อินดัสเทรียลลอฟต์ แต่งบ้านสไตล์ดิบเท่ นิ่ง และเรียบง่าย - room
อินดัสเทรียลลอฟต์

[DAILY IDEA] แต่งบ้านสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ ดิบเท่ นิ่ง และเรียบง่าย

อินดัสเทรียลลอฟต์ มีที่มาอย่างไร?

ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน Lofty เป็นคำจำกัดความของที่อยู่อาศัยของเหล่าศิลปินและนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ เห็นได้ชัดในเมืองใหญ่ๆอย่างย่านบรู๊กลินหรือโซโห สหรัฐอเมริกา ย่าน Shoreditch ในลอนดอน อังกฤษ และเมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการขยายตัวของโรงงานต่างๆออกไปตั้งย่านชานเมือง โรงงานเก่าที่เคยอยู่ในเมืองจึงถูกทิ้งร้าง ศิลปินและนักออกแบบจึงมองเห็นช่องทางในการดัดแปลงเป็นทั้งสตูดิโอศิลปะส่วนตัวและที่อยู่อาศัยในราคาประหยัด

อินดัสเทรียลลอฟต์ ร้าน Machine Age Workshop
มุมทำงานเล็กๆ ที่กรุผนังอิฐใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ดูไม่เนี้ยบ (ร้าน Machine Age Workshop ซอยเอกมัย 15)
ร้าน Casa Lapin ซอยอารีย์ อินดัสเทรียลลอฟต์
หน้าต่างและประตูโครงเหล็กทำสี กับกระจกบานสูง แบบเต็มพื้นที่ เป็นอีกจุดเด่นของสไตล์นี้ (ร้าน Casa Lapin ซอยอารีย์)

ในบ้านเรากระแสการตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลเป็นที่นิยมในช่วง 2 ปีมานี้ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจคุ้นหูกับคำว่า “ลอฟต์” มากกว่า เพราะเป็นกระแสฮิตที่ไม่ว่าบ้านไหนก็ต้องหาทางฉาบปูนเปลือยให้สวยกันอยู่พักใหญ่ แม้ทั้งลอฟต์และอินดัสเทรียลจะมีส่วนคล้ายกันในเรื่องการใช้งานสถาปัตยกรรมให้เป็นประโยชน์ แต่ก็มีความต่างในรายละเอียดบางอย่าง สไตล์อินดัสเทรียลต้องมีโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่เก็บไว้ในรูปแบบเดิม เช่น โกดังเก่า หรืออาคารที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีการตกแต่งเลียนแบบโรงงานเก่า ใช้วัสดุขึ้นสนิมที่ดูผ่านกาลเวลามานาน และเฟอร์นิเจอร์ที่ย้อนยุคไปช่วงปี 1950 ซึ่งถือเป็นการตกแต่งที่ทันสมัย และเก๋ที่สุดในยุคนั้น ให้ความรู้สึกขัดแย้งกับความเก่าของตัวอาคาร ส่วนสไตล์ลอฟต์ต้องมีฝ้าเพดานสูง ดูเท่ นิ่ง และเรียบง่าย มีรายละเอียดการตกแต่งของสไตล์โมเดิร์นมาประกอบมากกว่า

ร้าน SMITH สุขุมวิท 49 อินดัสเทรียลลอฟต์
ออกแบบฝ้าเพดานให้สูงและเปิดโล่ง ผนังโครงเหล็กกรุกระจก เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีไม้เป็นส่วนประกอบ รวมถึงงานเหล็กที่ดูแข็งแรง (ร้าน SMITH สุขุมวิท 49)

คาน วัสดุเปลือย และเพดานสูง

หากชื่นชอบการตกแต่งสไตล์นี้ ต้องมีใจรักในงานโครงสร้างงานสถาปัตยกรรมด้วย เพราะต้องโชว์ฝ้าเพดานเปลือย เพื่อให้เห็นท่อเหล็กร้อยสายไฟ ท่อแอร์ ท่อน้ำเหล็ก ระบบงานฝ้าทุกอย่างที่เคยซ่อนไว้ รวมถึงโครงสร้างอาคาร ส่วนผนังฉาบเรียบลืมไปได้เลย ผนังสไตล์นี้ใช้อิฐโชว์แนวและไม่ทำสี หรือบางทีถ้าเป็นผนังทึบเดิมก็กะเทาะปูนออกให้เห็นอิฐโครงสร้างด้านในให้ดูเหมือนว่ายังฉาบไม่เสร็จดี และใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นหลัก หรือใช้ชั้นเหล็กสูงวางของและกั้นพื้นที่ในตัว พื้นก็เลียนแบบพื้นในโรงงานอุตสาหกรรม มีทั้งพื้นคอนกรีต พื้นไม้ที่มีร่องรอย และพื้นไม้ที่ไม่เคลือบเงา ดูด้านๆผ่านกาลเวลา

อินดัสเทรียลลอฟต์ ห้องนั่งเล่นสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์
ห้องนั่งเล่นเปิดโล่ง โชว์ให้เห็นแนวคานของบ้าน ออกแบบกระจกบานสูงโครงเหล็กทำสีดำ ให้อารมณ์เหมือนที่ใช้ในโรงงาน ผนังด้านหนึ่งกรุอิฐโชว์แนว และออกแบบชั้นวางเหล็กทำสีดำสูงเต็มผนังโชว์การจัดเก็บของใช้ที่ดูสวยและเรียบง่าย (บ้านคุณประเสริฐ ชัยสิทธิฤกษ์กุล และคุณภุมมรี บวรวิวุฒิ)

 

ห้องครัว อินดัสเทรียลลอฟต์
ห้องครัวโชว์แนวคานไม้ของบ้าน เมื่อนำวัสดุหรูอย่างหินอ่อนมาใช้ร่วมกับโครงสร้างที่ดูดิบอย่างผนังอิฐที่โชว์ท่อร้อยสายไฟ ทำให้ห้องดูอบอุ่น แต่ก็เท่ในตัว (บ้านคุณประเสริฐ ชัยสิทธิฤกษ์กุล และคุณภุมมรี บวรวิวุฒิ)

 

อ่านต่อ : SPACE WITH DESIGN AND FUNCTION สบายกาย สบายใจ

 

ไม้ เหล็ก กระจก ปูน และอิฐ

5 วัสดุนี้นิยมนำมาใช้ตกแต่งให้มีกลิ่นอายของสไตล์นี้ และทั้งหมดต้องดูไม่สมบูรณ์แบบ เช่น ไม้ธรรมชาติที่มีร่องร่อยตาไม้หรือไม้กะเทาะไม่เคลือบผิวใดๆ เหล็กที่ทำปฏิกิริยากับอากาศจนเกิดสนิม ท่อเหล็กทั้งแบบสีเทาและท่อทองแดงที่ใช้กับท่อน้ำร้อน ปูนเปลือย ผนังอิฐสีส้ม และผนังกรุกระจก โทนสีที่ได้จากสไตล์นี้เป็นสีจากธรรมชาติ เช่น สีน้ำตาลไล่เฉดตั้งแต่อ่อนจนถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำ เทา ส้มอิฐ และทองแดง ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่น เรียบง่าย แต่ก็ดูเท่ด้วย

อินดัสเทรียลลอฟต์

ร้าน Casa Lapin x26 สุขุมวิท 26 อินดัสเทรียลลอฟต์
ตีโครงเหล็กเส้นสีเทาทำเป็นผนังปลูกต้นไม้แนวตั้ง ช่วยเติมบรรยากาศความสดชื่น(ร้าน Casa Lapin x26 สุขุมวิท 26)

เก่าและเก๋า 

จุดกำเนิดของสไตล์นี้เกิดจากพื้นที่กว้างและดูมืดหน่อย เมื่อนำมาปรับใช้กับบ้าน อารมณ์ที่ออกมาจึงต้องดูไม่ต่างกันนัก มีการกำหนดให้แสงจากภายนอกเข้ามาได้บ้าง เพื่อให้เฟอร์นิเจอร์และของใช้โทนสีขรึมดูมีมิติและน่ามองแบบภาพศิลปะ ประกอบกับการใช้แสงที่ได้จากโคมไฟเฉพาะจุดทั้งแบบตั้งโต๊ะและตั้งพื้น ก็ทำให้ห้องดูนุ่มนวลและอบอุ่นขึ้นด้วย เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กับสไตล์นี้มักมาจากยุค 1950 และเฟอร์นิเจอร์สไตล์โรงงาน ซึ่งดูสวยด้วยวัสดุและรูปทรง มีเส้นสายเรียบนิ่ง และไม่หวานเลี่ยน

มุมนั่งเล่นสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ อินดัสเทรียลลอฟต์
เติมเสน่ห์ให้มุมนั่งเล่นด้วยการเลือกใช้วัสดุหลากหลายแต่เข้ากัน อย่างผนังปูนดิบๆ ที่ช่วยเน้นให้โซฟาหนังดูโดดเด่น หรือพื้นปูนเปลือยที่เข้ากันกับเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบอินดัสเทรียล โดยมีประตูเหล็กทำสีดำกรุกระจกใสเพื่อเปิดรับแสงสว่างจากภายนอก ทำให้ห้องสว่างและโปร่ง

 

อ่านต่อ : MY DESTINY รสนิยมกับพรหมลิขิต

 

ร้าน Oneday Wallflowers สุขุมวิท 26 อินดัสเทรียลลอฟต์
มุมนั่งเล่นเล็กๆ ที่วางเฟอร์นิเจอร์ขาเหล็กผสมกับชุดเก้าอี้ไม้ผิวด้านกลิ่นอายวินเทจช่วยลดความดิบ กรอบหน้าต่างเหล็ก กรุกระจกแบบติดตาย โดยแบ่งเป็นช่องๆให้อารมณ์ของโรงงานได้ดี (ร้าน Oneday Wallflowers สุขุมวิท 26)

เรื่องโดย : อัจฉรา จีนคร้าม
ภาพโดย : คลังภาพบ้านและสวนและนิตยสาร room
รวบรวมโดย : Parichat k.