Reference ที่มา : http://travel.mthai.com/blog/144578.html
“…ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดา และบริเวณสวนจิตรลดาที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้เต็มปากว่าในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ ด้วยพระองค์เอง…”
ประโยคข้างต้นเป็นคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา
ที่กล่าวในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ฉายภาพพระตำหนักจิตรลดา
พระราชวังของในหลวงได้อย่างชัดเจน
เนื่องจากภายในพระราชวังแห่งนี้ ไม่มีสิ่งหรูหราที่มากไปกว่า นาข้าวทดลอง บ่อปลานิล โรงเลี้ยงโคนม
เรือนเพาะชำ โรงเห็ด ฯลฯ
อันเป็นเสมือนห้องทดลองส่วนพระองค์ของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ที่ยากจะหาได้จากพระราชวังในนิทานเล่มใด
พื้นที่ส่วนพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทย
นับจากในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยเริ่มต้นที่ภาคกลาง จนกระทั่งเสด็จไปครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ในหลวงได้เห็นทุกข์สุขของพสกนิกรในจังหวัดต่างๆ และทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มีความเดือดร้อนกันมาก โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรม พระองค์จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรของไทยให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อช่วยให้พสกนิกรของพระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะศึกษา ค้นคว้า และทดลองโครงการต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อที่จะพระราชทานความรู้ที่เหมาะสมแก่พสกนิกรในแต่ละท้องที่ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาอาชีพของตนต่อไป
พ.ศ. ๒๕๐๔ ในหลวงทรงนำพระราชดำรินั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการอุทิศพื้นที่ในเขตพระราชฐาน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานของพระองค์ เป็นสถานที่ทดลองตามพระราชประสงค์ ภายใต้ชื่อ
‘โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา’ โดยจำลองความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรจากภาคต่างๆ
ทั่วประเทศ มาอยู่ในบริเวณที่ประทับ เพื่อทดลองหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ถูกต้องและตรงจุดด้วยพระองค์เอง โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากประโยชน์สุขของพสกนิกร ดังที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้
เรื่องโดยย่อเกี่ยวกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔ ปีแรกของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในหลวงเริ่มต้นจากการทำ ‘นาข้าวทดลอง’ และ ‘ป่าไม้สาธิต’ ก่อนจะมาเป็นกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ อาทิ โรงสีข้าว การเพาะเลี้ยงปลานิล เรือนเพาะชำ ห้องปฏิบัติการวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โรงโคนม และโรงนมผงสวนดุสิต ซึ่งเป็นโรงนมผงแห่งแรกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังเกิดภาวะนมสดล้นตลาด ผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไม่สามารถขายนมสดที่ผลิตได้ ในหลวงทราบความ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขนาดย่อมขึ้นภายในสวนจิตรลดา ทดลองผลิตนมผงจากนมสดที่รับซื้อจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม เพื่อแก้ปัญหานมสดล้นตลาด จะค่อยๆ หยั่งฝังลึกภายใต้ร่มเงาของพระราชวังแห่งนี้
ครั้งหนึ่งในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดขึ้น หลังพระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูโบราณราชประเพณีอีกครั้ง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียม และเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้เกษตรกร เนื่องจากพิธีนี้ระงับไม่ได้จัดมานานถึง ๒๔ ปี
ในวันนั้นในหลวงทรงมีพระราชดำรัสแก่กลุ่มชาวนาที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทว่า
“…ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง เพราะทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบาก เป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยข้าวพันธุ์ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน
“อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป…”
พระราชดำรัสข้างต้นเป็นหนึ่งในพระราชดำรัสที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล หลังจากในหลวงเสด็จไปทั่วประเทศ พบเห็นความทุกข์ยากและปัญหาของราษฎร แล้วนำปัญหานั้นมาขบคิดแก้ไข ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ความปรารถนาดีของพระองค์ท่านที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยามอย่างแท้จริง
ห้องทดลองที่สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน
ถ้าจะเปรียบพระตำหนักจิตรลดาก็เป็นเสมือน ‘ห้องทดลอง’ ของพระองค์ ที่มีเป้าหมายสำคัญคือถ่ายทอด
ความรู้ที่ทรงค้นพบแก่ประชาชน
หนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ที่จัดทำโดย สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดังนี้
๑. ศึกษา ทดลอง และวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านเกษตร เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล เป็นต้น
๒. โครงการศึกษาทดลองดังกล่าวเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ได้
๓. การดำเนินการต่างๆ ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ แต่เป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร
แม้ว่าแต่ละโครงการส่วนพระองค์ฯ และงานศึกษาที่คิดค้นจะมีหลักวิชาการขั้นสูงรองรับ แต่ก็เน้นการใช้วิธีการและเครื่องจักรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถดัดแปลงและหาได้ง่ายในประเทศ
เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้
‘เราจะแนะหรือไปสอนเขาต้องระวังให้มาก’
สิ่งหนึ่งที่ในหลวงทรงเน้นย้ำเสมอ ก่อนจะนำความรู้ใน ‘ห้องทดลอง’ ของพระองค์ไปถ่ายทอด ความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่ทรงได้พิสูจน์และรวบรวมเป็นองค์ความรู้อย่างเป็นระบบแล้ว
ทุกครั้งก่อนที่พระองค์จะพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนา พระองค์จะทรงมีรับสั่งเสมอว่า
“…การที่เราจะแนะหรือไปสอนเขาต้องระวังให้มาก เพราะหากพลาดไปแล้ว เราไม่ได้แย่นะ แต่เขาจะแย่
เช่น เราไปแนะให้เขาปลูกอะไรสักอย่าง ถ้าได้ผลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ผล เขาแย่ เพราะฉะนั้น เราต้องระวังให้มาก และที่แย่กว่านั้นคือต้นไม้ที่เราแนะให้เขาปลูก กว่าจะรู้ว่าสำเร็จหรือไม่ ใช้เวลา ๔ – ๕ ปี เพราะฉะนั้น เรื่องเกษตร ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องระวังอย่างมาก เพราะเมื่อพลาดแล้วฟื้นกลับคืนยาก ไม่เหมือนเรื่องอุตสาหกรรมหรือเรื่องอื่นๆ ที่สามารถไปกู้เงินมาดำเนินการต่อได้ เรื่องธรรมชาติฟื้นกลับมายากที่สุด”
ด้วยพระวิสัยทัศน์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ วันนี้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการเกษตรของประเทศ และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ
และจากพระราชประสงค์ที่จะให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นโครงการศึกษาทดลอง และเป็นโครงการตัวอย่าง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมกิจการ รวมทั้งฝึกปฏิบัติงาน เพื่อเรียนรู้นำไปเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป
พระราชวังพื้นที่แห่งการทรงงาน ๒๔ ชั่วโมง
(ขอบคุณรูปภาพจาก คุณ Sarawut Itsaranuwut)
“พระองค์ก็คงทรงเหนื่อยเหมือนกัน แต่ทรงไม่บ่น ทรงงาน ๓๖๕ วัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยจะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารพัดอย่าง…”
นี่คือข้อความบางส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมเกียรติ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งฉายภาพชีวิตบางฉากของในหลวงขณะที่ประทับอยู่ในพระราชวังของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี
พระราชวังที่เป็นเสมือน ‘ห้องทดลอง’ ที่สร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎร ซึ่งไม่เหมือนพระราชวังในนิทานเล่มใด
“ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์”
พระราชดำรัสที่ในหลวงทรงมีถึงบทบาทของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีและเรียบง่ายที่สุด
ว่าเพราะเหตุใดพระราชวังแห่งนี้ถึงไม่เหมือนกับพระราชวังในนิทาน