสดุเอิร์ธโทน

เริ่มตั้งแต่หน้าทางเข้าร้าน ภาพที่ลูกค้าจะได้เห็นเป็นสิ่งแรกต้องดูน่าเชื้อเชิญ ไม่แย่งซีน หรือตัดกับสีผ้าไทยที่มีลวดลายหลากหลายทั้งสีเขียว สีม่วง สีแดง ด้วยการเลือกใช้อิฐบล็อกเพื่อยกสเต็ปบันไดให้สูงกว่าถนน 90 เซนติเมตร ลวดลายและสีที่ไม่เท่ากันของอิฐแต่ละก้อน สื่อถึงความเป็นธรรมชาติและความอบอุ่น ส่วนอิฐฟาซาดด้านบน เลือกใช้อิฐช่องลมสั่งทำพิเศษเป็นรูปตัวเอ็น (N) เพื่อสื่อถึงชื่อแบรนด์ Noriko ความโค้งของตัวอิฐจะช่วยลดทอนรูปทรงอาคารเดิมที่มีความเหลี่ยมมุม และยังช่วยเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กน้อย เพื่อให้ร้านมีบรรยากาศที่น่าต้อนรับและอบอุ่น โดยอิฐยังเป็นตัวแทนสื่อถึงงานผ้าอีสาน และเรื่องราววิถีชีวิตการทอผ้าที่ผู้ออกแบบต้องการสื่อสารให้ล้อไปด้วยกัน

เมื่อเข้ามาถึงภายในร้าน จะเจอกับโถงต้อนรับที่เน้นตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว โดดเด่นด้วยโต๊ะไม้ทรงกลมจากไม้ท่อนเดียวเปรียบเสมือนงานประติมากรรม ด้านบนทำฝ้าหลุมลักษณะวงรีซ่อนไฟ ช่วยเพิ่มมิติความอ่อนโยนและเสน่ห์ให้กับพื้นที่ อีกทั้งยังทำหน้าที่ต้อนรับและสร้างความสมดุล ช่วยเบรกจังหวะของเส้นตรงที่เกิดจากราวแขวนผ้า ก่อนแจกพื้นที่ซ้าย-ขวา สู่พื้นที่การเลือกซื้อเสื้อผ้า เน้นออกแบบพื้นที่อย่างเรียบง่าย เพื่อให้เสื้อผ้าเป็นตัวชูโรง และช่วยให้ลูกค้าเดินเลือกสินค้าได้สะดวก

เพิ่มผนังโค้งจากอิฐรูปตัวเอ็น ลักษณะเดียวกันกับฟาซาดด้านหน้า เพื่อให้ความรู้สึกเชื่อมโยงจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน เป็นการเรียงแพตเทิร์นอิฐแนวตั้งและแนวนอนผสานกัน ลูกเล่นบนผนัง หรือ Feature Wall เน้นโชว์เสื้อผ้าคอลเล็กชันพิเศษดูโดดเด่น เสาเดิมภายในร้านยังตกแต่งด้วยแผ่นไม้สีดำลายก้างปลา เพิ่มความคอนทราสต์ให้พื้นที่ดูมีมิติ ตัดกับวัสดุเอิร์ธโทน ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความทันสมัยกับความอบอุ่นจากธรรมชาติ

ชั้น 2 ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเล้านจ์ เพิ่มความพิเศษและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
เฟอร์นิเจอร์เลือกใช้แบบลอยตัวรูปทรงออร์แกนิก เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลายทั้งความรู้สึกและบรรยากาศที่ไม่เร่งรีบระหว่างเลือกและลองเสื้อผ้า

ชั้น 2 ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเล้านจ์ เพิ่มความพิเศษและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้ลูกค้า โดยมีหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการตัดเสื้อผ้าที่มีความเฉพาะ รวมถึงเป็นโซนผ้าไทยที่มีราคาสูงกว่าชั้นแรก การออกแบบชั้นนี้จึงมีสเปซที่โปร่งโล่ง เน้นให้มีห้องลองเสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่สามารถหมุนตัวได้รอบ โดยที่ผ้าจะไม่ชนกับผนัง โดยยังคงเลือกใช้วัสดุอย่าง อิฐ ที่มีลักษณะเดียวกับชั้นล่าง สำหรับเป็นฉากกั้นเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เลือกใช้แบบลอยตัวรูปทรงออร์แกนิก เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลายทั้งความรู้สึกและบรรยากาศที่ไม่เร่งรีบระหว่างเลือกและลองเสื้อผ้า

มีห้องลองเสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่สามารถหมุนตัวได้รอบ โดยที่ผ้าจะไม่ชนกับผนัง

Noriko จึงเป็นพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวการสานต่อความตั้งใจของคุณยายช่างตัดเย็บเสื้อผ้าชาวญี่ปุ่น ด้วยการผสมผสานเรื่องราวการทอผ้า และเอกลักษณ์ผ้าไทยอีสานที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไม ผ่านการรีโนเวตอาคารเก่าย่านสุขุมวิทให้กลายเป็นร้านที่โดดเด่นและมีความอบอุ่นด้วยวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอิฐ และไม้ ช่วยให้ภายในมีความเรียบง่ายแต่มีมิติ เน้นสร้างประสบการณ์การเลือกเสื้อผ้าอย่างผ่อนคลาย สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างความดั้งเดิมกับความทันสมัย ไปพร้อม ๆ กับการเล่าคุณค่าของงานหัตถศิลป์ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับงานออกแบบร้านทุกมิติได้อย่างแยบยล

ที่ตั้ง
6/1 ซอยพร้อมศรี 1 สุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
พิกัด https://maps.app.goo.gl/1vSjUguvpWJeoy1Q7
โทร. 08-1359-2021

ออกแบบ: Southson Design

เรื่อง: Lily J.
ภาพ: Tanaboon.g – Gonkwood


GOM CAFE คาเฟ่หาดใหญ่ ปรับลุคให้เท่จาก บล็อกตัวหนอน