ในแวดวงเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่ทำจากไม้ เชื่อว่าชื่อของ คุณตั้ม – ศุภพงศ์ สอนสังข์ น่าจะเป็นหนึ่งใน นักออกแบบ ชั้นนำของไทย เขาเริ่มทำงานออกแบบตั้งแต่ปี 2542 เคยทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราให้แบรนด์ Hygge สร้างแบรนด์โคมไฟให้ Tazana เคยได้ตำแหน่ง Designer of the Year ปี 2004 และ 2005 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงได้รับรางวัล Demark จากกรมส่งเสริมการส่งออก และยังเป็นนักออกแบบคนแรกๆที่เดินทางไปบุกเบิกปักธงไทยบนเวทีออกแบบระดับโลก ทั้งที่ปารีส มิลาน ลอนดอน นิวยอร์ก แฟรงก์เฟิร์ต และบรัสเซลส์ ปัจจุบันอยู่ในทีมนักออกแบบที่มาสวมหมวกธุรกิจของตัวเองภายใต้แบรนด์ Hat
กระทั่งวันหนึ่งที่คุณตั้มตัดสินใจหยุดการเดินสายในต่างประเทศลง และผันชีวิตมาสู่แนวทางธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะเหนื่อยหรือท้อ ทว่าเขากำลังบ่มเพาะผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของตัวเอง เพียงแต่ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เก้าอี้ โคมไฟ หรือโต๊ะดีไซน์ใหม่ หากคือไม้ยืนต้นขนาดสูงใหญ่ซึ่งเขาปลูกเองทั้งหมดจากต้นกล้าเล็กๆ ราคาต้นละ 1 บาท ผสมกับที่เพาะเมล็ดขึ้นเอง ผ่านมาร่วมสิบปี ตอนนี้คุณตั้มมีต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้บนที่ดินทั้งหมดเป็นร้อยชนิดราวสามหมื่นกว่าต้น นั่นก็เพื่อสร้างแหล่งทรัพยากรไม้ที่สำคัญสำหรับงานออกแบบอย่างยั่งยืนในอนาคต
“หลายคนถามผมว่าทำไมถึงบ้าปลูกต้นไม้ ผมว่านี่คือสมบัติของคนจนนะ เป็นป่าที่เราสร้างเอง เมล็ดที่นำมาปลูกก็เหมือนทองคำที่เราฝังลงดินเพื่อรอเวลาโต มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อเวลาเหล่านี้ไม่ได้” ศุภพงศ์ สอนสังข์
เป็น ” นักออกแบบ ” อย่างยั่งยืน
“ย้อนไปสักปี 2551 ที่ผมไปงานแฟร์เมืองนอก ไปทำงานกับต่างชาติ แต่แล้วก็เกิดความกลัวขึ้นมาว่าอาชีพนักออกแบบของเราจะไม่ยั่งยืน เพราะแนวทางแบบนั้นเหมือนตีตั๋วทางลัดเพื่อไปสร้างชื่อ ถ้ายังทำแบบนั้นต่อไป สักวันก็จะมีนักออกแบบรุ่นใหม่เก่งๆ ขึ้นมาแทนอีก แล้วทำไมเขายังต้องเลือกเราซึ่งเป็น นักออกแบบเอเชียธรรมดาๆ คนหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนาโอโตะ ฟุคาซาวา ผมจะไม่สงสัยเลย เพราะเขาเก่งมากจนฝรั่งต้องเลือก ผมเลยเริ่มนึกถึงคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กลับมาทำให้ตัวเองยืนได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครก่อน แล้วที่เหลือจะตามมาเอง
“ดังนั้นแทนที่จะข้ามทางลัดไป ผมกลับมาเลือกโมเดลที่จะเป็น ‘Maker’ ด้วยการย้อนไปที่ต้นทางนั่นก็คือทรัพยากรไม้ เพราะถ้าเราปลูกป่าได้เอง เราก็มีทรัพยากรไม้ไว้เพื่อออกแบบสร้างเฟอร์นิเจอร์เอง พร้อมไปกับมีสวนที่พึ่งพาอาศัยได้ เวลาสร้างงานออกมาแล้วไม่มีใครซื้อ เราก็นำเฟอร์นิเจอร์พวกนั้นไปวางรับแขกในสวนแทน สำคัญคือเราต้องมีอยู่มีกินเองบนพื้นที่ของเรา คนอาจงงว่าเศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวข้องกับอาชีพนักออกแบบด้วยหรือ ผมว่าเกี่ยวกับทุกอาชีพแหละ เพราะถ้าเราดูแลปากท้องตัวเองได้ เราก็เลือกรับงานหรือเลือกที่จะผลิตงานได้โดยที่เหนื่อยน้อยลง”
สวนป่าปลูกเอง
“ผมใช้นาหญ้าขนาด 4 ไร่สำหรับเลี้ยงวัวที่ราชบุรีเป็นจุดเริ่มต้น หลักการผมคือขุดบ่อเพื่อถมดินให้เป็นที่ดอน แล้วค่อยปลูกต้นไม้ โดยเริ่มจากต้นสักที่ซื้อจากพิษณุโลก บางส่วนก็เพาะเองอย่างพะยูง ผสมด้วยมะฮอกกานี ช่วงแรกก็ปลูกปนกันมั่วๆ เพื่อดูความเป็นไปได้ในการปลูกต้นไม้ของตัวเองก่อน พอทำได้รอด ก็ปลูกต่อไปเรื่อยๆ ต้นไหนตายก็ปลูกใหม่อีก หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเยอะมาก เจอเมล็ดพันธุ์ที่ไหนก็ไปเอามาเพาะปลูกลงดินตลอด ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะปลูกพืชพันธุ์เขตร้อนให้ได้มากที่สุด
“ตอนแรกผมปลูกแต่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทั้งสัก พะยูง ประดู่ ยางนา มะค่าแต้ มะค่าโมง เก็ดแดง ชิงชัน กันเกรา กระพี้เขาควาย เคี้ยม และตะเคียนทอง แต่พอไปอบรมกับ อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ถึงรู้ว่าต้องปลูกไม้กินได้เพิ่ม ตั้งแต่มะนาว กะเพรา มะกรูด ฯลฯ เพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ สร้างประโยชน์ได้ทั้งจากไม้ผล ไม้ใช้งาน และไม้เศรษฐกิจที่ให้ร่มเงา โดยอาศัยปุ๋ยที่ได้จากขี้เลื่อยผสมมูลวัว และระหว่างที่รอให้ต้นไม้โต ผมก็ทำสตูดิโอเล็กๆกลางป่า เพื่อสร้างงานไปขาย พร้อมกับไปเรียนงานไม้เพิ่มทักษะให้ตัวเอง จนตอนนี้เรียกว่าครบวงจรแล้ว”
จากสวนป่าสู่งานไม้
“หลายคนถามผมว่าทำไมถึงบ้าปลูกต้นไม้ ผมว่านี่คือสมบัติของคนจนนะ เป็นป่าที่เราสร้างเอง เมล็ดที่นำมาปลูกก็เหมือนทองคำที่เราฝังลงดินเพื่อรอเวลาโต มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อเวลาเหล่านี้ไม่ได้ ผมทำเฟอร์นิเจอร์มาตลอดรู้เลยว่าแต่ละชิ้นงานต้องจ่ายค่าไม้ไปเท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้นไม้ที่มาผนวกเข้ากับงานฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าต่อยอดให้ไปได้อีกไกล และหลักการของป่าสมัยโบราณคือจะเลือกตัดเฉพาะไม้ที่สวย เมื่อตัดออกก็เปิดช่องแสงให้ไม้อื่นได้โตต่อไป พร้อมกับปลูกใหม่ทดแทน อย่างสตูดิโอเล็กๆ ของผมถ้าตัดต้นไม้ต้นหนึ่งก็แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้สัก 5 ชิ้นแล้ว
“สำหรับอนาคตลูกผมก็สามารถหากินจากแบบหรือค่าลิขสิทธิ์ของผมได้ หรือจะตัดไม้ไปแปรรูปขายก็ได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจนี้อยู่ยาวแน่ๆ เพราะรับประกันได้จากทรัพยากรที่เราปลูกขึ้นเอง ตอนนี้ผมยังฝึกอาชีพให้คนในชุมชนที่สนใจมาทำงานไม้ด้วยกัน สอนให้ตั้งแต่ไม่เป็นอะไรเลยจนกลายเป็นช่างฝีมือ มาถึงวันนี้ผมเชื่อเลยว่าวิถีเกษตรเป็นวิถีพื้นฐานของไทย และเป็นวิถีหลังบ้านของทุกอาชีพด้วย แค่ปลูกต้นไม้ก็สอนอะไรเราได้เยอะแล้ว เพราะบางต้นที่เราพยายามจัดการดูแลมากไปก็ตาย แต่บางต้นไม่ค่อยเหลียวแลกลับโตงาม และเหนืออื่นใดคือผมได้ชีวิตที่สมดุลและยั่งยืนจากสวนป่ากับงานออกแบบที่ผมรักครับ”
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข