รีโนเวตตึกแถวเก่า 5 ชั้น 2 คูหา ยุค 80 ย่านสุขุมวิทที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 600 ตารางเมตร ให้เป็นอาคารที่แอบซ่อนเสน่ห์ของงานดีไซน์ไว้ภายใน
ฉีกภาพเดิมที่คนในชุมชนเคยเห็นและเป็นมา เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของ คุณมาลินา ปาลเสถียร สถาปนิกหญิงเก่งแห่ง บริษัทดีไซน์กว่า โดยเธอตั้งใจมองหาสถานที่เหมาะเจาะใกล้รถไฟฟ้าในงบประมาณสมเหตุสมผล และมีสเปซมากพอที่จะเป็นออฟฟิศของเธอและทีมดีไซเนอร์ทั้ง 8 ชีวิตไปจนถึงการแบ่งพื้นที่ไว้ทำ Airbnb 2 ห้อง 2 สไตล์ ให้เหล่าเพื่อนใหม่ต่างทวีปได้มาพักผ่อนด้วยกัน
“ถ้าถามว่าทำไมเราไม่สนใจซื้อหรือเช่าสำนักงาน ก็เพราะว่าอยากทำให้เป็นโปรเจ็กต์ของตัวเองไปเลย และเราก็มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ดีกว่านำเงิน 6 – 8 ล้านก้อนนี้ไปซื้อห้องบนตึกสูง เพราะเราอาจไม่ได้สเปซที่เพียงพอสำหรับทีมงาน แต่สำหรับที่นี่เรามีสเปซของเรามากพอที่จะสร้างสรรค์และทำเป็นอะไรก็ได้ ในวงเล็บว่าไม่รบกวนเพื่อนบ้านภายใต้ความท้าทายของการ Adaptive Reuse ตึกรุ่นเก่า”
คุณมาลินาเล่าว่า ตึก 2 คูหานี้มีลักษณะที่ต่างกันเล็กน้อย ตรงที่คูหาแรกมีสเปซค่อนข้างโปร่งโล่งกว่าคูหาที่สองเนื่องจากไม่มีการต่อเติมพื้นที่ หรือก่อผนังเพื่อแบ่งฟังก์ชันแยกย่อยมากนัก โดยบริเวณชั้น 1 และ 2 ยังคงความเป็นดับเบิ้ลสเปซไว้ และจัดสรรให้เป็นส่วนของร้านขายของชำส่วนชั้นที่เหลือใช้เป็นส่วนที่พักอาศัยของครอบครัว
แต่อีกคูหาหนึ่งนั้นน่าจะผ่านมือผู้เช่ามาแล้วหลายคนพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซอย่างคูหาแรกจึงหายไปเพราะเกิดจากการต่อเติมพื้นที่ไปมา แทบทุกชั้นจะมีการก่อผนังเพื่อแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยจำนวนมาก ทำให้ตัวอาคารค่อนข้างมืดและทึบตัน เธอจึงเริ่มท้าทายข้อจำกัดของตึกนี้ด้วยการสร้างความเป็นไปได้ที่ไม่น่าเป็นไปได้ทีละส่วน
ความเป็นไปได้ที่ 1 : คงความเรโทรไว้ แล้วเปลี่ยนพื้นที่ภายในสุดอับทึบให้กลายเป็นออฟฟิศสถาปนิกสุดโล่งกว้าง
เพราะต้องการเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังเป็นกันเองกับเพื่อนบ้านคุณมาลินาจึงเก็บสไตล์เรโทรของเปลือกอาคารหรือฟาซาดยุค 80 ไว้ทุกกระเบียดนิ้ว แล้วเลือกใส่ความเป็นตัวเองลงไปภายในแทน โดยเริ่มจากทลายผนังกั้นระหว่างตึกทั้งสองออกแล้วรื้อพื้นชั้น 2 ของคูหาที่มีการต่อเติมจนเป็นดับเบิ้ลสเปซที่ต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกันกับคูหาแรก รวมถึงรื้อแนวบันไดเดิมทิ้งทั้งหมด ช่วยให้เกิดสเปซที่โล่งกว้างเหมาะกับการนั่งประชุมหรือรับประทานมื้อเที่ยงพร้อมหน้ากัน
การทุบผนังกั้นระหว่างอาคารนี้ทำให้เหลือร่องรอยของเสาและคานขนาดใหญ่กลางพื้นที่ คุณมาลินาจึงออกแบบFlying Table หรือโต๊ะทำงานไร้ขา ยาว 8.30 เมตร ใหญ่ยักษ์สะใจทีมดีไซเนอร์ที่ทำงานตรงมุมนี้ โดยยึดตัวโต๊ะเข้ากับเสา แล้วซ่อนโครงสร้างไว้ข้างใต้ โต๊ะจึงดูโปร่งเบาคล้ายลอยอยู่กลางห้องแบบเนียน ๆ
ความเป็นไปได้ที่ 2 : บอกลาความมืดทึบชวนอึดอัดด้วยการต้อนรับเพื่อนรักที่ชื่อว่าแสงอาทิตย์!
เริ่มจากการเจาะช่องแสงกรุหน้าต่างกระจกใสเป็นแนวยาวตลอดผนังบริเวณชั้น 1 ฝั่งที่ไม่ได้ใช้งานร่วมกับเพื่อนบ้านส่วนด้านหลังก็เว้นพื้นที่ให้เปิดโล่งเพื่อทำเป็นคอร์ตเอ๊าต์ดอร์ต้อนรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาในตัวอาคาร โดยล้อมคอร์ตนี้ด้วยหน้าต่างกรุกระจกใสตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้นลอย ก่อนเพิ่มเสน่ห์ให้ส่วนนี้ด้วยการต่อเติมอิฐช่องลมลายปีกนกสูงจรดดาดฟ้า เกิดแพตเทิร์นสวยสะกดสายตาซึ่งมีที่มาจากวัสดุสุดสามัญ หาได้ง่ายในบ้านเรา นอกจากจะช่วยดึงแสงสว่างเข้ามาได้แล้ว ยังช่วยระบายความร้อน เพราะเมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นไป อากาศเย็นสบายจะเข้ามาแทนที่หมุนเวียนถ่ายเททั่วทั้งอาคาร