อาคารเรียนโครงสร้างเหล็ก รองรับแผ่นดินไหว – EARTHQUAKE RESISTANT SCHOOL BUILDINGS
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้การออกแบบโครงสร้างอาคารเพื่อให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
เห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จากความเสียหายที่เกิดขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริพระราชทานอาคารเรียนหลังใหม่เพื่อทดแทนอาคารเรียนที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และรับสั่งให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยออกแบบอาคารเรียนพระราชทานทั้ง 4 หลังให้เป็นอาคารที่สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ โรงเรียนพานพิทยาคม (โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น) โรงเรียนโป่งแพร่พิทยา (โครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น) โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) (โครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น) และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม (โครงสร้างคอนกรีต 3 ชั้น)
โดยทาง บริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนในประเทศไทย ได้แก่ เหล็กเอชบีม (H-Beam) เหล็กไอบีม (I-Beam) เหล็กรางน้ำ (Channel) เหล็กฉาก(Angle) เหล็กคัทบีม (Cut-Beam) และเหล็กชีทไพล์ (Steel Sheet Pile) ได้ประสานงานผ่านวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ขอน้อมเกล้าฯถวายเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนของบริษัทเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียนโครงสร้างเหล็กในครั้งนี้
ส่วนในด้านการออกแบบนั้นได้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ประธานอนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และนักวิจัยในโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะทำงานมาออกแบบโรงเรียนใหม่ด้วยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น เพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว โดยอาคารเรียนสูง 2 ชั้นใช้ระบบรับแรงสั่นสะเทือนเป็นโครงแกงแนงเยื้องศูนย์ (Eccentric Braced Frame) ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างที่ใช้เหล็ก Wide Flange (ไวด์แฟลงก์)เชื่อมกับเสาและคานในลักษณะสามเหลี่ยมแบบเยื้องศูนย์ (ปลายเสาค้ำเหล็กไวด์แฟลงก์ไม่บรรจบกันที่จุดกึ่งกลางคาน)
อาคารเรียนนี้จึงสามารถใช้เป็นดีไซน์แม่แบบสำหรับโรงเรียนหรืออาคารทั่วไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในระยะยาว อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของงานออกแบบที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติได้อย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูล
บริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด
ชั้น 7 อาคารสำนักงานใหญ่ 2 เลขที่ 1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
โทร. 0-2586-7777 แฟกซ์ 0-2586-2687
E-Mail : [email protected], www.syssteel.com
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
www.eit.or.th โทร. 0-2319-2410-3 แฟกซ์ 0-2319-2710 – 1
เรื่อง Ektida N.
ภาพ เอกสารประชาสัมพันธ์
เรียบเรียง Parichat K.