HERN’S STUDIO - A HANDMADE HOME บ้านทำมือของต่อลาภ ลาภเจริญสุข - room

HERN’S STUDIO – A HANDMADE HOME บ้านทำมือของต่อลาภ ลาภเจริญสุข

บ้านทำมือของต่อลาภ ลาภเจริญสุข (เหิร) หลังนี้อยู่ไกลออกไปจากรัศมีความวุ่นวายและแสงสีของนิมมาน-เหมินท์ซิตี้ คุณเหิร ศิลปินหนุ่มอยุธยาผู้ก่อตั้งอาร์ตสเปซดังเมืองเชียงใหม่ Gallery Seescape ผู้ให้กำเนิดเจ้า Bestto Boy มนุษย์สวิตซ์ไฟและนักประดิษฐ์ยานอาม่าจากแจกันลายครามที่หลายคนคุ้นตา

บ้านทำมือของต่อลาภ ลาภเจริญสุข ได้ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างบ้านหลังใหม่ขนาดกะทัดรัดแสนอบอุ่นซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเก่าแค่ไม่กี่ก้าว โดยเขาเปรียบบ้านหลังนี้เป็นเหมือนผลลัพธ์ที่เกิดจากการผสมผสานชีวิตเข้ากับการทำงานศิลปะด้วยสองมือแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ชัดเจนในทุกรายละเอียด

บ้านทำมือของต่อลาภ ลาภเจริญสุข

จากเดิมที่เป็นโกดังเก็บวัสดุและอุปกรณ์ทำงานศิลปะขนาด 4 x 8 เมตร คุณเหิรกับทีมช่างคู่ใจอีก 2 – 3 คนรื้อโครงสร้างเดิมออก แล้วต่อเติมให้กลายเป็นโฮมสตูดิโอขนาด 3 ชั้นที่สะกิดความทรงจำเราตั้งแต่แรกเห็นด้วยเส้นสายง่าย ๆ และหลังคาทรงจั่ว ชวนให้นึกถึงภาพวาดบ้านหลังน้อยของเด็กวัยกำลังฝัน โดยตัวบ้านได้รับการออกแบบให้หันหน้าเข้าทักทายบ้านหลังเก่าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก แล้วเชื่อมด้วยทางเดินปูนลอยฟ้าเล็ก ๆ

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-9
พื้นที่ส่วนตัวชั้น 2 ออกแบบคล้ายชั้นลอยเพื่อให้เกิดพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซดูสูงโปร่ง ช่วยลดความร้อนที่ส่องเข้ามาโดยตรงผ่านกระจกหน้าบ้านทั้งยังทำทางเดินไม้เชื่อมไปสู่ระเบียงด้านหน้าได้ด้วย

กระบวนการออกแบบเริ่มต้นจากความพยายามต่อยอดจากวัสดุเก่าที่เขาชอบสะสมมาสร้างสรรค์ใหม่ในฟังก์ชันและรูปฟอร์มที่ต่างออกไป ด้วยความเชื่อว่าวัสดุที่ผ่านกาลเวลาเหล่านั้นสามารถมอบความทรงจำและเรื่องราวให้ผู้คนได้ไม่รู้จบ

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-3
ส่วนรับประทานอาหารจัดวางโต๊ะทำมือท็อปประตูไม้เก่ารัดขอบด้วยทองแดงช่วยเพิ่มความเท่ และเชื่อมด้วยขาเหล็กขึ้นสนิม เข้าคู่กับเก้าอี้เหล็กพับที่เราคุ้นตา บนโต๊ะจัดวางยานอาม่าไซส์กะทัดรัด ซึ่งประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนแจกันลายครามที่เขาออกตามหาจากร้านสังฆภัณฑ์ ลิงค์กับซีรี่ส์ภาพแบบร่างยานอาม่ารุ่นต่าง ๆ ที่ประดับอยู่บนผนัง

“ภาพแรกในหัวเลยคือ อยากทำสตูดิโอที่มีสะพานข้ามระหว่างอาคารที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินอยู่บนต้นไม้ใหญ่มองขึ้นไปเห็นท้องฟ้า ดังนั้นตัวอาคารจึงต้องมีความสูงรับกับสะพาน แต่หัวใจสำคัญในการก่อสร้างบ้านหลังนี้จริง ๆ คือ มันถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุเก่าที่รวบรวมไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไม้สักเก่า เหล็กเก่า แล้วค่อย ๆ นำมาคิดต่อว่าจะเอามาทำเป็นอะไรได้บ้าง กว่า 30 % ของบ้านนี้จึงเป็นการนำวัสดุเก่ากลับมาดีไซน์ใหม่ อย่างโต๊ะกินข้าวเราก็ใช้ประตูไม้สักเก่ามาทำขอบให้มน ล้อมกรอบด้วยทองแดงแล้วมิกซ์เข้ากับขาเหล็กเก่าขึ้นสนิม”

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-27
ตัวอาคารหันหน้าทักทายบ้านเก่าโดยมีสะพานลอยฟ้าเชื่อม มีมุมนั่งเล่นดูวิวพระอาทิตย์ตกริมระเบียง

ความตั้งใจแรกคืออยากให้บ้านหลังนี้เป็นทั้งพื้นที่โชว์งานและทำงานศิลปะ จึงออกแบบตัวอาคารให้เปิดรับแสงธรรมชาติมากที่สุด ด้วยการติดตั้งบานกรอบเหล็กเป็นช่องสี่เหลี่ยมแล้วกรุกระจกใสเต็มผนังทั้งผืน และออกแบบพื้นที่ภายในอาคารเป็นโถงสูงแบบดับเบิ้ลสเปซเชื่อมต่อมุมมองทางสายตาทำให้ทุกคนสามารถชมงานศิลปะได้จากทุกมุม

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-5
ในวันที่มีแขกมาเยี่ยม มุมครัวของบ้านหลังใหม่จะเต็มไปด้วยกลิ่นหอมของขนมนมเนยที่แฟนสาวของคุณเหิร คุณแครี่ -ธารวิมล ขันสุธรรม กัปตันยานSS1254372 Cafe ย่านนิมมาน-เหมินท์ลงมือทำอย่างตั้งใจ
ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-6
แก้ปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัดด้วยส่วนครัวดีไซน์โค้งเว้า โดยติดตั้งเคาน์เตอร์ปูนขอบเหล็กขึ้นสนิมไว้กับผนังโค้งของห้องน้ำ ช่วยให้เกิดเส้นสายละมุนตา แถมความโค้งของเส้นสายยังช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากด้านล่างเป็นตู้บิลท์อินไม้สักเก่าใช้วางอุปกรณ์ทำครัวต่าง ๆ ให้ดูมีระเบียบเป็นสัดส่วน

พื้นที่ภายในแบ่งเป็นส่วนแสดงงานสตูดิโอเพ้นต์ภาพ ส่วนรับประทานอาหาร ครัว และส่วนรับแขกที่ชั้นล่าง ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่นั่งเล่นและพื้นที่ทำงานเอกสารเรื่อยไปจนถึงชั้น 3 ที่เป็นส่วนของห้องนอนใต้หลังคามีช่องแสงกลม ๆ ชวนให้เราหลับใต้แสงดาวและตื่นใต้แสงตะวัน

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-11
พื้นไม้ชั้น 2 ทำจากไม้เก่าหลากหลายแหล่งจึงมีขนาดคละกันไปมา คุณเหิรเลือกขัดผิวให้เรียบร้อยแต่ไม่เคลือบ เพราะอยากเผยผิวสัมผัสธรรมชาติและเนื้อแท้ของวัสดุให้มากที่สุด
ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-4
มุมรับแขกใช้สีสันที่ชวนระลึกถึงวันวาน เล่นสนุกกับสีเหลืองสดใสของโซฟาเรโทรแบบที่ศิลปินหนุ่มชอบ และสีน้ำเงินสดสุดซิ่งของเก้าอี้นั่งเล่นที่ออกแบบพิเศษให้มีล้อเลื่อนจิ๋วในตัว ฉากหลังเป็นงานศิลปะ Air Border หรือแผนที่อากาศ ผลงานที่คุณเหิรนำออกไปวางตากแดดตากฝนเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้ธรรมชาติเป็นผู้รังสรรค์ลวดลายและความงามให้ปรากฏบนชิ้นงาน
ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-12
ห้องนอนใต้หลังคา เหมือนหลุดมาจากความฝันในวัยเด็กของใครหลายคน ผนังบริเวณหัวเตียงทางทิศตะวันออกดีไซน์ให้เป็นหน้าต่างกระจกใสเพื่อให้ตื่นมาพร้อมแสงตะวันและรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ใต้เพดานจั่วดีไซน์ช่องแสงกลม ๆ ไว้นอนดูดาวก่อนนอน

“ใจผมชอบกระจกบานใหญ่นะ แต่ทำไม่ได้(หัวเราะ) เพราะงานส่วนใหญ่ในบ้านเป็นแฮนด์เมดหมดเลยจำเป็นต้องแบ่งซอยกระจกออกเป็นช่อง ๆ ช่วยให้เราติดตั้งกระจกได้เอง”

เพราะเป็นบ้านทำมือ เจ้าของบ้านจึงสามารถออกแบบองค์ประกอบและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านให้มีฟังก์ชันพิเศษเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัดของบ้านได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะการออกแบบบันไดให้เป็นมากกว่าบันได

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-2
ยิ่งรับแสงธรรมชาติมากเท่าไร ความร้อนระหว่างวันก็เพิ่มขึ้นตามมา ภายในอาคารจึงออกแบบให้เป็นโถงดับเบิ้ลสเปซสูงประมาณ 7 เมตรเพื่อช่วยเรื่องการระบายความร้อน ทั้งยังเชื่อมต่อมุมมองทางสายตาให้ทุกคนสามารถชมงานศิลปะได้จากทุกมุม มีสเปซโล่ง ๆ ตรงกลางบ้านไว้สำหรับทำงานศิลปะ

“บันไดคือส่วนโชว์ของบ้านเลยก็ว่าได้ ผมสนใจงานออกแบบบันไดมาก เพราะมันสัมพันธ์กับความสูงบ้านสัมพันธ์กับพื้นที่ที่เสียไปในอาคาร จึงอยากได้ดีไซน์ให้ใช้งานได้สบายโดยกินพื้นที่แคบสุด และทำหน้าที่เสมือนเป็นประติมากรรมกลางบ้านในเวลาเดียวกัน” เขาเล่าถึงไอเดียการทำให้ “บันได” กลายเป็นหัวใจของบ้านที่เชื่อมโยงพื้นที่การใช้งานและสร้างบรรยากาศความเป็นศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-16
ควบรวมฟังก์ชันโต๊ะทำงานกับบันไดทางเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเดินสะดวกลุกนั่งสบาย แถมยังประหยัดพื้นที่ได้แบบน่ารัก โดยคุณเหิรออกแบบโต๊ะให้สูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ฝากท็อปโต๊ะไว้กับผนัง แล้วติดตั้งแม่บันไดเป็น 2 ตอน ตอนแรก 3 สเต็ป ตอนสอง 5 สเต็ป ความยาวลูกนอน 35 เซนติเมตร เดินสะดวกกว่าทำบันไดลิงเป็นไหน ๆ

แม้ว่างานทำมือจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้บ้าน ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความท้าทายที่น่าสนุก

“ความยากคือเรื่องของการจัดการกับวัสดุ พอเราใช้วัสดุที่เป็นของเหลือใช้จริง ๆ อย่างเหล็กทำบันได เราอยากได้สัก 10 อัน แต่ความจริงเราอาจหามาได้แค่ 4 อัน เราต้องรู้จักปรับใช้หรือหาอะไรมาผสมผสานต้องคิดกันตลอดกระบวนการ ข้อเสียของการทำงานลักษณะนี้คือเราไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์แบบเต็มร้อยมันจะขาด เกิน หน่อย แต่ถ้ามองในแง่ดีเหมือนเราได้อยู่อาศัยในงานศิลปะของตัวเอง เพราะเราตีค่าการผสมผสานวัสดุเป็นเหมือนการประกอบงานประติมากรรมชิ้นหนึ่ง ทุก มุมในบ้านสามารถตกแต่งตัวมันเองมีร่องรอย มีสีสัน ซึ่งผมว่าความเป็นจริงชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้เป๊ะเหมือนใน 3D หรอกศิลปินหนุ่มบอกเราด้วยรอยยิ้ม

ERM_168_p072-084_RM-TO-RM-01-8
/ซ้าย/ ผนังห้องน้ำดีไซน์สนุกสดใสสไตล์ต่อลาภ ตกแต่งด้วยงานกระเบื้องคละลายตัดครึ่งตามแนวทแยงที่จัดเรียงใหม่ไม่ให้ซ้ำซากจำเจ เสริมด้วยกระจกทรงเรขาคณิตและอ่างน้ำทรงกลมให้ตรงคอนเซ็ปต์ /ขวา/ เมื่อตำแหน่งห้องน้ำอยู่พอดีกับตำแหน่งของต้นไม้ใหญ่ เจ้าของบ้านจึงเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้แล้วเปิดช่องแสงด้านบนเพื่อรับแสงธรรมชาติ พร้อมจัดสรรพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นส่วนชาวเวอร์รดน้ำต้นไม้ได้ในตัว ผนังห้องน้ำดีไซน์สนุกสดใสสไตล์ต่อลาภ ตกแต่งด้วยงานกระเบื้องคละลายตัดครึ่งตามแนวทแยงที่จัดเรียงใหม่ไม่ให้ซ้ำซากจำเจ เสริมด้วยกระจกทรงเรขาคณิตและอ่างน้ำทรงกลมให้ตรงคอนเซ็ปต์

เจ้าของ – ตกแต่ง คุณเหิร – ต่อลาภ ลาภเจริญสุข
เรื่อง polarpoid ภาพ สิทธิศักดิ์
สไตล์ ประไพวดี ภาพประกอบ คณาธิป
เรียบเรียง Parichat K.