It’s SONY ย้อนไปสัก 15 ปีที่แล้ว วัยรุ่นตอนต้นทั่วเมืองไทยตื่นเต้นกันมากกับอุปกรณ์เล่นเทปพกพาหรือวอล์กแมน จนต้องเก็บหอมรอมริบเงินค่าขนมเพียงน้อยนิดเพื่อซื้อมาครอบครอง ไม่ใช่แค่เสียงที่คมชัดเท่านั้น แต่ยังฟังคนเดียวได้ ไม่หนวกหูผู้ปกครองจนต้องขึ้นห้องมาต่อว่า โตขึ้นอีกนิดซีดีเริ่มมาแทนที่ แม้ราคาของแผ่นซีดีในสมัยนั้นยังแพงอยู่ แต่ก็ว่ากันว่าจะเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงในอนาคตแทนที่เทปได้เลยนะ วิวัฒนาการของเครื่องเล่นเสียงเพลงเปลี่ยนผ่านมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันสามารถฟังได้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยแทบไม่ต้องครอบครองอะไรเลยด้วยซ้ำ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นตามอายุของผู้คน และแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาของมนุษย์ยังคงสามารถสร้างสิ่งเหนือความคาดหมายได้อยู่เสมอ
ผ่านเวลามา 70 ปีที่แบรนด์ SONY สร้างวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีให้ชาวโลกได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ และในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาคาร SONY Building ใจกลางย่านกินซ่า ย่านการค้าสำคัญของโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะรีโนเวตให้กลายเป็น SONY Park พื้นที่สีเขียวเพื่อสาธารณะท่ามกลางแยกที่แสนวุ่นวาย ก่อนจะอำลาอาคารหลังเก่าที่เป็นตำนานแห่งนี้ โซนี่จึงขอพาชาวโลกย้อนเวลากลับไปตั้งแต่จุดกำเนิดของโซนี่ จนถึงนวัตกรรมแห่งอนาคตที่อยู่ใกล้มือเรามากกว่าที่คิด ผ่าน นิทรรศการ It’s SONY ซึ่งแบ่งการแสดงออกเป็นสองพาร์ท
วันนี้เราพามาเที่ยวชมในพาร์ทแรกกันก่อน ซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นการรวบรวมข้าวของ”ทุกชิ้น” ของโซนี่ ในทุกหมวดหมู่อุตสาหกรรม เชื่อเลยว่าต้องมีสักชิ้นแน่ๆ ที่เคยผ่านตาคุณมาก่อน ส่วนนิทรรศการพาร์ทที่สอง จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม ในหัวเรื่องอนาคตของพื้นที่แห่งนี้ ก่อนที่จะปิดปรับปรุงยาว
มองแค่ตัวอาคารภายนอกอาจจะยังไม่ตื่นเต้นนัก แต่เมื่อเข้ามาเยี่ยมชมภายใน ก็ต้องชื่นชมกับความชาญฉลาดของสถาปนิกชาวญี่ปุ่น คุณ Yoshinobu Ashihara ที่ออกแบบภายในอาคารแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1966 ภายใต้คอนเซ็ปต์ กลีบดอกไม้ ซึ่งเหลื่อมซ้อนกันไปเรื่อยๆ ด้วยสเปซภายในที่ลื่นไหลขึ้นไปได้เรื่อยๆ ถึงชั้นบน จึงเหมาะกับการเป็นโชว์รูม รวมทั้งพื้นที่จัดนิทรรศการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทรรศการที่เล่าเรื่องด้วย timeline อย่างครั้งนี้ด้วย
ส่วนนิทรรศการแบ่งออกเป็น POPEYE presents “My Favorite Sony” โปรเจ็กต์สนุกร่วมกับทีมงานนิตยสาร POPEYE ที่แบ่งกันมาอวดดีไวซ์ชิ้นโปรดจากโซนี่ ถัดขึ้นไปชั้น 2 จึงเป็นประวัติศาสตร์ของโซนี่ ไล่เรียงตั้งแต่มีตติ้งของผู้ก่อตั้ง และอุปกรณ์ชิ้นแรกที่เป็นเครื่องอัดเสียง นับว่าโซนี่ก่อกำเนิดมาจากการเล่นกับเสียงก็ไม่ผิดเลย จนก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของวอล์กแมน จากวิทยุอุปกรณ์เทอะทะที่วางอยู่กับที่ กลายเป็นเครื่องเล่นเพลงที่พกพาไปที่ไหนก็ได้ ตัวเครื่องเล่นพัฒนาไปตามฟอร์แมตของการเล่นเพลง ตั้งแต่เทป ซีดี เอ็มดี จนถึงไฟล์เพลงแบบ mp3 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ไม่ใช่แค่ข้าวของที่นำมาวางอวดโฉมเท่านั้น แต่ทุกเครื่องยังเล่าเรื่องและที่มาอย่างละเอียดถึงจุดเด่นที่ก่อให้เกิดการพัฒนาจนกลายเป็นรุ่นต่อไป นอกจากเราจะเห็นผู้ชมงานตื่นตาตื่นใจกับเครื่องเล่นยุคโบราณที่เคยเห็นแต่ในหนังวินเทจแล้ว ยังสนุกสนานกับการหาอุปกรณ์ชิ้นที่ตัวเองเคยครอบครองไปด้วย
หลังจากยุคดนตรีที่ทำให้โซนี่บูมสุดๆ เราก็ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีการสื่อสาร ด้วยคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่รุ่นปุ่มกดกระติกน้ำไปจนถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด ไล่ลำดับตามวันที่เกิด อีกสิ่งเชิดหน้าชูตาของโซนี่ นั่นคืออุปกรณ์เพื่อความบันเทิง ทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์, Personal LCD Monitor แบบสวมศีรษะ ไปจนถึงเครื่องเกมส์เพลย์สเตชั่น ที่มีให้นั่งเล่นย้อนอดีตกันตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นล่าสุด
ชั้นที่ 5 ว่าด้วยพื้นที่แห่งอนาคตหรือ SONY PARK เล่าเรื่องแรงบันดาลใจ และโมเดลแสดงให้เห็นสเปซ ซึ่งจะเปิดให้ผู้คนใช้งานจริงได้ในปี 2018 พร้อมเปิดกำแพงให้ผู้เข้าชมงานเขียนถึงความคาดหวังที่อยากให้เป็นหลังสเปซแห่งนี้เปิดให้ใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับโปรเจ็กต์นี้ต่อไป
ปิดท้ายชั้นที่ 6 ด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคตของ smart home แบบญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ Life Space UX x Fumihiko Sano การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านโดยสถาปนิกชื่อดัง Fumihiko Sano บ้านแบบญี่ปุ่น ภายใต้เทคโนโลยีที่นำมารองรับ เพื่อให้ปรัชญาความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมยังคงอยู่ อย่างเรื่องความเชื่อในธรรมชาติ เข้ากับโครงสร้างของกริดไม้อันเป็นซิกเนเจอร์ของเขา รวมทั้งแก็ตเจ็ทเล็กๆ น้อยๆ อย่างเครื่องโปรเจ็กเตอร์หัดเขียนตัวอักษรแบบคันจิ เพียงมีพู่กันกับน้ำเปล่า ก็หัดเขียนได้แบบไม่ต้องเปลืองหมึก
สาเหตุที่ทำให้ผู้คนอินกับนิทรรศการเหล่านี้ นั่นก็เพราะอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราอาจเห็นชินตามาแต่เด็ก อาจเป็นเรื่องเล็กจนถูกละเลย แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นไป ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารมาจากอุปกรณ์เหล่านี้ หล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และช่วยค้นหาความเป็นตัวเราที่ซ่อนอยู่ข้างในลึกๆ ผ่านการเปิดโลกทัศน์จากอุปกรณ์เชื่อมโลกเหล่านี้ แม้นวัตกรรมจะก้าวไกลจนตัวเครื่องบางลง หรือกลไกง่ายดายขึ้น แต่รากเหง้าและก้าวย่างที่ดำเนินมาจนกลายเป็นวันนี้ ก็เป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่คาดไม่ถึงรอคอยที่จะถือกำเนิดต่อไปในอนาคต
ไปตามรอยได้ที่ SONY Building พิกัด : 35.6721656,139.7609281
เวลาทำการ : เปิดเวลา 11.00 น.-19.00 น.
เรื่อง ภาพ skiixy